“ดร.อำนวย วีรวรรณ” บนเส้นทางพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 15.00 น. เศษๆ มีข่าวเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ดร.อำนวย วีรวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ด้วยโรคปอดอักเสบ ติดเชื้อ สิริอายุ 90 ปี

ต่อมาสำนักข่าวออนไลน์ทุกสำนักรวมถึงหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ในเช้าวันรุ่งขึ้นต่างก็นำเสนอข่าว การถึงแก่อนิจกรรมของท่าน เป็นข่าวหน้า 1 บ้าง หน้าในบ้างในฐานะที่ ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆของประเทศ ไม่เฉพาะทางด้านการเมืองเท่านั้น แม้ในด้านการรับราชการ และการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการบริหารงานด้านเอกชน ท่านก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งเช่นกัน

ผมเองโดยส่วนตัวได้ยินชื่อเสียงและเริ่มติดตามการรับราชการของท่านมาตั้งแต่ผมเรียนปี 3 ปี 4 อยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ประมาณ พ.ศ.2505-2506

ช่วงนั้นยังเป็นยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับการยอมรับจากประชาชนว่า มีความสามารถในการบริหารงานและตัดสินใจเด็ดขาด ที่สำคัญท่านจะเชื้อเชิญคนเก่งทางด้านต่างๆ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจด้วยมาร่วมงานกับท่านจำนวนมาก

เช่น ม.ล.เดช สนิทวงศ์, สุนทร หงส์ลดารมย์, ฉลอง ปึงตระกูล รวมถึงสุดยอดนักเศรษฐศาสตร์ของยุคนั้น ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นต้น

อยู่มาวันหนึ่งก็ปรากฏชื่อ นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มที่เพิ่งจบปริญญาเอกหมาดๆ จากสหรัฐอเมริกา ดร.อำนวย วีรวรรณ ขึ้นในข่าวซุบซิบของสื่อมวลชนยุคนั้นว่า จอมพลสฤษดิ์ได้เชื้อเชิญไปร่วมงานด้วย ในตำแหน่ง “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี”

ข้อมูลที่บันทึกไว้ใน วิกิพีเดีย ระบุว่าท่านเคยเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งในข้อเท็จจริงอาจจะเป็นในภายหลังก็ได้แต่เท่าที่ผมจำได้ท่านเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ จอมพลสฤษดิ์ มาก่อน

ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้ง กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ซึ่งรวมหน่วยปฏิบัติในการพัฒนาประเทศหลายๆด้านมาไว้ด้วยกัน เช่น กรมชลประทาน, กรมทางหลวง, กรมทรัพยากรธรณี, สำนักงานพลังงานแห่งชาติ ฯลฯ ขึ้นเมื่อต้นๆ ปี 2506 ดร.อำนวยได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักวิชาการและวางแผนของกระทรวงดังกล่าว

หลังจากนั้นผมก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศทำให้ขาดการติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ผมสนใจรวมทั้งท่าน ดร.อำนวยด้วยไปโดยปริยาย

จึงไม่ทราบรายละเอียดในช่วงที่ท่านโอนไปรับราชการที่กระทรวงการคลังจนได้รับตำแหน่งสูงสุดคือปลัดกระทรวงการคลัง เมื่ออายุเพียง 43 ปีเท่านั้น และดำรงตำแหน่งอยู่ถึง 2 ปี

น่าเสียดายที่การบันทึกประวัติของท่านโดย วิกิพีเดีย ค่อนข้างกระท่อนกระแท่นและไม่ปะติดปะต่อทำให้ไม่สามารถจัดลำดับและช่วงเวลาการทำงานอีกหลายๆชิ้นของท่านได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน

ชีวิตทางการเมืองของท่านเริ่มด้วยการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุค “ป๋าเปรม” อยู่ 1 ปี เมื่อ พ.ศ. 2523-2524 จากนั้นอีก 15 ปีให้หลังเมื่อเกษียณอายุราชการแล้วจึงได้ออกมาตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับการเลือกตั้งที่จังหวัดขอนแก่น

ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีก 2 กระทรวง คือกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกระทรวงการคลังท่านเป็นในยุคของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และเกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” พอดี จึงเป็นด้วยระยะเวลาประมาณ 8 เดือนเศษเท่านั้น

แม้การบันทึกดังกล่าวจะไม่ครบถ้วนแต่ก็แสดงให้เห็นว่าตลอดชีวิตของท่านได้ทุ่มเทให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศทั้งในแง่ของวางแผนและการปฏิบัติจริงในกระทรวงต่างๆ มาตั้งแต่แผนฉบับที่ 1 พ.ศ.2504-2509 จนถึงแผนฉบับที่ 7 พ.ศ.2535-2539 เป็นอย่างน้อย

มีส่วนอย่างยิ่งในความสำเร็จและการพัฒนาประเทศไทยที่ก้าวจากประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนามาเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง ณ ปัจจุบันในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งและมีโอกาสได้ติดตามความก้าวหน้าของประเทศไทยอย่างใกล้ชิดๆอยู่ระยะหนึ่ง ผมขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูง ณ ที่นี้

ขอดวงวิญญาณของท่านจงประสบแต่ความสุข ความสงบ ณ สัมปรายภพตราบกาลนิรันดร์.

“ซูม”

“ดร.อำนวย วีรวรรณ” บนเส้นทางพัฒนาประเทศ, เสียชีวิต, ถึงแก่อนิจกรรม, นักการเมือง, เศรษฐศาสตร์, ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, ซูมซอกแซก