บันทึก “พระบรมธาตุ” จากอินเดียสูไทย

ซอกแซกสัปดาห์นี้ ขอนำท่านผู้อ่านเข้าสู่บรรยากาศแห่งความอิ่มเอิบใจของพี่น้องประชาชนชาวไทยหลายแสนคน ป่านนี้อาจเกิน 1 ล้านคนแล้วก็ได้ ที่มีโอกาสไปเวียนธูปเทียนดอกไม้สักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร พระโมค คัลลานะ

ที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงวัฒนธรรมด้วยความร่วมมือของรัฐบาลอินเดีย อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์–วันที่ 3 มีนาคม 2567

หัวหน้าทีมซอกแซกได้รับเชิญทั้งจากท่านปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร และ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังโครงการนี้ จึงตัดสินใจเดินทางไปร่วมพิธีสักการะเมื่อช่วงบ่ายๆ จนถึงค่ำๆ วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เป็นที่ทราบดีแล้วว่า ความคิดในการที่จะขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจากอินเดียได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 โน่นแล้ว ตามวัตถุประสงค์ของสถาบันโพธิคยาฯ ที่มุ่งหวังจะกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่ประชาชนนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ให้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น

ประเทศดังกล่าว ได้แก่ เมียนมา, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และไทย ซึ่งก็ล้วนแต่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านมากบ้างน้อยบ้าง ทั้ง 5 ประเทศ จึงได้ริเริ่มโครงการ “ธรรมยาตรา จากมหานทีคงคาสู่ลุ่มแม่น้ำโขง” ขึ้น และได้ติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิด กับสถานทูตอินเดียในประเทศไทย อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประเทศ ไทยเป็นประเทศแรกภายใน พ.ศ.2567

เหตุผลที่คณะกรรมการสถาบันโพธิคยา 980 เห็นว่าควรจะเป็น พ.ศ.2567 ก็เนื่องเพราะปีดังกล่าวนี้เป็นปีมหามงคล ครบพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งรัฐบาล ส่วนราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องประชาชนต่างก็ร่วมกันจัดโครงการต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองทั่วประเทศ

สถาบันโพธิคยา 980 มีความตั้งใจอย่างสูงยิ่งที่จะทูลเกล้าฯถวายโครงการนี้เป็นโครงการเฉลิมฉลองพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ด้วยโครงการหนึ่ง

ต่อมาเมื่อนำเรื่องเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อเสนอขออนุมัติให้รัฐบาลร่วมสนับสนุนและรับเป็นโครงการเฉลิมฉลองฯก็ได้รับอนุมัติอย่างดียิ่ง

หลังจากนั้น กระทรวงวัฒนธรรมไทยก็หารือกับกระทรวงวัฒนธรรมอินเดีย กำหนดวันเชิญเสด็จพระบรมธาตุสู่ประเทศไทยในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ท้องสนามหลวง ตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ดังที่ ทราบกันดีแล้ว

พระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาครั้งนี้เป็นที่รู้จักและจารึกไว้ในพระนามว่า “พระธาตุกบิลพัสดุ์” เนื่อง จากขุดพบในบริเวณเมือง ปิปราห์วา ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์ในยุคพุทธกาล และปัจจุบันประดิษฐานไว้ ณ พิพิธภัณฑ์กรุงนิวเดลี ในฐานะโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูงสุดระดับ AA ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่นำออกนอกประเทศ

ในส่วนของพระอรหันตธาตุของ พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ นั้น มีการขุดพบเมื่อ พ.ศ.2394 โดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษจากสถูปที่เมือง สาญจี ซึ่งหลังการพบแรกๆ นักโบราณ คดีอังกฤษได้นำติดตัวกลับอังกฤษไปด้วยและ ต่อมาได้ถูกขายให้แก่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรีย แอนด์ อัลเบิร์ตของอังกฤษ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลอินเดียก็อัญเชิญกลับและประดิษฐานไว้ที่พระสถูปของเมืองสาญจีตามเดิมเมื่อ 72 ปีที่แล้ว

ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่พระอรหันตธาตุของเอกอัครสาวกได้เสด็จออกจากอินเดียเป็นการชั่วคราวสู่ประเทศไทย

ดังได้เรียนแล้วว่า เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ หัวหน้าทีมซอกแซกก็ได้รับเชิญจากเลขาธิการสถาบันโพธิคยา 980 ที่จะเป็นเจ้าภาพในพิธีสวดพุทธมนต์เย็นซึ่งจะดำเนินขึ้น ณ บริเวณเต็นท์ปะรำพิธีด้านข้างพระมณฑป และเมื่อสวดจบแล้วก็จะเชิญผู้ที่มาร่วมในพิธีสวดพุทธมนต์เย็นทั้งหลายไปเดินเวียนเทียนสักการะรอบๆ พระมณฑปร่วมกับประชาชนทั่วไปด้วย จึงตอบรับด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง

หัวหน้าทีมซอกแซกไปถึงสนามหลวงตั้งแต่บ่าย 3 โมงเย็น มีโอกาสได้เดินไปรอบๆ พบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรด เกล้าฯ ให้นำโรงครัวพระราชทานมาปรุงอาหารให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาร่วมงานตลอดทั้งวัน รวมทั้งมีรถบริการน้ำประปาดื่มได้ของการประปานครหลวงมาให้บริการด้วย

ทราบจากเจ้าหน้าที่พนักงานว่า ตลอดทั้งวันจะมีผู้ใจบุญนำอาหารที่ปรุงเองจากบ้าน หรือสั่งซื้อจากร้านอาหารบรรจุกล่องมาวางเสริมให้ประชาชนรับประทานอย่างไม่ขาดสาย บางครั้งก็เป็นไก่ทอด KFC และแมคโดนัลด์มาวางด้วย หลายๆกล่องใหญ่

เมื่อเดินไปใกล้ๆ และรอบๆ พระมณฑปก็จะมีเต็นท์สำหรับนั่งพักอยู่ด้านหน้า มีที่นั่งให้นั่งพักรออย่างพอเพียง ขณะเดียวกันอีกฟากหนึ่งก็จะเป็นเต็นท์สำหรับแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระบรมธาตุบ้าง เต็นท์ที่จะใช้ในการจัดเสวนาหรือการบรรยายบ้าง

ซึ่งเต็นท์ปะรำพิธีสวดพุทธมนต์เย็นของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ก็อยู่ ณ บริเวณข้างๆ มณฑปเช่นเดียวกัน

เสร็จพิธีสวดพระพุทธมนต์เย็นแล้วหัวหน้าทีมซอกแซกก็ออกมาเวียนธูปเทียนดอกไม้ร่วมกับพี่น้องประชาชนในท่ามกลางเสียงสวดมนต์ของพระภิกษุสงฆ์ที่จะดังอยู่ตลอดเวลา

ท่านที่อ่านคอลัมน์ซอกแซกวันนี้ ยังมีเวลาที่จะเดินทางไปสักการะได้ถึง 3 ทุ่มตรง นับเป็นวันสุดท้ายของการประดิษฐานในกรุงเทพมหานคร อ่านตอนเช้าเดินทางไปตอนเย็นก็ยังทันกาลครับ

ส่วนพี่น้องต่างจังหวัดก็คงทราบกันแล้วว่า 4–8 มีนาคม จะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ หอคำหลวง อุทยานราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่, 9-13 มีนาคม ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี และ 14-18 มีนาคม ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่…ขอเรียนเชิญไปร่วมสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลโดยทั่วหน้ากันนะครับ.

“ซูม”

สักการะ, พระบรมสารีริกธาตุ, จากอินเดีย, สนามหลวง, พระอรหันตธาตุ, การแต่งกาย, เปิดกี่โมง, เดินทาง, จอดรถที่ไหน, สักการะ, เวลา, ข่าว,​ ซูมซอกแซก