เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคมที่ผ่านมานี้เอง สื่อมวลชนทุกแขนงของบ้านเราได้นำเสนอข่าวสำคัญข่าวหนึ่งพร้อมๆ กันในช่วงเวลาหัวค่
ได้แก่ ข่าวการพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2565 ให้แก่นายแพทย์และนักสาธารณสุขศาสตร์จำนวนหนึ่ง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เป็นที่ทราบดีแล้วว่า “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ซึ่งมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Prince Mahidol Award” นั้นเป็นรางวัลที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงพระกรุณาธิคุณใหญ่หลวงแก่วงการแพทย์และสาธารณสุขไทย จนได้รับพระสมัญญานามว่า “พระบิดา” แห่งวงการแพทย์แผนปัจจุบันของประเทศไทย
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชจึงเห็นสมควรให้มีการมอบรางวัลให้แก่แพทย์ หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานอย่างอุทิศตนเพื่อการพัฒนาการวิจัยและการดำเนินการเพื่อความเจริญก้าวหน้าด้านการแพทย์และการสาธารณสุข จนก่อเกิดประโยชน์ใหญ่หลวงแก่มวลมนุษยชาติทั่วโลก เพื่อเป็นพระราชานุสรณ์แก่พระองค์ท่าน
เมื่อทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานความเห็นชอบจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2534 ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำเนินการได้ตามที่มีดำริ จึงเริ่มต้นคัดเลือกนายแพทย์และนักสาธารณสุขผู้มีผลงานโดดเด่นระดับโลก แล้วประกาศผลยกย่องให้ได้รับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” นับแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมา
นับมาถึงบัดนี้ พ.ศ.2565 จึงเป็นปีที่ 30 สำหรับการมอบรางวัล ซึ่งนอกจากจะมีโล่พระราชทานแล้วยังได้รับเงินสดอีก 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ไปพร้อมๆ กันด้วย
สำหรับปีล่าสุดมีผู้ได้รับรางวัล 4 ท่าน ดังที่เราเห็นในภาพและข่าวที่ได้มีการเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีดังกล่าว
ท่านแรกได้รับรางวัลใน สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ราล์ฟ เอ.ดีฟรอนโซ ศาสตราจารย์สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
อีก 3 ท่านต่อมาได้รับรางวัลใน สาขาสาธารณสุข ได้แก่ 1.นพ.ดักลาส อาร์ โลวี รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา 2.ดร.จอห์น ที ชิลเลอร์ นักวิจัยดีเด่นด้านมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐฯเช่นกัน และ 3.ศ.นพ.เอียน เอช เฟรเซอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย
ทั้ง 4 ท่านล้วนมีผลงานดีเด่นในหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ แต่น่าเสียดายที่เนื้อที่จำกัด ผมคงไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้
นอกเสียจากจะยืนยันว่า ทุกๆ ท่านได้ผ่านการคัดกรองอย่างถี่ถ้วนของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
จนเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการแพทย์และการสาธารณสุขทั่วโลกว่า “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ของประเทศไทยเรานี้เป็นรางวัลที่ทรงคุณค่าและเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่งแก่ผู้ได้รับ
ที่สำคัญเมื่อย้อนหลังกลับไปดูรายชื่อของผู้ได้รับรางวัลนี้ในอดีตนับตั้งแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมา จนถึงปี 2563 ตามที่สามารถค้นหาข้อมูลได้พบว่ามีนายแพทย์และนักสาธารณสุขศาสตร์ที่เคยได้รับรางวัลนี้…ต่อมาได้รับ “รางวัลโนเบล” อันมีชื่อเสียงระดับโลกถึง 5 รายด้วยกัน
แสดงให้เห็นว่า “รางวัล” ของประเทศไทยเรานี้เป็นที่ยอมรับและเป็น 1 ในรางวัลหลักที่คณะกรรมการ รางวัลโนเบล อันมีชื่อเสียงมากระดับโลก ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพิจารณา
ทำให้ผมในฐานะคนไทยคนหนึ่งและยังติดตามอ่านข่าวต่างประเทศเป็นประจำ เกิดความรู้สึกภูมิใจและปลื้มปีติใจทุกครั้งที่ได้อ่านพบข่าวการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลนี้ที่มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก
โดยเฉพาะปีนี้รู้สึกปีติใจเป็นพิเศษ เพราะยังจำได้ดีถึงปีแรกที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมูลนิธิฯส่งข่าวมาให้ช่วยเขียนเผยแพร่ให้คนไทยทราบด้วยนั้น ผมก็รีบเขียนให้โดยทันทีทันใดในปีดังกล่าว
เผลอแผล็บเดียว เวลาผ่านไป 30 ปี และมีแพทย์พร้อมด้วยนักสาธารณสุขทั่วโลกได้รับรางวัลไปแล้วถึง 94 ท่าน…อีกแค่ 6 ท่านจะครบ 100––จะไม่ให้ผมปลื้มใจได้ยังไงละครับ.
“ซูม”