เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหมาดๆนี่เอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เรียกย่อๆ ว่า “อว.” ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวที่ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งข่าวหนึ่ง และขออนุญาตนำมาขยายความต่อเพื่อเป็นกำลังใจแก่ท่านและข้าราชการในกระทรวง อว.ของท่านในวันนี้
ได้แก่ ข่าวว่าด้วยการเปิดตัวนโยบาย “อว. for AI” หรือ อว.เพื่อ “ปัญญาประดิษฐ์” เทคโนโลยีใหม่ที่กำลังมาแรงทั่วโลกในปัจจุบันและไทยเราน่าจะเป็นฝ่ายตามหลังชาติอื่นๆ อยู่พอสมควร
รัฐมนตรี ศุภมาส อิศรภักดี กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวง อว.ได้วิเคราะห์ปัญหาด้าน AI ของประเทศไทย พบว่ามี 2 ปัญหาหลักๆ คือ 1.การขาดแคลนบุคลากร และ 2.การประยุกต์ใช้ซึ่งยังมีน้อยมาก
อว.จึงได้หาทางแก้ปัญหาและเตรียมความพร้อมในการใช้ AI เพื่อพัฒนาประเทศ โดยจะสนับสนุน “แผนปฏิบัติงานด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศ (พ.ศ.2565–2570)” ซึ่งได้ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจังนับแต่นี้ไป
ตาม กรอบยุทธศาสตร์ 5 ประการ ได้แก่ 1.ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบ AI, 2.ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI เพื่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง, 3.ด้านกำลังคน AI, 4.ด้านวิจัยและพัฒนา AI และ 5.ด้านส่งเสริมธุรกิจและการใช้นโยบาย AI
ผมไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ แต่อ่านแล้วก็พอใจ เพราะในแต่ละยุทธศาสตร์ท่านระบุเป้าหมายในการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน… เช่น ด้านกำลังคน AI จะมีเป้าหมายผลิตเพิ่มขึ้นอีก 30,000 คน หรือด้านการส่งเสริมธุรกิจการใช้ AI ท่านก็มีเป้าหมายจะใช้ใน 600 หน่วยงานทั่วประเทศ เป็นต้น
โดยส่วนตัวผมเป็นคน “บอดสนิท” ด้านเทคโนโลยี อย่าว่าแต่ AI เลยครับ แค่โทรทัศน์รุ่นใหม่ หรือพัดลม หรือแอร์รุ่นล่าสุด ผมยังเงอะๆ เงิ่นๆ กดรีโมตผิดๆ ถูกๆ อยู่เลย
แต่ผมก็เชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยีใหม่อย่างแท้จริง ว่านี่คือ ความอยู่รอดของประเทศ และได้เขียนสนับสนุนเรียกร้องมาโดยตลอดให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยหันมาสนับสนุนงานวิจัย หันมาเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งผมคิดว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง…เมื่องบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาของเราน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
กระทรวง อว.เองไม่ว่าในรูปแบบเดิมที่แยกกันเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์บ้าง ทบวงมหาวิทยาลัยในยุคหนึ่งบ้าง, สำนักงานสภาวิจัยบ้าง และ ฯลฯ ก็ได้มีการพัฒนาตนเองมีการสะสมความรู้และมีการสร้างบุคลากรมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้เรามีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง แม้จะยังขาดแคลน และไม่พอเพียงก็ตาม
หลายครั้งหลายหนที่ผมนั่งรถตามหลานวัย 6-7 ขวบของผมไปดูศูนย์ฯ หรือพิพิธภัณฑ์ หรือหน่วยงานหรือองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่บริเวณอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ด้วยความรู้สึกชื่นชมชื่นใจและนั่งรอหลานๆ อยู่ในพิพิธภัณฑ์เป็นชั่วโมงๆ อย่างมีความสุข
ใช่! มันยังไม่พอเพียง…มันยังเป็นปัญหาใหญ่ของเราและอย่างที่มีข่าว 2-3 วันมานี้ ว่าบริษัทไฮเทคใหญ่ระดับโลกหลายบริษัทแห่ไปตั้งศูนย์ฯ ใน มาเลเซีย เกือบหมด ผมก็เข้าใจว่าเขาคงมาดูเราแล้วและเห็นว่าเรายังมีปัญหาโน่นนี่ จึงไม่เลือกเรา
ก็ช่างเถอะไม่ใช่ครั้งแรกที่เราพ่ายแพ้ในการดึงดูดใจแหล่งทุนจากต่างประเทศ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เขาจะชนะเรา…เพราะเขาเดินหน้าไปไกลกว่าเราหลายก้าวในเรื่องเหล่านี้
ขอให้เราสู้ๆ ต่อไปพัฒนาไปตามแนวต่างๆ ที่มีการระดมสมองเอาไว้ต่อไป โดยเฉพาะการดำเนินตามแผนพัฒนาของทางราชการไทยที่ทำไว้ดีพอสมควร และส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปตามแนวทางที่เหมาะสมกับความเป็นไปได้ของประเทศ
มิใช่โครงการประเภทคิดเอาเอง ฝันเอาเอง สมมติว่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ทำแล้วจะเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ผมยังค้านอยู่และจะค้านอย่างหัวชนฝาต่อไป
อะไรที่ดีก็ว่าดี อะไรไม่ดีก็ต้องว่าไม่ดี…อย่างนโยบาย “อว. for AI” หรือ “AI for All” ของท่านรัฐมนตรี อว.และข้าราชการประจำ อว.ทั้งแผงที่แถลงครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดี…ขอให้เดินหน้าเต็มที่นะครับ…ท่านรัฐมนตรีศุภมาส!
“ซูม”