ตัวเลข “แรงงานต่างด้าว” ดัชนีชี้วัด “ความเจริญ”?

ผมเขียนเล่าไว้บ้างแล้วว่า เมื่อวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ว่า ผมนั่งรถกับลูกๆ หลานๆ ตระเวนไหว้พระ 10 วัด ไปรอบๆ กรุงเทพฯ บังเกิดความประทับใจหลายๆ อย่าง

อย่างหนึ่งคือที่วัดพระแก้ว หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งผู้คนแน่นมาก ใกล้ๆ เที่ยงนั้นปรากฏว่านอกจากจะเป็นนักท่องเที่ยวทั้งจากจีนและยุโรป รวมทั้งพี่น้องชาวไทยโดยทั่วไปแล้วก็จะมีพี่น้องชาวเมียนมามาร่วมด้วยจำนวนมาก

ที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นชาวเมียนมาก็เพราะเขาแต่งกายด้วยชุดประจำชาติอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมากทั้งหญิงและชาย

ผมจำได้ว่าหนังสือพิมพ์และสื่อสังคมออนไลน์ที่นำภาพมาลงได้โพสต์แสดงความชื่นชมในความเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบเยือกเย็นสมกับเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัดมากของพี่น้องชาวเมียนมา

ทำให้ผมต้องกลับมาค้นหาสถิติแรงงานต่างด้าวในบ้านเราเป็นการใหญ่ ด้วยความอยากรู้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะฝากข้อสังเกตต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตเช่นเดียวกับประเทศเจริญแล้วส่วนมากของโลก

ข้อมูลที่อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ระบุไว้ดังนี้

ในปี 2563 มีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรจำนวนทั้งสิ้น 2,512,328 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จำนวน 2,063,561 คน หรือร้อยละ 82.14 ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด

หากพิจารณาไปถึงกลุ่มที่มิได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือลักลอบเข้าเมืองด้วยแล้วอาจจะมีจำนวนสูงถึง 4 ล้านคน มากกว่าร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้แรงงานต่างด้าวจึงเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่ามีส่วนช่วยในการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึงร้อยละ 6.6

โดยเฉพาะในภาคการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ภาคเกษตร และประมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ใช้ทักษะฝีมือต่ำ จะเป็นการทำงานโดยแรงงานต่างด้าวดังกล่าวเกือบทั้งหมด

เห็นภาพรวมๆ เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่แผน 13 บรรยายไว้เช่นนี้แล้ว ผมก็นึกไปถึงรูปแบบการพัฒนาของมนุษย์ทุกๆ ชาติในโลกนี้ว่า จะยอมลำบากและทำงานหนักในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อรายได้ดีขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้นก็จะพยายามหาคนอื่นๆ มาทำงานหนักๆ แทน

เป็นมาตั้งแต่สมัยสหรัฐอเมริกายังมีการค้าทาส รวมทั้งในยุโรปด้วย ซึ่งในตอนแรกคนอเมริกัน คนยุโรป ก็พร้อมจะทำงานหนัก แต่พอรวยแล้ว พอกินแล้ว จะไปหาคนมาทำงานหนักๆ แทน จึงไปซื้อทาสหรือจับผู้คนมาเป็นทาสทำงานหนักดังที่เราอ่านกันในประวัติศาสตร์

ยุคนี้ไม่สามารถค้าทาสได้หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปก็ใช้วิธีไปดึงแรงงานในประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของตน หรืออาณานิคมของตนเข้ามาทำแทน เป็นหมื่นเป็นแสนและในที่สุดก็เป็นล้านเต็มยุโรปไปหมด

การอพยพมามากๆ ก็มีทั้งผลดีและผลเสียเกิดขึ้นควบคู่กันไป…ในทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นผลดีแน่ เพราะมาช่วยทำงานหนักต่างๆ จนสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

แต่ในทางสังคมกลับกลายเป็นเกิดผลด้านลบขึ้น เพราะไม่ได้มีการดูแลจัดการให้เป็นระบบเสียแต่แรก ทำให้แรงงานอพยพในยุโรปขาดการศึกษาเล่าเรียน ขาดการอบรมดูแล ถูกทอดทิ้งจากสังคมหลักของประเทศ

ทำให้หลายๆ ประเทศในยุโรปปัจจุบันนี้เป็นประเทศที่น่ากลัวและอยู่ไม่เย็นไม่เป็นสุขเหมือนยุคก่อนๆ

ของเราเมื่อมีการพัฒนาดีขึ้นเจริญเติบโตพอสมควรขึ้น จึงตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือมักทำงานหนักไม่ได้เสียแล้ว นี่ขนาดยังเป็นแค่ประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงนะครับ…เข้าสู่ขั้น “รายได้สูง” จริงๆ เมื่อไรคงจะไม่ทำงานหนักกันทั้งประเทศแน่นอน

ทำให้เราต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวดังที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ แต่ก็โชคดีที่ปัญหาสังคมต่างๆยังไม่เกิดเหมือนยุโรป

อาจเป็นเพราะของเราผิวพรรณไม่ต่างกันมากอยู่ไปๆ ก็เข้ากันได้ และหลายๆ ประเทศถือศาสนาพุทธเหมือนกันจึงเข้ากันได้ดีแม้จะมีปัญหาจุกๆ จิกๆ อยู่บ้างแต่ยังไม่น่ากลัวเหมือนต่างประเทศ

ขอบคุณเพื่อนๆ แรงงานต่างด้าวที่มาช่วยขับเคลื่อนประเทศและไม่สร้างปัญหาให้แก่ประเทศไทยนะครับ ขอบคุณจริงๆ ขอให้รักษาความงดงามเมื่อวันปีใหม่เอาไว้ตลอดไปนะครับ.

“ซูม”

ตัวเลข “แรงงานต่างด้าว” ดัชนีชี้วัด “ความเจริญ”?, ไหว้พระ, วัดพระแก้ว, ท่องเที่ยว, เศรษฐกิจ, ข่าว,​ ซูมซอกแซก, ไทย, สถิติ, ทำงาน,