ค่า “ไฟฟ้า” แพง “หูฉี่” “เผือกร้อน” ล่าสุด “ลุงตู่”

ถ้าจะถามว่าเสียงบ่นจากประชาชนทุกหมู่เหล่าที่อื้ออึงที่สุด และระอุที่สุดในสื่อสังคมออนไลน์ทั่วประเทศไทยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านนี้ คือเรื่องใด? คำตอบเห็นทีจะไม่พ้นเรื่อง “ค่าไฟฟ้า” ที่ประชาชนต้องจ่ายในเดือนที่ผ่านมา ที่แพงขึ้นอย่างสุดโหด

บางคนบ่นแถมสบถไปด้วยว่า บ้านฉันเคยใช้อยู่เดือนละ 2 พันบาท จู่ๆ ก็กลายเป็น 4 พัน

อีกบ้านบอกว่าของฉันก็ 2 พันบาท แต่ขึ้นเป็น 6 พัน หรือ 3 เท่าตัว…อะไรกันยะ!

สำหรับผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆเ ล็กๆ ต่างก็บ่นอู้พอๆ กัน เป็นหัวข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

อ่านข่าวและเรื่องราวทั้งหมดนี้แล้ว ผมก็ได้แต่เห็นใจรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมี “ลุงตู่” เป็นหัวหน้าทีม

ลำพังการอยู่นานของท่านเกิน 8 ปี ก็ทำให้ประชาชนเบื่ออยู่แล้ว แม้โดยข้อเท็จจริงจะทำโน่นทำนี่ที่สำคัญไว้เยอะ โดยเฉพาะการแก้ปัญหา “โควิด–19” ทั้งในแง่ของ “โรคภัย” และ “เศรษฐกิจ” ทำไว้อยู่ในเกณฑ์ดีระดับได้รับคำชมจากทั้ง WHO และสถาบันทางเศรษฐกิจต่างๆ

แต่คนเราพอเบื่อขึ้นมาแล้วอะไรๆ ก็ห้ามยาก และมักจะมองข้ามเรื่องดีๆ ไปเสียหมด หยิบมาพูดถึงแต่เรื่องร้ายๆ

การสำรวจประชามติหรือ “โพล” ของสำนักต่างๆ จึงออกมาในทางที่ “ลุงตู่” ได้คะแนนตามหลังคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยทำงาน และไม่แน่ใจว่าจะทำงานเป็นหรือไม่ ถ้าได้เป็นนายกฯ ไปหลายๆ ช่วงตัว

เมื่อมาเจอเรื่องค่าไฟฟ้าแพง กระหน่ำซ้ำเข้าให้อีก เช่นนี้จะกลายเป็น “ฟาง” เส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ หรือไม่คงต้องดูกันต่อไป

ถามว่าทำไมจู่ๆ บิลค่าไฟฟ้าจึงกระฉูดขึ้น คำตอบเท่าที่การไฟฟ้าทั้งฝ่ายผลิต และนครหลวงพยายามชี้แจงหลายครั้งก็คือ เพราะช่วงนี้เข้าสู่ฤดูร้อนมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วนของประเทศ เพราะมีการเปิดแอร์เป็นส่วนใหญ่

เปิดมากใช้มากสู้กับความร้อนมาก ค่าไฟฟ้าก็จะเพิ่มสูงขึ้นไปตามค่า FT หรืออัตราผันแปรที่คิดมาจากต้นทุนของการผลิตไฟฟ้า

การผลิตไฟฟ้าบ้านเรามีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ผลิตจากพลังน้ำที่ต้นทุนถูก เพราะส่วนใหญ่แล้วจะผลิตจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเราผลิตก๊าซได้เอง 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ และต้องนำเข้าหรือซื้อจากต่างประเทศถึง 40 เปอร์เซ็นต์

หลังเจอสงครามรัสเซีย ยูเครน ราคาพลังงานทุกประเภทขึ้นสูงแบบกระฉูดอย่างที่เราทราบ รวมทั้งค่าก๊าซธรรมชาติที่เรานำเข้ามาผลิตไฟฟ้าด้วย

สำหรับก๊าซที่เราผลิตได้เองในประเทศที่กำลังจะหมดนั้น เราก็ต้องซื้อในราคาที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จะเอามาผลิตไฟฟ้าฟรีๆ ได้อย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเราตรึงค่า FT มานาน ให้คงอยู่ในอัตราเฉลี่ยหน่วยละ 24.27 สตางค์มาตลอดช่วงพลังงานแพง จนแทบไม่ไหวต้องมาปรับเป็นหน่วยละ 93.4 สตางค์ เมื่อเดือนกันยายน-ธันวาคมที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า

ตอนเพิ่มใหม่ๆ ยังเป็นหน้าหนาวอยู่ หรือไม่ร้อนมากนัก การใช้ไฟของประชาชนยังไม่เกินการทำงานของค่า FT ผู้คนจึงรู้สึกเฉยๆ  เพราะค่าไฟยังเพิ่มไม่มาก

ดังนั้น พอถึงเดือนมีนาคม ซึ่งเริ่มร้อน เริ่มมีการใช้แอร์ ใช้ไฟฟ้ากันมากขึ้นทำให้เกินเกณฑ์ต้องจ่ายค่า FT ในอัตราใหม่ ที่เพิ่มโดยเฉลี่ย 4 เท่าดังกล่าว จึงร้องโอ๊กไปตามๆ กันด้วยประการฉะนี้

ตามแผนเดิมเขาจะยังปรับอีกระลอกด้วยซ้ำในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมนี้ และตามที่เคยกล่าวไว้นั้น จะขยับเป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย (โดยไม่รวม VAT) โน่นเลย

ฟังจากคำอธิบายของการไฟฟ้าทั้งหลายถึงสาเหตุของการขึ้นค่า FT ก็ดูมีเหตุมีผล แต่เมื่อฟังจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจารณ์หรือกูรูต่างๆ ก็ได้ความคิดบางอย่างเพิ่มขึ้น…เช่น บางท่านบอกว่าอาจลดค่า FT ได้อีก ถ้าเราจะลดปริมาณสำรองไฟฟ้าทั้งหมดลงไป

หรือถ้าฟังกูรูโซเชียลที่กูรู้ทุกเรื่อง ก็มีประเด็นน่าคิด เมื่อบอกว่า เพราะการไฟฟ้านี่แหละที่ไปเซ็นสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนบริษัทหนึ่งไว้ ในราคาแพงตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อนลุงตู่ 1 รัฐบาล ส่งผลให้ลุงตู่ต้องมารับกรรมในปัจจุบัน ซึ่งก็ช่วยไม่ได้เพราะลุงตู่เคยลงไปแก้ปัญหาด้วยตัวเองด้วยซํ้า แต่กลับไม่แก้อะไรเลย

ผมก็ขอเสนอความคิด 2 ด้าน…เอาไว้ให้ท่านผู้อ่านตัดสินใจกันเองก็แล้วกันครับ และไม่ขัดข้องครับ ถ้าจะพิจารณาไปบ่นไป เพราะ ต้องยอมรับว่า ค่าไฟฟ้างวดนี้ “มหาโหด” จริงๆ.

“ซูม”