ก่อนไปญี่ปุ่นครั้งนี้ผมนั่งทำการบ้านล่วงหน้าพบว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวแล้ว ฟื้นอย่างรวดเร็วมากตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา พลิกความคาดหมายของกูรูเศรษฐกิจที่มองว่า เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายจะเพิ่มไม่มากนัก รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย
ผลปรากฏว่าเป็นจริงดังที่กูรูคาดไว้ เพราะประเทศดังๆ ส่วนใหญ่เพิ่มน้อยมาก แถมบางประเทศไม่เพิ่มด้วยซ้ำ แต่ GDP ของญี่ปุ่นกลับเพิ่มแบบก้าวกระโดด พลิกล็อกการคาดหมายอยู่ประเทศเดียว
เฉพาะไตรมาส 2 ญี่ปุ่นขยายตัวถึง 3.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบเป็นรายปีกับปีกลาย และเพิ่มถึง 0.8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว 2.7 เปอร์เซ็นต์
ตัวแปรหลักที่ผลักดันญี่ปุ่นให้กระฉูดก็คือ การส่งออกกับการท่องเที่ยวนั่นเอง เฉพาะการท่องเที่ยวอย่างเดียวในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาส 2 มีนักท่องเที่ยวทะลักเข้าญี่ปุ่นถึง 2 ล้านกว่าคน หรือประมาณเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เคยเข้าญี่ปุ่นในเดือนเดียวกันนี้ก่อนช่วงโควิด
ที่สำคัญก็คือในขณะที่ปริมาณหรือจำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การใช้จ่ายต่อหัวกลับสูงขึ้น ทำให้ทางการญี่ปุ่นประเมินว่า รายได้ที่เป็นตัวเงินจากการท่องเที่ยวน่าจะทะลุ 100 เปอร์เซ็นต์ของช่วงก่อนโควิดไปแล้วด้วยซ้ำ
ซึ่งผมก็ไปค้นพบความจริงว่า ตัวเลขข้อมูลต่างๆ ข้างต้นนี้ถูกต้องทุกประการ เพราะตามจุดสำคัญๆ ของโตเกียว 3-4 จุดที่ผมแวะไปในช่วง 2-3 วันมานี้แน่นเอี้ยดไปหมด
แน่นอนส่วนใหญ่ก็เป็นคนญี่ปุ่นนั่นแหละที่ไปเที่ยวกันเอง ไปเดินกันเองอยู่แล้ว แต่ที่เข้ามาเสริมจนทำให้แน่นขนัดขึ้นไปอีกอย่างว่าก็คือนักท่องเที่ยวต่างแดนนั่นแหละครับ
ก่อนโควิดนักท่องเที่ยวกลุ่มเยอะสุดที่ไปญี่ปุ่นคือ จีน ตามมาด้วย เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สหรัฐฯ แล้วก็ ไทย
แต่หลังจากนั้นจีนก็ลดลงไปแบบวูบวาบ นอกจากเรื่องโควิดแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วจากโรงงานนิวเคลียร์ที่ ฟูกุชิมา ลงสู่ทะเล ส่งผลให้รัฐบาลจีนประกาศแอนตี้ไม่ให้นำเข้าปลาดิบจากญี่ปุ่น
ทำให้สะเทือนมาถึงธุรกิจท่องเที่ยวด้วย เพราะทัวร์จีนซึ่งกำลังจะเดินทางไปญี่ปุ่นหลังโควิดก็พลอยยกเลิกการเดินทางในทันทีทันใด
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุดบอกว่า “ทัวร์จีน” กำลังจะทะลักเข้าญี่ปุ่นอีกแล้ว โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แห่งการท่องเที่ยวต้นตุลาคม หรือ Golden week ของชาวจีน มีรายงานว่าทัวร์จีนแห่ทะลักไปที่ เกียวโต โอซากา จนโรงแรมล้นแทบทุกแห่ง
แม้จนถึงเดี๋ยวนี้ทัวร์จีนก็ยังเดินทางไปญี่ปุ่นในจำนวนที่มากขึ้นและมีไปถึงโตเกียวด้วย สังเกตได้จากการที่ผมไปนั่งซุ่มพักเหนื่อยอยู่แถวๆ แยก กินซ่า, ชินจุกุ พบว่ามี ทัวร์จีน เดินผ่านผมมากที่สุด
รองลงไปและมากอย่างเหลือเชื่อน่าจะเป็นทัวร์จาก “ละตินอเมริกัน” และยุโรปซึ่งไม่ใช่อังกฤษ ฟังจากสุ้มเสียงที่เขาพูดกัน
สำหรับ “ทัวร์ไทย” เราน่าจะอยู่ในอันดับ 4 หรืออันดับ 5 โดยประมาณ คล้ายๆกับเมื่อช่วงก่อนโควิดเพราะจับกลุ่มเดินผ่านจุดที่ผมไปจอดรถเข็นมากพอสมควรทีเดียว ได้ยินเสียงเจรจาเป็นภาษาไทยอย่างน้อย 2 ภาค คือภาคกลางกับภาคใต้
สมาคมหรือชมรมธุรกิจท่องเที่ยวไทยญี่ปุ่น ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกชื่อถูกต้องหรือไม่ คาดว่าตลอดทั้งปี 2566 นี้ น่าจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยไปญี่ปุ่นไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านคน เท่ากับตัวเลขก่อนโควิด
ด้วย “จำนวน” ของ “ทัวร์ไทย” ที่ว่านี้ แม้จะอยู่อันดับ 4 หรือ 5 แต่ทางญี่ปุ่นเขาก็ให้เกียรติ หรืออำนวยความสะดวกให้คนไทยเราพอสมควรเลยทีเดียว มีภาษาไทยให้เห็นในหลายๆ แห่ง หลายที่
โดยเฉพาะร้านอาหารดังๆ ห้างสรรพสินค้าดังๆ จะมีป้ายบอกชื่อสินค้าเป็นภาษาไทยเห็นได้ชัดเจน หรืออย่างน้อยก็จะมีป้าย “ยินดีต้อนรับ” เขียนเป็นภาษาไทยเอาไว้ด้วย
ผมไปเจอที่ “สวนหย่อม” ใกล้ๆ บ้านพักที่มีป้ายปักไว้เป็นภาษาไทย อ่านได้ชัดเจนว่า “ห้ามทิ้งขยะ” อ่านแวบแรกก็ไม่สบายใจว่า คงมีคนไทยที่ไหนมาทิ้งขยะเอาไว้กระมัง เขาถึงเขียนภาษาไทยห้าม
ก็พอดีเห็นคำห้ามทั้งภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน แล้วก็ ภาษาไทย…จึงรู้สึกโล่งใจ ถือซะว่าเป็นการให้เกียรติประเทศไทย ด้วยการปักป้ายภาษาไทยเคียงบ่าเคียงไหล่ภาษาอื่นๆ ก็แล้วกันครับ.
“ซูม”