หัวหน้าทีมซอกแซกติดตามการแข่งขัน การประกวดดนตรีลูกทุ่ง โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศในรายการ “ชิงช้าสวรรค์” ของ เวิร์คพอยท์ ทีวี มาอย่างเหนียวแน่น
แม้ว่าจะดูบ้างไม่ดูบ้าง เพราะติดภาระกิจในบางเสาร์ แต่ในรอบสุดท้ายที่จะชี้ขาดว่าโรงเรียนใดจะ “คว้าแชมป์” ไปครองนั้นไซร้หัวหน้าทีมจะจัดคิวเวลาไว้เลย ไม่รับนัดใครๆ
รวมทั้งเมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2567 ช่วงบ่ายๆ ซึ่งเป็นช่วงชิงแชมป์ของทีม 3 ทีมจาก 3 โรงเรียนที่ได้คะแนนดีที่สุด ผ่านเข้าสู่รอบ 3 ทีมสุดท้าย ได้แก่ โรงเรียนโยธินบูรณะ (กทม.) โรงเรียนศึกษานารี (กทม.) และ โรงเรียนสังขะ (จังหวัดสุรินทร์)
ผลการแข่งขันจบลงด้วยชัยชนะของโรงเรียนสังขะ ที่สามารถคว้าแชมป์ “ชิงช้าสวรรค์ 2024” พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี และเงินรางวัล 1 ล้านบาทไปครองโดย โรงเรียนศึกษานารี ได้รองแชมป์อันดับ 1 รับทุนการศึกษา 5 แสนบาท และ โรงเรียนโยธินบูรณะได้รองแชมป์อันดับ 2 รับทุนการศึกษา 3 แสนบาท
ทั้ง 2 เพลงที่ โรงเรียนสังขะ นำมาใช้ประกวดในรอบสุดท้าย ได้แก่ เพลง “ลูกบ่แพ้” ของ พงษ์ศักดิ์ ถนอมใจ ซึ่งเป็นเพลงจากละครทีวี เรื่อง “ทายาทพันธุ์ข้าวเหนียว”
อีกเพลงก็ไพเราะมาก “คือเธอใช่ไหม” เพลงประกอบละคร “รัก 10 ล้อ รอ 10 โมง” แต่งเนื้อร้องทำนองโดย พงษ์ศักดิ์ ถนอมใจ ขับร้องต้นฉบับโดย ต่าย อรทัย และ เก็ตสึโนวา ที่ฮิตมากเมื่อประมาณ พ.ศ.2562
ทั้ง 2 เพลง ผู้เขียนบทของโรงเรียนสังขะนำมาใช้ในการเล่าเรื่องตำนานพื้นบ้านที่เล่ากันอยู่ในภาคอีสานล่างได้อย่างเหมาะเจาะ
ประกอบกับฉากที่อลังการและการร่ายรำของแดนเซอร์ หรือภาษาลูกทุ่งก็คือ “หางเครื่อง” อย่างสวยงาม เข้าจังหวะจะโคน และยอดเยี่ยมที่สุด คือการบรรเลงของนักดนตรีซึ่งใช้เครื่องดนตรีทั้งพื้นบ้านและสากลมาบรรเลงร่วมกันอย่างไม่มีที่ติ… จน “ครูหนึ่ง” หนึ่ง จักรวาล บอกว่าไม่รู้จะติอะไรเลย
หัวหน้าทีมซอกแซกเป็นแฟนทั้ง 3 โรงเรียนเอาใจช่วยทุกโรงเรียนตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมกับแอบให้คะแนนเอาไว้ด้วยเช่นกัน และคะแนนในแผ่นกระดาษที่หัวหน้าทีมเขียนไว้หลังจบการแสดง ก็ออกมาที่ โรงเรียนสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เช่นเดียวกับกรรมการทั้ง 3 ท่าน
ที่จะต้องปรบมือให้เป็นพิเศษก็คือ “นักร้องนำ” หรือ “น้องแตงโม” ซึ่งยังใช้คำว่า “ด.ญ.” นำหน้าชื่อ และเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 เท่านั้น…สุ้มเสียงของน้องสดใสมาก ถอดแบบ ต่าย อรทัย มาได้หลายส่วน หากโตขึ้นกว่านี้แล้วเสียงไม่แตก อนาคตของเธอน่าจะเป็นนักร้องลูกทุ่งในระดับแถวหน้าอย่างแน่นอน
จากชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของ โรงเรียนสังขะ ทำให้หัวหน้าทีมซอกแซกอดที่จะคลิกเข้าไปดูประวัติของโรงเรียนและอำเภอแห่งนี้เสียมิได้
ในเว็บไซต์ของโรงเรียน ระบุว่าโรงเรียนสังขะตั้งขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2514 ในที่ดินของทางราชการที่สงวนไว้ ณ หมู่ที่ 1 บ้านขวาว ตำบลสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และ นายบุญศรี บุญสุยา ศึกษาธิการอำเภอขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งโดยยื่นเรื่องต่อกรมสามัญศึกษา
