วันนี้…วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2567 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็น “วันพระใหญ่” หรือวันวิสาขบูชา ที่พุทธศาสนิกชนทั่วโลกถือว่าเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของพุทธศาสนา
เป็น วันประสูติ, ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน เพียงแต่ต่างปี และต่างสถานที่เท่านั้น ดังที่มีการจารึกไว้ว่า
เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ณ พระราชอุทยานลุมพินี ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล)
เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ใต้ร่มศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม (ปัจจุบันคือพุทธคยา ส่วนหนึ่งของตำบลคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)
วันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย) ด้วยพระชนมายุ 80 พรรษา
นับได้ว่าเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นในวันเดียวกันอย่างน่ามหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง…ชาวพุทธทั่วโลกจึงถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกๆปี หรือวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่ง
ได้มีการรวมตัวกันเพื่อแสดงออกถึงความเคารพบูชานับถือและเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ตามวัดวาอาราม หรือสถานที่อันเป็นมงคลต่างๆ มาตั้งแต่ยุคโบราณกาล จนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันประเทศที่นับถือพุทธศาสนาทั่วโลก ที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติก็ได้ร่วมกันเสนอให้องค์การสหประชาชาติยอมรับ และประกาศว่าวันวิสาขบูชาเป็นวัน “สำคัญของโลก” และในที่สุดก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ในการประชุมใหญ่ สมาชิกและสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2542
มีการจัดงานเฉลิมฉลองและระลึกถึงอย่างเป็นทางการทุกๆ ปี ณ องค์การสหประชาชาติ ทั้งที่สำนักงานใหญ่นิวยอร์ก และตามสาขาต่างๆ
สำหรับบ้านเรานั้นในส่วนที่เป็น ทางการ รำลึกถึงการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลนั้นก็ได้มีการจัดงานขึ้นทุกปี รวมทั้งในปีนี้ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ พุทธมณฑล และที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก ฯลฯ
ส่วนที่เป็นงานของประชาชนที่ถือว่าเป็นกิจการทางวัฒนธรรม และทางศาสนาประจำปี ก็ได้มีการจัดขึ้นตามวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะการทำบุญตักบาตร การฟังเทศน์ ฟังธรรม และการเวียนเทียน
นอกจากนี้ยังมีข่าวการจัดงานเวียนเทียนด้วย “กล้าไม้” หรือ “ต้นไม้” แทน ดอกไม้ ขึ้นในวัดสำคัญๆ หลายแห่งในปีนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำกล้าไม้ที่ผ่านการเวียนเทียนแล้วไปปลูกต่อ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ประเทศไทย
ต้องไม่ลืมว่าคณะรัฐมนตรีได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม ปี 2532 (ยุคนายกฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ)ให้ วันวิสาขบูชา เป็น “วันต้นไม้ของชาติ” ควบคู่ไปด้วย เพราะช่วงวิสาขบูชามักเป็นช่วงเริ่มฤดูฝน การปลูกต้นไม้ในช่วงเวลานี้จะได้ผลมากกว่าฤดูอื่นๆ
ในกรุงเทพฯมีถึงกว่า 30 วัด ที่ประกาศว่า ปีนี้จะมีเวียนเทียนกล้าไม้หรือต้นไม้ รวมทั้งวัดใหญ่คู่บ้านคู่เมืองหลายๆวัด เช่น วัดอรุณราช วราราม, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์, วัดเบญจมบพิตร และ วัดประยุรวงศาวาส ฯลฯ เป็นต้น
ต่างจังหวัดก็มีการจัดตามวัดประจำจังหวัดเกือบทุกๆแห่งครับ โปรดตรวจสอบด้วยก็แล้วกัน
ส่วนในแง่ของบรรยากาศของวันวิสาขบูชา โดยทั่วไปผมก็ขอทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเหมือนเช่นเคย
ท่านใดมีเวลาว่างพอจะเจียดได้ อย่าลืมแวะไปทำบุญตักบาตรหรือไปเวียนเทียนตามวัดใกล้ๆบ้านด้วยนะครับจะเวียนด้วยดอกไม้ ธูปเทียนธรรมดา หรือจะเวียนด้วยกล้าไม้ก็สุดแต่ศรัทธา เพื่อสืบสานพุทธประเพณีของเราให้ยั่งยืนสืบไป
ในส่วนของท่านที่ไม่สามารถปลีกตัวไปไหนได้ ผมก็ขอให้ใช้เวลาสัก 5 นาที 10 นาที นั่งไหว้พระที่บ้าน ทำใจให้บริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งใจละเลิกการกระทำบาปทั้งปวง หันมาทำความดีเพื่อตนเอง เพื่อสังคม อธิษฐานจิตไปเวียนเทียนทางใจไปว่างั้นเถอะ
ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่านในวันวิสาขบูชา 2567 นะครับ.
“ซูม”