ในขณะที่การหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปของประเทศไทยกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการยุบสภานั้นเอง
ก็มีข่าวที่ชวนให้หวั่นไหวเกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ต่อเช้าวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม ตามเวลาบ้านเราว่า
ธนาคารขนาดใหญ่พอสมควรของเมืองลุงแซมล้มไปถึง 2 แห่ง
แห่งแรก ได้แก่ ธนาคาร SVB หรือ ซิลลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ บริษัทเกิดใหม่ประเภท “สตาร์ตอัพ” และเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ มียอดเงินฝากถึง 1.754 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ นาทีก่อนล้ม
นับเป็นการล้มของธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2008 หรือวิกฤติ “แฮมเบอร์เกอร์” เป็นต้นมา
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงตกอกตกใจ เทขายหุ้นอุตลุด ส่งผลให้ ดาวโจนส์ ร่วง 345 จุด ไปปิดที่ 31,910 จุด, เอส แอนด์ พี ร่วง 57 จุด ปิดที่ 3,862 จุด และ แนสแด็ก ก็ร่วงถึง 199 จุด ปิดที่ 11,139 จุด
ต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณ เจเน็ต เยลเลน ก็ออกมาแถลงว่า รัฐบาลเข้าไปจัดการแล้ว และกำลังจับตาดูอีก 2-3 แบงก์ด้วยความระมัดระวัง
คุณเยลเลนยํ้าว่า จะคืนเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงินทุกดอลลาร์ แม้จะเกิน 250,000 เหรียญสหรัฐฯ ที่เคยเป็นหลักประกันสูงสุดก็ตาม
จากนั้นก็มีข่าวว่า ธนาคารแห่งที่ 2 ธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ ที่นิวยอร์ก ก็ล้มไปอีก 1 และทางการได้เข้าไปดำเนินการควบคุมเงินฝากเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนเต็มที่เช่นเดียวกัน
ตลอดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่แล้ว ข่าวเศรษฐกิจของสื่อทั่วโลกต่างเสนอข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่และมีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าจะมีอะไรตามมาอีกหรือไม่? จะมีเพียงแค่นี้หรือจะมีแบงก์อื่นๆ อีก?
แต่ก็ดูเบาบางลงบ้าง เมื่อประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกมายืนยันในมาตรการที่กระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯ กำลังร่วมมือกันแก้ปัญหา และมั่นใจว่าประชาชนจะไม่เดือดร้อน โดยเฉพาะเรื่องเงินฝากจะได้คืนทั้งหมด…ขออย่ากังวลใจ
รุ่งขึ้นวันจันทร์ตลาดหุ้นในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชียที่ยังช็อกกับข่าวนี้อยู่พากันร่วงเป็นแถวๆ
แต่ของสหรัฐฯ กลับดีขึ้นเยอะ หลังจากประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่น มากขึ้นว่าจะได้เงินฝากคืนทั้งหมด…ทำให้ดาวโจนส์ปิดลบแค่ 91 จุด เอส แอนด์ พี ลบ 6 จุด ส่วนแนสแด็กปิดบวก 50 จุด เสียด้วยซ้ำ
ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ (บ่ายๆ วันอังคารที่ 14 มี.ค.) การซื้อขายหุ้นล่วงหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์ดูเหมือนจะบวกทั้ง 3 ตลาด เพียงแต่ยังบวกไม่มากมายอะไรเท่านั้นเอง ต้องรอดูการซื้อขายจริงๆ กันอีกที
บทวิเคราะห์หลายๆ บทเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จนดอกเบี้ยมาตรฐานขึ้นจาก 0.25 เปอร์เซ็นต์ มาถึง 4.75 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ธนาคาร SVB ล้ม
จะเป็นเพราะเหตุนี้เหตุเดียวหรือมีเหตุอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยคงต้องติดตามอ่านรายละเอียดต่อไป?
หันมาดูมาฟังความเห็นของบ้านเราบ้าง ก็พอจะจับความได้ว่า ท่าน รมว.คลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงของท่านบอกว่า ยห.อย่าห่วง การล้มของทั้ง 2 แบงก์ จะไม่มีผลกระทบ ถึงเราเลย เพราะทั้งธนาคารทั้งกองทุน หรือกลุ่มสตาร์ตอัพ บ้านเราไม่มีใครไปทำธุรกรรมกับ 2 ธนาคารนี้เลย
ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงครั้งแรกโดยท่านผู้ช่วยผู้ว่าการก็ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบเช่นกัน
ผมเชื่อนักเศรษฐศาสตร์บ้านเราครับ แต่ก็คงต้องฝากทุกๆ ฝ่ายเอาไว้ด้วยว่าอย่าประมาทเด็ดขาด ขอให้ติดตามเหตุการณ์ที่สหรัฐฯอย่างใกล้ชิด
ยังไงๆ ก็อย่าให้ “ฝน” (ด้านการเงิน) ที่ตกหนักที่สหรัฐฯ ขณะนี้ ไหลหลั่งข้ามมหาสมุทรมาถึงบ้านเรา…ทำให้เกิดภาวะ “น้ำท่วม” ในบ้านเราไปด้วยก็แล้วกัน
โลกยุคนี้แคบครับ…เกิดอะไรที่นิวยอร์ก ที่แคลิฟอร์เนียเนี่ยแผล็บเดียวก็มาถึงไทยแลนด์แล้วละครับ.
“ซูม”