กราบ “พระธาตุพนม” ในวัน “สมโภช” 2566

บันทึกการเดินทาง “สู่อีสาน” ร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ของหัวหน้าทีมซอกแซก ทริปนี้จะจบลงอย่างไม่สมบูรณ์แน่นอน

หากมิได้เขียนถึงวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ณ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่คณะของเราได้แวะกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย เพราะอยู่บนเส้นทางผ่าน

จริงๆ แล้วเราไปถึงวัดพระธาตุพนมก่อนที่จะถึงจังหวัดมุกดาหาร จุดหมายปลายทาง
ด้วยซํ้าไป และได้แวะเข้าสักการะนับตั้งแต่วันแรก

ที่สำคัญ ณ วันที่เราเดินทางไปถึง (5 กุมภาพันธ์) นั้น เป็นช่วงเวลาที่มีงานประจำปีเฉลิมฉลององค์พระธาตุ ที่กำหนดไว้ว่าระหว่างวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 คํ่า เดือน 3 ให้เป็นวันแห่งการสมโภช จึงมีการออกร้านจำหน่ายอาหารและข้าวของพื้นเมือง รวมถึงการละเล่นรื่นเริงต่างๆในบริเวณวัด แบบงานวัดทั่วไปทั้งหลาย

ส่วนในบริเวณชั้นในซึ่งจะมีรั้วล้อมรอบองค์พระธาตุนั้น ก็จะมีลานกว้างอยู่โดยรอบ สามารถที่จะจัดขบวนแห่อัญเชิญพานดอกไม้ และเครื่องบวงสรวงต่างๆ เดินเวียนไปโดยรอบแบบเวียนเทียนได้อย่างสะดวก และจะมีพี่น้องประชาชนทั้งชาวไทยชาวลาวผลัดเวียนกันมาตั้งขบวนแห่ด้วยแตรวงบ้าง กลองยาวบ้าง หรือไม่ก็ใช้รถเข็นเครื่องขยายเสียงเปิดเพลงบรรเลงด้วยเสียงพิณบ้าง เสียงแคน ดังกระหึ่มอยู่ตลอดเวลา

แม้จะเป็นเวลาเที่ยงวันเศษ แดดร้อนมาก แต่พี่น้องประชาชนก็มิได้หวาดหวั่นย่อท้อยังคงหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้ในระยะใกล้ และว่าจ้างแตรวงหรือกลองยาวให้ทำขบวนแห่แทบมิได้หยุดพักเลย

คณะของเราตระหนักตั้งแต่ต้นแล้วว่าคงรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้ยากในสถานการณ์เช่นนี้ จึงนัดแนะกันว่าต่างคนต่างแยกกันไปไหว้น่าจะดีที่สุด ใครแหวกฝูงชนเข้าใกล้สุดได้ก่อน ก็ไหว้ก่อน เสร็จแล้วเดินกลับไปเจอกันที่รถ ซึ่งจอดรออยู่ที่ถนนด้านนอกระยะทางเดินกว่า 1 กิโลเมตร

หัวหน้าทีมซอกแซกแหวกมายืนใกล้ๆ รั้วพระธาตุ แม้จะมิได้เข้าไปข้างในก็เห็นองค์ทั้งองค์ได้อย่างเด่นชัด จึงประนมมือไหว้ขอพรท่านอยู่บริเวณนอกรั้วนั่นเอง

ไหว้เสร็จ ทำบุญที่เต็นท์จำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน และมีตู้บริจาควางไว้หลายตู้เสร็จ หัวหน้าทีมก็หลบไปนั่งที่ใต้ต้นไม้ขนาดใหญ่พอสมควรต้นหนึ่ง ซึ่งมีการจัดทำม้านั่งหินอ่อนไว้รอบๆ โคนต้นไม้ให้ผู้มาสักการะได้นั่งพักหลบแดด ที่นับนาทีจะยิ่งจ้าและร้อนขึ้นทุกขณะ

ระหว่างนั่งพักรออยู่นั้น หัวหน้าทีมก็ทำใจให้สงบนิ่งพร้อมกับมองไปที่ยอดพระธาตุนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระธาตุพนมตามที่เคยได้ยินคนอีสาน ย่านแม่นํ้าโขงบอกเล่าให้ฟัง

รายละเอียดค่อนข้างมาก คงไม่สามารถนำมาเขียนถึงได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน แต่กล่าวอย่างสรุปก็คือ องค์พระธาตุของพระพุทธเจ้า ที่ประดิษฐาน ณ ที่นี้ เป็นพระธาตุส่วนหน้าอก หรือที่เรียกว่า พระอุรังคธาตุ

ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่บริเวณนี้ด้วยการเหาะมาทางอากาศ และทรงพบว่าเป็นบริเวณที่เหมาะสมในการประดิษฐานพระพุทธศาสนา เพราะต่อไปบริเวณนี้จะเจริญรุ่งเรืองเป็นบ้านเมืองใหญ่โต

จึงตรัสกับพระสาวกที่ตามมาด้วยว่า หากพระองค์เสด็จปรินิพพานก็มีพระประสงค์ที่
จะให้อัญเชิญพระบรมธาตุส่วนหนึ่งมาประดิษฐานไว้ ณ บริเวณดังกล่าว

ดังนั้น เมื่อเสด็จดับขันธ์แล้ว และได้มีพิธีถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธองค์แล้ว พระสาวกที่ทราบพระประสงค์ก็อธิษฐานว่าพระธาตุองค์ใดที่จะเสด็จไปอยู่ ณ บริเวณริมโขงแห่งนี้ขอให้ปรากฏขึ้นเถิด

ซึ่งก็ปรากฏพระอุรังคธาตุขึ้นในอุ้งมือของพระสาวกรูปนั้น และพระสาวกก็อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ สถานที่ปัจจุบันในอีกไม่นานต่อมา

แม้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างองค์พระธาตุเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ จะเริ่มขึ้นใน พ.ศ.ใดที่ชัดเจน แต่ก็เชื่อกันว่าน่าจะนานนับพันปี

หลักฐานที่มีการค้นพบกลับเป็นการกล่าวถึงการบูรณะพระธาตุพนม เมื่อ พ.ศ.2157 หรือ เมื่อ 400 กว่าปีมาแล้ว และต่อมาก็มีหลักฐานเรื่องการบูรณะอีกหลายครั้ง

ล่าสุด เมื่อ พ.ศ.2518 พระธาตุพนมชำรุดล้มลงทั้งองค์ ทางราชการจึงได้ดำเนินการก่อสร้างใหม่ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ครับ! นอกจากจะรำลึกถึงตำนานเก่าๆ ที่มีการจดจารและเล่ากันปากต่อปากดังกล่าวแล้ว ระหว่างนั่งพักอยู่นั้น หัวหน้าทีมยังนึกถึงเพลง “มนต์รักพระธาตุพนม” ของ เต๋า ภูศิลป์ นักร้องลูกทุ่งสายอีสานชื่อดังอีกคนหนึ่งของแกรมมี่โกลด์ควบคู่ไปด้วย

เพลงนี้เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วในยูทูบ มาถึงวันนี้มียอดเข้าชมเข้าฟังเกือบ 4 ล้านวิว ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

เนื้อเพลงบรรยายถึงความงดงามและประเพณีต่างๆ ของจังหวัดนครพนม และการพบรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่มาอธิษฐานขอพรให้พระ ธาตุพนมผูกหัวใจทั้ง 2 ให้รักกันยั่งยืนตลอดไป

ผู้รับบทบาทเป็นนางเอกใน MV ได้แก่ น้อง พุดทะสอน สาวลาวใต้ ยูทูบเบอร์ คนดังของฝั่งลาวนั่นเอง

ในมิวสิกวิดีโอรอบๆ องค์พระธาตุดูว่างๆ สบายตา มีเฉพาะ เต๋า ภูศิลป์ กับนางเอก และ แดนเซอร์เท่านั้น ต่างกับภาพที่เห็นด้วยตาตนเอง ในวันสมโภชองค์พระธาตุพนม เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2566 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) ราวฟ้ากับดิน

รอบๆ องค์พระธาตุเนืองแน่นไปด้วยผู้คนทั้งชาวไทยชาวลาวน่าจะหลายหมื่นคนที่เวียนเข้าเวียนออกมาตั้งแต่เช้าจนบ่าย 2 แล้วก็ยังไม่บางลงเลยครับ

ไม่เห็นด้วยตาตนเองก็คงไม่เชื่อหรอกครับว่าศรัทธาของพี่น้องชาวไทยและชาวลาวต่อองค์พระธาตุพนมจะแก่กล้าถึงเพียงนั้น.

“ซูม”

กราบ "พระธาตุพนม" ในวัน "สมโภช" 2566, อีสาน, วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหา, นครพนม, มุกดาหาร, พุทธศาสนา, ประเพณี, ริมโขง, ซูมซอกแซก