ซอฟต์เพาเวอร์ “ส่งออก” เรียนรู้จากกรณี “Red Bull”

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงละครเวทีมิวสิคัลของ “คุณบอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ เรื่อง “WATERFALL A new musical” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบทประพันธ์อมตะเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของ “ศรีบูรพา” ที่กลับมาแสดงอีกครั้งที่โรงละครรัชดาลัยในขณะนี้

เล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเค้าโครงเรื่องเสียใหม่ โดยเฉพาะนางเอกได้เปลี่ยนจาก คุณหญิงกีรติ ผู้สูงศักดิ์วัย 35-36 ปี เป็นสาวใหญ่ชาวอเมริกันที่มาแต่งงานกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของไทย ส่วนพระเอกคือหนุ่มน้อย นพพร วัย 22-23 ปี ยังคงไว้ตามเดิม แต่ให้เด็กเอเชียเกิดเมืองนอกมาแสดงแทนคนไทย

ประเด็นที่ติดใจผมจนต้องขออนุญาตนำมาเขียนต่อในวันนี้ก็คือ ความพยายามที่จะดัดแปลงเรื่องราวที่เป็นนวนิยายไทยๆ ให้เป็นสากล มีรสชาติสากลบ้างในการที่จะนำไปแสดงต่างประเทศนี่แหละครับ

เนื้อหาที่คุณบอยกับทีมงานเขียนบทของท่านที่เป็นมือเขียนบทดังของบรอดเวย์ และเคยเขียนบทในเรื่อง Miss Saigon มาแล้วจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด แต่ในหลักการก็คือ สินค้าไทยๆ อะไรก็ตามโดยเฉพาะสินค้าประเภท “ซอฟต์เพาเวอร์” อาจจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงให้เข้ากับรสนิยมของตลาดโลกบ้าง จึงจะประสบความสำเร็จสูงสุด

ตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาสำหรับผมเองก็คือ เครื่องดื่ม Red Bull ซึ่งพัฒนาไปจาก “กระทิงแดง” ของไทยเรานี่แหละครับ

เมื่อตอนที่คุณ ดีทริช เมเทสซิทซ์ ชาวออสเตรีย แต่เป็นเซลส์แมนขายยาสีฟัน “เบลนแด็กซ์” ให้กับเยอรมนีในประเทศไทย ต้องเดินทางมาเมืองไทยบ่อยๆ นั้น เขาก็ดื่ม “กระทิงแดง” ไทย ของคุณ เฉลียว อยู่วิทยา ตามอย่างคนขับรถบรรทุกในเมืองไทยในยุคโน้น จนเกิดความคิดว่าถ้าเอาไปขายต่างประเทศบ้างต้องขายได้แน่ๆ

แต่เขาก็บอกกับคุณเฉลียวว่าคงต้องปรับสูตรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของฝรั่ง ซึ่งในที่สุดก็ออกมาเป็นรสซ่าๆ ปร่าๆ ไปคนละรสชาติกับกระทิงแดงบ้านเรา

ผมจำได้ว่าตัวเองก็เคยติดเครื่องดื่มประเภทนี้ เพราะตอนหนุ่มต้องออกตระเวนชนบทแบบเดือนเว้นเดือน ต้องตื่นเช้ามากๆ และกลับค่ำๆ จึงหันไปดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังแบบพี่น้องกรรมกรแบกหามอยู่พักใหญ่

สมัยนั้นที่ดังๆ ก็มีลิโพกับกระทิงแดง ผมก็ดื่มสลับกันไป จนมีอยู่พักหนึ่งไปตรวจเลือดปรากฏว่าน้ำตาลสูง คุณหมอสันนิษฐานว่า เพราะผมดื่มเจ้า 2 ตัวนี้มากเกินไป จึงบังคับให้งดเสีย ซึ่งผมก็งดตามหมอสั่ง แต่ยังจำรสชาติได้ดีว่าออกหวานๆ มีขมนิดๆ แบบใส่กาแฟเอาไว้ด้วย

มีอยู่วันหนึ่งผมไป ออสเตรีย ประเทศแรกที่ผลิตเรดบูลส์ ตามสูตรใหม่ เพื่อนที่โน่นสั่งมาให้ดื่มกระป๋องหนึ่ง ปรากฏว่า ผมดื่มไม่กี่อึกก็วางลง…รู้สึกว่าไม่มีรส ไม่หวาน ไม่น่าดื่มเหมือนของเรา

อีกหลายปีต่อมาผมไปเยี่ยมเพื่อนๆ ที่อเมริกา ตกใจมากเมื่อทราบว่า Red Bull รสชาติกร่อยที่ว่านั้นขายดีมากในนิวยอร์ก และรัฐอื่นๆ…ต่อมาก็มีข่าวว่าขายดีทั่วโลก รวมทั้งในยุโรปด้วย

จากกรณีนี้เอง ทำให้ผมฝังใจมาตลอดว่า การจะส่งอาหาร หรือเครื่องดื่มที่คนไทยชอบ ซึ่งเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของไทยไปขายเมืองนอกนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับรสชาติให้คนเมืองนอกเขาชอบด้วย

อย่างกรณี “ผัดไทย” เราไม่ได้ปรับรสชาติอะไรมากมาย แค่เผ็ดน้อยลง ทำให้ฝรั่งรับประทานได้และเมื่อรับประทานแล้วเขาก็ติดใจ จนผัดไทยโด่งดังไปทั่วโลกในที่สุด

รวมทั้ง “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งพอเผ็ดน้อยลงเท่านั้น ก็ฮิตทั่วโลกเช่นกัน

สำหรับข้าว “ไก่กะเพรา” หรือ “หมูกะเพรา” ที่มีการประกวดและเตรียมผลักดันสู่เวทีโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ความจริงก็ไปเมืองนอก พร้อม “ผัดไทย” อยู่แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนผัดไทย คงจะต้องค้นหากันต่อไปว่าเพราะอะไร?

ขอเอาใจช่วยทุกๆ “ซอฟต์เพาเวอร์” นะครับ ไม่ว่าอาหารไทย ละครไทย ภาพยนตร์ไทย ผ้าไทย และวัฒนธรรมไทยต่างๆ ขอให้โชคดีออกไปยึดครองตลาดโลกให้ได้เยอะๆ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ข้อสำคัญอย่าลืมหาข้อมูลก่อน และพยายามปรับเข้าหารสนิยมของต่างประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้…ผมเชื่อว่าที่เกาหลีเขาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในทุกวันนี้ คงเป็นเพราะเขาไปหาข้อมูลล่วงหน้าเอาไว้ก่อนแล้วนั่นเอง

ไม่ใช่จู่ๆ ก็ดุ่ยไปตายดาบหน้า ซึ่งจะมีโอกาส “ตาย” สูงมากในท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดโลกยุคปัจจุบัน.

“ซูม”

ซอฟต์เพาเวอร์, ส่งออก, เรียนรู้, Red Bull, อาหาร, ผัดไทย, ผัดกะเพรา, ไทย, กระทิงแดง, WATERFALL A new musical, ข้างหลังภาพ, ข่าว, ซูมซอกแซก