พรุ่งนี้วันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2566 จะมีพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เวลา 19.00 น.เป็นต้นไป
ผมเข้าใจว่ารายละเอียดของการแข่งขันครั้งนี้ หน้ากีฬาของไทยรัฐเราคงจะได้ลงเอาไว้ในทุกแง่มุมอยู่แล้ว ขอเรียนเชิญชวนให้ไปพลิกอ่านแบบวันต่อวันได้ตามอัธยาศัยนะครับ
สำหรับผมก็ตามประสา “เล่าฮู” ผู้อาวุโสที่เติบโตมากับการชมกีฬาเอเชียนเกมส์–ขอทำหน้าที่ในการเหลียวหลังกลับไปดูเส้นทางของเอเชียนเกมส์ในอดีตว่า มีส่วนอย่างไรบ้างกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทยของเรา
เป็นที่ตระหนักดีแล้วว่า “กีฬา” นั้นสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทุกประเทศได้อย่างดียิ่ง
เริ่มจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาแต่ละครั้งจะต้องมีการสร้างสนาม สร้างสิ่งสาธารณูปโภค ฯลฯ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียน รวมไปถึงกีฬาบางประเภทจะต้องสร้าง “หมู่บ้านนักกีฬา” ด้วย ซึ่งก็สามารถจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็นศูนย์ธุรกิจการค้าได้เมื่อการแข่งขันจบลง
ทวีปเอเชียของเราซึ่งมีการจัดการแข่งขัน “เอเชียนเกมส์” ครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ.1950 หรือ พ.ศ.2493 ที่อินเดียเป็นต้นมานั้น ประเทศที่ขันอาสาเป็นเจ้าภาพต่างก็ใช้โอกาสของการเป็นเจ้าภาพในการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของตนแทบทุกประเทศ
เริ่มจาก ญี่ปุ่น ที่ขันอาสามาเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 3 เมื่อ ค.ศ.1958 หรือ พ.ศ.2501 และได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ.1964 หรือ พ.ศ.2507 ซึ่งญี่ปุ่นก็แสดงสมรรถภาพในการเป็นเจ้าภาพอย่างยอดเยี่ยม เป็นที่ชื่นชมของแฟนกีฬาทั่วเอเชียและทั่วโลก
ผงาดขึ้นเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว
เกาหลีใต้ ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ใช้กีฬาทั้งเอเชียนเกมส์และโอลิมปิกในการประกาศศักยภาพของตนเอง
จากประเทศยากจนเพราะ “สงครามเกาหลี” ที่ทำให้ประเทศต้องถูกผ่าเป็น 2 ซีก เกาหลีใต้ซึ่งอยู่ภายใต้การโอบอุ้มของสหรัฐฯมาโดยตลอด ค่อยๆพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ อย่างทรหดอดทน
ในช่วงแรกๆ ไทยเราพัฒนาได้เร็วกว่า สามารถเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด เอเชียนเกมส์ ได้เมื่อ ค.ศ.1966 หรือ พ.ศ.2509 ปีสุดท้ายของแผนพัฒนา ฉบับที่ 1 พอดิบพอดี ซึ่งก็คือเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
เกาหลีใต้มีคิวจะต้องจัดต่อไปจากเราคือครั้งที่ 6 ใน ค.ศ.1970 หรือ 2513 แต่พอถึงเวลาเขาก็แจ้งว่าเขาไม่พร้อมไม่สามารถจะจัดได้ ขอให้ประเทศไทยซึ่งจัดครั้งที่ 5 อย่างยอดเยี่ยมช่วยสงเคราะห์จัดแทน
ซึ่งไทยแลนด์เราก็ขันอาสาจัดให้ตามคำขอ ได้รับคำขอบคุณจากเกาหลีอย่างใหญ่หลวงในปีดังกล่าว
จากประเทศที่ไม่มีเงินเป็นเจ้าภาพในปี 1970 (พ.ศ.2513) เกาหลีใต้แอบไปซุ่มพัฒนาประเทศจนที่สุดก็เจริญเอาเจริญเอาแซงประเทศไทยไปหลายช่วงตัวในด้านความเจริญเติบโต
จนถึง ค.ศ.1986 หรืออีก 16 ปี หลังจากที่เขามาขอให้เราช่วยจัดเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นเขาก็สามารถเป็นเจ้าภาพจัดเอเชียนเกมส์เองได้ที่กรุงโซล ซึ่งเป็นเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 10 พอดิบพอดี
อีก 2 ปีจากนั้นคือ ค.ศ.1988 เกาหลีใต้ก็กระโดดข้ามรุ่นไปจัดโอลิมปิก ประกาศตัวเป็นประเทศพัฒนา 100 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่นั้น
ประเทศจีนก็ใช้ เอเชียนเกมส์ ปี 1990 เป็นบททดสอบก่อนขันอาสาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกที่ดังกระหึ่มโลกเมื่อปี 2008
เอาเถอะแม้เราจะยังไม่ไปไกลถึงขั้นเป็นประเทศร่ำรวย สามารถจัดโอลิมปิกได้อย่างญี่ปุ่น อย่างเกาหลีใต้ หรือจีน แต่เราก็ก้าวหน้ามาได้ระดับหนึ่งที่เขาเรียกว่า ประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงในปัจจุบัน
การเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์แต่ละครั้งล้วนนำความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาสู่ กทม. และปริมณฑลอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นย่านหัวหมาก บางกะปิ หรือย่านรังสิตที่กลายเป็นธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตขณะนี้
ผมจึงใคร่ขอถือโอกาสขอบคุณกีฬาเอเชียนเกมส์ย้อนหลังไว้ ณ ที่นี้ด้วย และจะติดตามดูการแข่งขันที่หางโจวอย่างมีความสุข
เป็นห่วงอย่างเดียวเท่านั้นก็เรื่อง “การเมือง” นั่นแหละ ไม่รู้จะมีดราม่าอะไรมาทำให้การดูเอเชียนเกมส์หมดสนุกหรือไม่
นึกแล้วก็น้อยใจครับ…ในขณะที่ “กีฬาไทย” มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาประเทศ แต่ “การเมืองไทย” ดูจะเป็นตัวถ่วงที่สำคัญทำให้เรายักแย่ยักยันไปไม่ถึงประเทศพัฒนาแล้วกะเขาซักทีนึง.
“ซูม”