มีนักเรียนรุ่นแรก (ชาย-หญิง เพราะเป็นโรงเรียนสหศึกษา) แค่ 2 ห้อง รวม 74 คนเท่านั้น และมีครูอาจารย์เพียง 4 ท่าน โดยมี นายชุมพร มะวิญธร รับราชการในตำแหน่งครูใหญ่
ช่วงแรกๆ อาคารหลักยังสร้างไม่เสร็จต้องไปอาศัยเรียนที่หอประชุมอำเภอสังขะและศาลาการเปรียญวัดโพธาราม
ปีต่อมาจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 199 คน และครูอาจารย์ 9 คน นักการภารโรง 1 คน ก็พอดีอาคารโรงเรียนหลังใหญ่แล้วเสร็จ จึงอพยพไปปักหลักเมื่อปี 2515 เป็นต้นมา
สำหรับปัจจุบัน ยอดจำนวนนักเรียนทั้งสิ้นเท่าที่ตรวจสอบได้ก็คือ 2,189 คน แยกออกระดับมัธยมต้น (ม.1-ม.3) 1,010 คน มัธยมปลาย (ม.4-ม.6) 1,179 คน เพิ่มขึ้นจากวันแรกตั้งที่มีนักเรียน 74 คน ถึงเกือบ 30 เท่า
โดยมี ปรัชญา ของโรงเรียน ณ ปัจจุบันว่า “สุวิชฺชา โลกวฑฺฒนา…ความรู้ดี ทำให้โลกเจริญ” ตามมาด้วย อัตลักษณ์ ของโรงเรียนคือ “ยิ้มง่าย ไหว้สวย” และข้อสุดท้าย เอกลักษณ์ ของโรงเรียนกำหนดไว้ว่า “กีฬาเด่น ดนตรีพร้อม สิ่งแวดล้อมสวยงาม”
สำหรับผลการสอบ O-NET ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปี 2564 กับ 2565 พบว่า ภาษาไทย ทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั้งระดับพื้นที่และระดับชาติ พอสมควรทีเดียว สังคมศึกษา ก็ดีกว่าระดับพื้นที่และระดับชาติเล็กน้อย ภาษาอังกฤษ แม้จะต่ำแต่ก็ยังดีกว่าระดับพื้นที่ และระดับชาติที่ต่ำยิ่งกว่า
ไปที่ คณิตศาสตร์ ปี 2564 ต่ำกว่าระดับพื้นที่ และระดับประเทศเล็กน้อย แต่มาฮึดเอาชนะทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศเล็กน้อยในปี 2565 ถัดมา
สุดท้าย วิทยาศาสตร์ ผลเฉลี่ยสูงกว่าระดับพื้นที่และระดับชาติในเปอร์เซ็นต์ที่น่าชื่นใจ
แสดงว่าทางโรงเรียนก็ได้ทำตามปรัชญาที่วางไว้ คือการพัฒนาความรู้ให้แก่เด็กจนเด็กสอบได้เหนือเกณฑ์ของเด็กไทยในทุกหมวด
ย้อนหลังกลับไปสู่ช่วง พ.ศ.2514-2515-2516 จะเป็นช่วงเวลาที่กระทรวงศึกษาธิการขยายโรงเรียนมัธยมชั้นสูงสุดคือ ระดับ ม.6 ลงสู่อำเภอต่างๆจำนวนมาก จนเกิดคำถามว่าจะเป็นการสร้างช่องว่างทางการศึกษาหรือไม่ ระหว่างโรงเรียนในตัวจังหวัดกับโรงเรียนระดับอำเภอ ซึ่งขาดแคลนครูอาจารย์
แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เราก็พบว่าการขยายโรงเรียนมัธยมลงสู่อำเภอนั้นถูกต้องแล้ว เพราะเป็นการเปิดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กยากจน ในชนบทที่ไม่มีหนทางที่จะมาเรียนในเมืองหรือใน กทม.ได้
พวกเขาหรือเธออาจไม่เก่งเท่าๆ เด็กในเมืองใหญ่ แต่ก็มีความรู้สูงขึ้นกว่าเดิม และสามารถจะเข้ามาสู้ชีวิตในเมืองใหญ่ได้ในภายหลัง โดยไม่ถูกคนเก่งกว่าเอารัดเอาเปรียบ
ที่สำคัญเด็กๆ ชนบทจำนวนมากได้มีโอกาสแสดงความสามารถของพวกเขาและเธอที่เหนือกว่าเด็กเมืองในหลายๆ ความสามารถด้วยกัน โดยเฉพาะด้าน “กีฬา” และ “ดนตรี” รวมไปถึง “งานศิลปะ” ต่างๆ
ขอปรบมือให้แก่โรงเรียนสังขะอีกครั้งและขอให้กำลังใจแก่เด็กนักเรียนมัธยมระดับอำเภอทุกๆอำเภอทั่วประเทศไทย.
“ซูม”