เขาว่า “คำขวัญ” วันเด็ก สะท้อน “อุปนิสัย” คนไทย!

ดังที่ทราบกันแล้วว่า “วันเสาร์ที่สอง” ของเดือนมกราคมของทุกๆปี จะเป็น “วันเด็กแห่งชาติ” ของประเทศไทยเรา…ดังนั้นสำหรับปี 2566 ที่กำลังจะเวียนมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ “วันเด็กแห่งชาติ” จึงตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มกราคม

เป็นประเพณีของวันเด็กในประเทศไทยเราอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ผู้นำของประเทศ ณ ช่วงเวลาที่ “วันเด็กแห่งชาติ” เวียนมาบรรจบนั้น… จะต้องมอบ “คำขวัญ” ไว้ให้แก่เด็กๆ ของเราด้วย

เพื่อเป็นข้อคิดข้อพึงปฏิบัติ เพื่อให้เด็กๆนำไปคิดและไปปฏิบัติ…อันจะมีผลทำให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นพลเมืองดีของชาติสืบไป

ประเทศไทยเราจัดงานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกเมื่อปี 2499 ในยุคที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งให้คำขวัญไว้ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม”

ผมซึ่งเป็น “เด็ก” ทันวันเด็กแห่งชาติปีแรก เพราะในปีดังกล่าวผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 ที่ โรงเรียนโพฒิสารศึกษา นครสวรรค์ จำได้ว่าทางโรงเรียนจัดงานวันเด็กครั้งแรกอย่างยิ่งใหญ่มาก

จอมพล ป.ท่านวาสนาน้อย เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดงานวันเด็กขึ้นครั้งแรก…แต่ท่านก็มีโอกาสมอบคำขวัญเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพราะปี 2500 ต่อมาก็ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติจนต้องหนีไปถึงแก่อสัญกรรมที่ญี่ปุ่นในที่สุด

จอมพลสฤษดิ์อยู่ในตำแหน่ง 5 ปี มอบคำขวัญแก่เด็กไทยราว 5 คำขวัญ และหนึ่งใน 5 ท่านขอให้เด็กของท่านจงเป็นเด็กที่อยู่ใน “ระเบียบ วินัย”

ต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯนานกว่า 9 ปี อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ จึงมีโอกาสมอบคำขวัญเด็กๆถึง 9 คำขวัญ และ 1 ในจำนวนนั้น มีการพูดถึง “การมีวินัย” ไว้หนึ่งคำขวัญ

จากนั้นนายกฯ ไทยก็อยู่คนละปี 2 ปี โดยเฉพาะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นอยู่ 1 ปี จึงให้ไว้เพียง 1 คำขวัญ และก็บอกเด็กๆ ว่า ถ้าอยากให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง จงมี วินัย เสียตั้งแต่บัดนี้

“ป๋าเปรม” อยู่นานถึง 8 ปี แต่ให้เพียง 6 คำขวัญ เพราะมีอยู่ปีหนึ่ง มีการสับเปลี่ยนกำหนดวันเด็กเสียใหม่ ทำให้วันเด็กหดหายไป 2 ครั้ง

ซึ่งก็ปรากฏว่าในจำนวน 6 คำขวัญที่ป๋าเปรมมอบให้แก่เด็กๆ เป็นเรื่องของการ มีวินัย รวมอยู่ด้วยถึง 4 คำขวัญด้วยกัน

จากนั้นก็ถึงคิว “น้าชาติ” พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีโอกาสมอบ 2 คำขวัญซึ่งก็ปรากฏว่า 1 ใน 2 ท่านเน้นไปที่ “วินัย” อีกนั่นแหละ

คุณอานันท์ ปันยารชุน มาเป็น 1 ปี จึงมี 1 คำขวัญ และก็สอดคำว่า “วินัย” ไว้ในคำขวัญด้วยเช่นกัน

คุณชวน หลีกภัย มาเป็นนายกฯ สมัยแรก 2 คำขวัญเน้นเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิ่งแวดล้อม…จนมาเป็นครั้ง 2 ระหว่าง พ.ศ.2541 ถึง 2544 มีโอกาสมอบ 2 คำขวัญ มีคำว่า “วินัย” ทั้ง 2 คำขวัญ

จากนั้นคำว่า “วินัย” ก็หายไปจากคำขวัญนายกฯ หลายปี โดยเฉพาะในช่วง คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีถึง 5 คำขวัญ ไม่มีคำว่า “วินัย” แม้แต่คำขวัญเดียว

มาเริ่มมีอีกหนในยุค พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ และอีก 1 หนในยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สำหรับลุงตู่ เป็นนายกฯ แบบ “เรียลไทม์” ไป 8 ปีเศษ จึงมีโอกาสให้คำขวัญวันเด็กมากที่สุดถึง 9 คำขวัญ รวมปีที่จะถึงนี้ด้วย

8 ครั้งแรกไม่มีคำว่า “วินัย” เลย นึกว่าคนไทยเราคงมีระเบียบวินัยเรียบร้อยดีแล้ว รวมทั้งเด็กๆ ด้วย

ที่ไหนได้ ปีล่าสุดวันเด็ก 14 มกราคม 2566 นี่แหละ ท่านก็กล่าวสั้นๆ ว่า “รู้หน้าที่มีวินัยใฝ่ความดี” มีคำว่า “วินัย” จนได้

การคิดคำขวัญในบ้านเรานั้นมีคำกล่าวไว้ว่า มักจะมาจากการที่ประเทศของเรามีปัญหาต่างๆ อยู่เป็นประจำ จึงต้องมาคิดคำขวัญให้ประชาชนรับไปปฏิบัติเพื่อที่จะช่วยกันแก้ปัญหาให้หมดไปในที่สุด

หากนำทฤษฎีนี้มาใช้วิเคราะห์คำขวัญวันเด็กที่ผ่านมาจึงตีความได้ว่า คนไทยเรามีปัญหาเรื่อง “ระเบียบ วินัย” มากที่สุด…จึงต้องหยิบมาเตือนเด็กๆ ถึง 12-13 ครั้ง ในห้วงเวลากว่า 60 ปี

คำถามส่งท้ายคอลัมน์วันนี้ก็คือ…จะต้องรอไปอีกกี่ปีหนอ คำว่า “วินัย” จึงจะหลุดหายไปจากคำขวัญ “วันเด็ก” เสียที?

“ซูม”

ข่าว, คำขวัญ, วันเด็ก, นายกรัฐมนตรี, วันเด็กแห่งชาติ, วินัย, ซูมซอกแซก