ห่วงเด็กไทย “ก่อหนี้” สูง เตรียมเร่งปลูกฝัง “การออม”

เมื่อต้นสัปดาห์นี้เองหน้าเศรษฐกิจของไทยรัฐลงข่าวพาดหัวตัวโตพอสมควรเอาไว้ว่า “ห่วงเด็กไทยก่อหนี้เกินตัว” บิ๊กตู่เร่ง “กอช.” ปลูกฝังการออมในกลุ่มเยาวชน…

พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาของเด็กๆ ที่ทำให้บิ๊กตู่ต้องออกมาสั่งการอีกเรื่องด้วยความเป็นห่วงอนาคตของชาติ

ผู้แถลงข่าวนี้ก็คือ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ นั่นเอง

มีเนื้อหาโดยสรุปว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้ กอช.เร่งขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาโดยด่วนเพื่อดึงกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ให้หันมาออมทรัพย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการออมของเยาวชนมีจำนวนน้อย อีกทั้งยังมีแนวโน้มในการสร้างหนี้สูงขึ้นอีกด้วย

กอช.จึงเข้าไปเสริมให้ความรู้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อให้เริ่มออมได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี ขณะเดียวกันจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการผลักดันการจัดทำหลักสูตรการเรียนวิชาการออมขึ้นมาเป็นวิชาบังคับเพื่อปลูกฝังให้เด็กมีวินัยในการใช้เงิน และหันมาออมมากขึ้น

รายละเอียดของข่าวยังมีเยอะกว่านี้…แต่ผมขอหยิบมาเฉพาะประเด็นข้างต้นนี้เท่านั้น เพื่อแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

ก่อนอื่นคงต้องบอกว่า ผมก็รู้สึกกังวลใจเช่นกันที่เยาวชนไทยของเรามีสัดส่วนการออมน้อยลง และก่อหนี้สูงขึ้นตั้งแต่เด็กๆ

หากจะมีหนทางใดที่จะช่วยให้เด็กไทยหันมารู้จักออมหรือเก็บหอมรอมริบมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่สมควรกระทำ

แต่เรื่องที่จะผลักดันให้เป็นหลักสูตรการเรียนในโรงเรียนแบบเป็นวิชาบังคับนั้น ผมขอฝากให้คิดนานๆ และคิดให้ถี่ถ้วนด้วยนะครับ

เพราะการไปบังคับโน่นบังคับนี่อาจจะทำให้เด็กๆเกิดความรู้สึกต่อต้านเดี๋ยวก็จะไม่เข้าเรียนและหนีโรงเรียนไปสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเสียอีกเท่านั้น

สมัยผมเด็กๆ เคยมีหนังสือที่แต่งขึ้นเพื่อสอนใจเด็กๆ ในเรื่องการทำดีต่างๆ มาให้อ่านเป็นหนังสือประกอบการเรียน

เช่น เรื่อง “นกกางเขน” สอนให้เด็กๆ รักธรรมชาติ รักสัตว์ รักนก มีจิตใจที่อ่อนโยน, เรื่อง “อุดมเด็กดี” สอนให้เด็กๆ ทำดี ซึ่งผมจำไม่ได้แล้วว่าสอนอะไรบ้าง แต่จำชื่อหนังสือได้

อีกเรื่องหนึ่งตรงกับที่ กอช.จะไปขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการเลยครับ ชื่อเรื่อง “ออมไว้ไม่ขัดสน” สอนให้เห็นถึงประโยชน์ของการเก็บหอมรอมริบต่างๆ

จะเป็นด้วยหนังสือเหล่านี้หรือเปล่าไม่ทราบที่ทำให้อุปนิสัยดีๆ ทั้งหลาย เช่น การรักสัตว์และโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนมนุษย์ การเป็นคนดีและการรู้จักเก็บออม ค่อยๆ ซึมเข้าสู่เด็กๆ รุ่นผมพอสมควร

ที่ใช้คำว่า “พอสมควร” ก็เพราะเมื่อโตขึ้นเราต้องออกไปเจอบทเรียนชีวิตที่โหดร้าย มีการแก่งแย่งชิงดี มีการยั่วยุให้ฟุ้งเฟ้อด้วยกิเลสต่างๆ…เด็กรุ่นผมจึงเปลี่ยนนิสัยไปเสียหลายคน (แต่ที่ยังเหมือนเดิมอยู่ก็หลายคนเช่นกัน)

ที่เปลี่ยนมากที่สุดจนถึงขั้นแทบไม่ทำตามเลยก็คือเรื่อง “ออมไว้ไม่ขัดสน” นี่แหละครับ

ทั้งๆ ที่นอกจากจะอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เรายังมี ธนาคารออมสิน มาช่วยสอนภาคปฏิบัติให้เราด้วยซ้ำ

มาเปิดสมุดบัญชีให้เราฝาก 1 บาท 2 บาท 5 บาท ถ้าผมจำไม่ผิด แล้วก็ให้กระปุกมาฝึกหยอดเหรียญ

แต่พอโตขึ้นกลับมีปัญหาหลายอย่างที่มาทำให้เราลืมการออมที่เราฝึกไว้ตอนเด็กเสียหมด โดยเฉพาะปัญหารายได้ที่น้อยกว่ารายจ่ายมาโดยตลอด จะมีเงินที่ไหนไปออมได้ละครับ

ผมเขียนคอลัมน์วันนี้ด้วยความเข้าใจในหัวอกลูกหนี้และคนออมไม่ได้จำนวนไม่น้อยที่สาเหตุมาจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย (แต่สำหรับคนที่ใช้จ่ายเกินตัวและฟุ้งเฟ้อ รวมทั้งติดพนันด้วย ขออนุญาตไม่เห็นใจนะครับ)

สุดท้ายนี้ก็ขอให้กำลังใจโครงการฟื้นฟูหลักสูตร “เก็บหอมรอมริบ” ที่ กอช.พยายามจะติดต่อขอประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ประสบความสำเร็จ

คือสำเร็จทั้งมีหลักสูตรเกิดขึ้น และเมื่อเด็กๆ ได้เรียนจบแล้วก็มีอุปนิสัยในการออมมากขึ้นสมมาดปรารถนา

ผมเห็นด้วยกับ กอช.อีกอย่างหนึ่งว่าคนเกษียณที่ไม่มีเงินออมจะอยู่อย่างลำบากมากขึ้นในอนาคตแน่นอน ขอให้รีบออมกันเสียแต่บัดนี้เถิดครับ (ถ้าออมได้)

“ซูม”