ข้อเขียนของผมวันนี้จะลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็น “วันสุกดิบ” ก่อนที่จะมีการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษานี้ 1 วัน
สำนักข่าวออนไลน์หลายสำนักพาดหัวข่าวว่า ปีนี้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งจะเปิดสอบในวันพรุ่งนี้ (เสาร์ที่ 9 มีนาคม) และได้เปิดรับสมัครนักเรียนเข้า ม.4 มาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมานั้น มียอดผู้สมัครทั้งสิ้นถึง 11,607 คน
ทั้งนี้ ทางโรงเรียนสามารถรับได้เพียง 1,520 คนเท่านั้น จึงเท่ากับว่าจะมีผู้สอบเข้าไม่ได้ถึง 10,087 คน หรือถ้าคิดสัดส่วนระหว่างผู้สอบได้กับผู้สมัครทั้งหมดก็อยู่ที่ประมาณ 1 คนต่อ 7.6 คน
ดุเดือดกว่าภาพยนตร์ไทย เรื่อง “หนึ่งต่อเจ็ด” ของ ส.อาสนจินดา เมื่อ 60 ปีที่แล้วเสียอีก เพราะในการสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษาปีนี้อยู่ที่ “หนึ่งต่อเจ็ดคนครึ่ง” เสียด้วยซํ้า
ผมจึงใคร่ขอถือโอกาสในวันสุกดิบก่อนลูกๆหลานๆจะลงสนามสอบในวันพรุ่งนี้ เขียนถึงลูกๆ หลานๆ ทั้งในด้านแสดงความยินดีและปลอบประโลมใจไปพร้อมๆ กัน
ขอแสดงความยินดีล่วงหน้าสำหรับลูกหลาน 1,520 คน ที่จะได้เข้าเรียนในโรงเรียนอันเป็นสุดยอดปรารถนาของนักเรียนทั่วประเทศโรงเรียนนี้
ขอให้ลูกๆ ทุ่มเทเรียนหนังสืออย่างเต็มที่ อย่างเอาใจใส่ อย่าได้วอกแวก อย่าได้เกเร หรือออกนอกลู่นอกทางแต่อย่างใดเลย
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เปรียบเสมือนเครื่องคัดกรอง “สมอง” และ “ความสามารถ” ของเด็กไทยมากว่า 60-70 ปีแล้ว
นักเรียนที่สอบผ่านเข้าไปได้ ถือได้ว่าเป็นคนเรียนเก่ง เรียนดีระดับต้นๆของประเทศ มีโอกาสเรียนต่อมหาวิทยาลัยค่อนข้างสูง และเมื่อจบมหาวิทยาลัยแล้ว โอกาสที่จะออกมารับใช้ชาติบ้านเมืองในฐานะ “กำลังคนระดับสูง” คือใช้ความชำนาญการ หรือความรู้ทันสมัยที่ประเทศชาติต้องการ ก็จะมีมากไปด้วยเป็นเงาตามตัว
จึงขอให้ทุกๆ คนที่ผ่านการคัดกรองเข้าไปได้ จงใช้ความรู้ความสามารถในการร่ำเรียนอย่างเต็มที่ เพื่อออกมาพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าไปสู่ยุค 4.0 หรือ 5.0 ได้ตามที่เราตั้งความหวังเอาไว้
ส่วนลูกหลานอีกหมื่นกว่าคนที่สอบเข้าไม่ได้ก็อย่าเพิ่งท้อถอยเพราะดูตามที่ประกาศมายังจะมีโรงเรียนมัธยมในระดับเดียวกันของรัฐบาลเปิดรับเรียนต่ออีกหลายโรงเรียน
สมัยก่อนเราเคยมี โรงเรียนอำนวยศิลป์ ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ไว้รองรับใครพลาดจากเตรียมอุดมก็ไปเรียนอำนวยศิลป์ ซึ่งก็สามารถเรียนกันได้ดีสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในภายหลังและจบออกมาเป็นใหญ่เป็นโต หรือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจำนวนมาก
สำหรับยุคนี้จะยังมีโรงเรียนราษฎร์ดีๆ หรือไม่มีก็ช่างเถิด แต่ช่องทางเรียนต่อนั้นมีแน่ๆ โดยเฉพาะระบบการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. ทำงานไปเรียนไปแล้วก็สอบเทียบ ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ประเทศไทยของเราสร้างไว้ (สมัยนี้เขาว่ามี กศน.อินเตอร์ฯเสียด้วยซ้ำ)
ปรัชญาของคนรุ่นผมอาจจะเชยไปแล้วที่ไปเน้น แต่ขอให้เรียนเก่ง ขอให้ขยันๆ หนักเอาเบาสู้…สอบแพ้ยกนี้ไม่เป็นไร ยังมีโอกาสสอบแก้ตัวใหม่ได้…อย่าถอดใจเป็นอันขาด คนรุ่นใหม่ฟังแล้วอาจจะรู้สึกค่ำครึกับความเชื่อหรือความคิดในลักษณะนี้
แต่ไม่รู้นะเท่าที่ผมยังติดตามการเรียนการสอนของต่างประเทศอยู่บ้าง…ผมก็เห็นว่าประเทศเจริญๆ อย่างสหรัฐฯ อย่างอังกฤษ อย่างญี่ปุ่น หรืออย่างเกาหลี เขาก็ยังใช้ปรัชญานี้กันอยู่
มหาวิทยาลัยอเมริกากับอังกฤษก็ยังต้องการแต่คนเก่ง พวกท็อปเทนก็ล้วนแต่เด็กเกรดเอ ทั้งคัดทั้งกรองกว่าจะรับเลือกเข้าไปเรียนได้
อย่างญี่ปุ่น อย่างเกาหลีก็เห็นแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย และเด็กๆ ที่รอดตายเหล่านั้นก็ได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ออกมาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในที่สุด
ก็ขอฝากแนวคิดเหล่านี้ไว้กับลูกๆ หลานๆ ที่จะสอบเข้าเตรียมอุดมศึกษา วันพรุ่งนี้ ไม่ว่าจะได้หรือไม่ได้ก็ขอให้เดินหน้าต่อไป…รวมถึงลูกๆ หลานๆ ที่จะสอบเรียนต่อทั้งหลายทั่วประเทศไทยด้วยนะครับ
ผมยังเชื่อว่าต่อให้โลกก้าวหน้าไปถึงไหนต่อไหนก็ช่างเถิด ปรัชญาหลักของโลกก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง…คนเก่งคนขยันคนสู้ชีวิตและคนดีมีวินัยจะประสบความสำเร็จเสมอ ไม่ว่ายุคไหนก็ยุคนั้น.
“ซูม”