มินิซีรีส์ ชุด “โรคเข่าเสื่อม” ของเราวานนี้ จบลงด้วยประเด็นดราม่าที่ว่า คิวผ่าตัดโรคนี้เมื่อหลายๆ ปีก่อนโน้นที่ศิริราช เคยยาวถึง 3 ปี แม้ต่อมาจะหดสั้นลงบ้างก็ยังต้องรอเป็นปีอยู่ดี
เป็นเหตุให้ คุณหมอ กีรติ เจริญชลวานิช หมอผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสื่อม มือ 1 ของศิริราช ต้องถามตัวเองว่า “เราจะทำอะไรให้ดีกว่านี้ได้ไหม…เราจะออกไปช่วยพี่น้องที่ด้อยโอกาสในชนบทที่ป่วยโรคนี้ (ซึ่งมีเยอะมาก) ในชนบทได้อย่างไร?”
หลังจากครุ่นคิดอยู่หลายปี ในที่สุดเมื่อ พ.ศ.2557 คุณหมอกีรติก็เอ่ยปากชวนเพื่อนๆ และน้องๆ ที่ประกอบด้วย คุณหมอช่วยผ่าตัด คุณหมอวิสัญญีแพทย์ พยาบาลช่วยผ่าตัด และนักกายภาพบำบัด จากศิริราช รวมตัวกันเป็นทีม ออกไปช่วยพี่น้องชาวต่างจังหวัดที่โน่นบ้างที่นี่บ้างเป็นการทดสอบ
ใช้เงินส่วนตัวจากของคุณหมอเองและจากผู้มีจิตใจกุศลที่ทราบข่าวก็ช่วยกันบริจาคสมทบมาบ้าง
จากนั้นปี พ.ศ.2559 ก็ไปจดทะเบียนก่อตั้ง “มูลนิธิศัลย์ฯ สร้างข้อต่อชีวิต” จากทีมแพทย์ 8 คน ในปีแรก ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนบัดนี้มีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สมัครเข้าร่วมอุดมการณ์แล้วกว่า 90 คน
หมุนเวียนกันไปลงพื้นที่ในภาคเหนือ กลาง ใต้ และอีสาน รวม 19 ครั้ง ผ่าตัดไปแล้วกว่า 400 คน และมากกว่า 600 ข้อ
จาก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นแห่งแรกที่มูลนิธิลงไปผ่าตัดได้เพียง 10 คนกับ 10 ข้อเข่าเท่านั้น นับเป็นก้าวแรกของมูลนิธิที่จะต้องเรียนรู้วิธีการทำงานด้วยเช่นกัน เช่น ต้องไปดูว่าห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชนผ่าตัดได้ไหม รองรับเครื่องมือที่จะขนไปเองได้ไหม
มีทีมกายภาพบำบัดที่จะรับ “ไม้ต่อ” ได้หรือไม่ เพราะเมื่อผ่าตัดเสร็จทีมจากศิริราชจะต้องกลับและเป็นหน้าที่ของทีมท้องถิ่นโดยเฉพาะกายภาพบำบัดที่จะต้องรับลูกดูแลคนไข้ (ตามวิธีที่ทีมงานกรุงเทพฯจะถ่ายทอดไว้ให้) อีกเป็นแรมเดือนกว่าคนไข้จะเดินได้ตามปกติ
คุณหมอกีรติบอกว่า แม้จะยุ่งยากไม่น้อยแต่ทีมงานก็พยายาม ทั้งทำเองทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้ให้บุคลากรแพทย์ท้องถิ่นไปด้วย บังเกิดความปีติขึ้นพร้อมๆ กันหลายๆ อย่าง
ปีติเมื่อภายหลังทราบว่าคนไข้เหล่านั้นหายเป็นปกติและเดินได้อย่างมีความสุขเฉกเช่นบุคคลเข่าดีทั่วๆ ไป
รวมทั้งความปีติที่ได้แบ่งปันความรู้ใหม่ๆ จากพวกเราที่เกือบทั้งหมดทำงานอยู่กับโรงเรียนแพทย์ให้กับเพื่อนร่วมอาชีพของเราที่เสียสละการใช้ชีวิตของพวกเขาโดยยอมอยู่ในชนบทห่างไกลที่ลำบากยากแค้น เพื่อดูแลรักษาพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นกันดารของประเทศ
จากโรงพยาบาลแรกที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มูลนิธิเพิ่งจะเสร็จภารกิจในการผ่าตัดครั้งล่าสุด 35 คน 61 ข้อเข่า ที่ โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปีของการก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้ไปเมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม เดือนที่แล้วนี่เอง นับเป็นการออกปฏิบัติการครั้งที่ 19 ของมูลนิธิ ตามที่ได้เรียนไว้ตอนต้น
ส่วนครั้งที่ 20 มูลนิธิจะนำความสุขไปมอบให้กับโรงพยาบาลใดโปรดติดตามและร่วมบริจาคได้ที่เฟซบุ๊ก มูลนิธิศัลย์ฯ สร้างข้อต่อชีวิต หรือที่ http : //newjointforlife.com/
เสียดายที่ มินิซีรีส์ ชุด “โรคข้อเข่าเสื่อม” ของเราจะต้องจบลงในวันนี้ ไม่มีโอกาสที่จะเขียนถึงประวัติส่วนตัวอันน่าทึ่งและน่านิยมของคุณหมอ กีรติ ได้อย่างที่ตั้งใจไว้
ขอแนะนำให้เข้ากูเกิลพิมพ์ข้อความยาวๆ ว่า “ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช กับความเชื่อ บ้า กล้าก้าว ที่มีอยู่ในตัวทุกคน” จะได้อ่านเรื่องราวของท่านจาก The Standard ที่นำลงไว้เมื่อ 20 กันยายน 2561 ซึ่งจะทำให้รู้จักคุณหมออย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ขอขอบคุณ คุณ ระวิ โหลทอง เจ้าพ่อ สยามสปอร์ต เพื่อนรักผมไว้ ณ ที่นี้ด้วยเช่นกัน ที่ป่วยเป็นโรคนี้ และกลายเป็นคนไข้คนหนึ่งของคุณหมอ เพราะถ้าระวิไม่ป่วย ผมก็คงไม่มีโอกาสไปเยี่ยม และก็คงไม่รู้ว่ามีคนเป็นโรคนี้ถึง 6 ล้านกว่าคนทั่วประเทศไทย
โรคที่ไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ทรมานและเป็นทุกข์ด้วยความเจ็บปวด ทุกย่างก้าวที่ขยับตัวไปตลอดชีวิต ฉะนั้นไม่เป็นได้ก็จะดีที่สุด
โปรดรักษาสุขภาพและพยายามหลีกเลี่ยงตามข้อแนะนำย่อๆ ที่ผมคัดลอกคุณหมอมาบอกกล่าวไว้ เมื่อ 2 วันก่อนนะครับ…ขอให้แฟนคอลัมน์นี้โชคดี มีข้อเข่าที่ดีโดยไม่ต้องผ่าตัดทุกๆ คน (เทอญ).
“ซูม”