ผมอ่านรายงานพิเศษของ “ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับ “วันพ่อแห่งชาติ” จันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2565 ที่ลงไว้เต็มหน้า 10 ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง เพื่อให้จดจำประเด็นหลักๆ เอาไว้ให้ขึ้นใจมากที่สุด
เผื่อว่าวันใดวันหนึ่งท่านที่ให้สัมภาษณ์ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ หรือทายาทท่านหรือผู้บริหารที่เป็นลูกน้องท่านไม่ปฏิบัติตาม หรือเบี่ยงเบนไปจากคำมั่นสัญญาที่ท่านให้ไว้ ผมจะได้ “ทวงถาม” โดยไม่ต้องกลับไปค้นคว้าหรือหาหลักฐานประกอบให้ยุ่งยากมากนัก
ผู้ให้ “สัมภาษณ์” อย่างละเอียดเกี่ยวกับมุมมองต่อ “ทิศทาง” ของโลก, รัฐบาล, เศรษฐกิจไทย และคนรุ่นใหม่ในอนาคต…ท่านนี้ ได้แก่ เจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ที่ได้รับการประกาศชื่อยกย่องให้เป็น “เศรษฐี” ที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทยมาหลายๆครั้ง ในรอบหลายๆ ปีมานี้นั่นเอง
ทุกมุมมองของท่านแหลมคมมาก และข้อเสนอหลายๆอย่างของท่านก็มีประโยชน์มาก…ผมหวังว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล รวมไปถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเรา ในทุกกระทรวง ทบวง กรม จะได้อ่านกันแล้ว
ท่านใดที่ยังมิได้อ่านก็ขอให้ไปหาอ่านเสียด้วยนะครับ…
โดยส่วนตัวผมไม่ติดใจข้อเสนอแนะและมุมมองต่างๆ ที่ผมแม้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วย แต่ก็มีบางประเด็นที่ขอสงวนไว้ว่ายังไม่เห็นด้วยนัก
แต่ประเด็นที่ผมขออนุญาตขีดเส้นใต้เอาไว้ และขอขอบคุณท่านเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นอย่างยิ่งไว้ ณ ที่นี้ก็คือ แนวความคิดและคุณสมบัติ 6 ประการ ของผู้ที่จะมาเป็น ซีอีโอ หรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในเครือ ซีพี ที่ท่านให้สัมภาษณ์ไว้ ได้แก่
1.ต้องเป็นคนใจดี 2.ต้องรู้จักให้อภัย 3.ต้องอุทิศตน 4.อดทน 5.ขยัน และ 6.กตัญญู
เมื่อพูดถึง “กตัญญู” ท่านขยายความว่า เป็นเรื่องใหญ่ เวลาจะสนับสนุนใครจะมองว่าบุคคลนั้นเป็นอย่างไร มีความกตัญญูหรือไม่?
“ไม่กตัญญูต่อพ่อแม่ ไม่รักพี่ ไม่รักน้อง เขาจะรักบริษัทหรือ…ความกตัญญูยังต้องครอบคลุมถึงประเทศชาติและประชาชนด้วย…ซีพีต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ถ้าไม่มีจุดนี้ (กตัญญู) ซีอีโออาจจะทำให้บริษัทล้มละลายในที่สุด”
จากนั้นท่านก็ขยายความต่อไปอีกถึงค่านิยมองค์กรของ ซีพี ซึ่งกำหนดไว้ 6 ข้อ และผมขออนุญาตที่จะไม่กล่าวถึงข้ออื่นๆ โดยจะย้ำจำเพาะข้อที่ 1 เพียงข้อเดียว
นั่นก็คือ…“ซีพีต้องตอบแทนประเทศชาติและประชาชน”
ดังนั้น สำหรับผมแล้ว…ประเด็นใหญ่ที่สุดของบทสัมภาษณ์บทนี้ของท่านเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ มีเพียง 2 ประโยคเท่านั้น…คือ “ซีพีต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” และ “ซีพีต้องตอบแทนประเทศชาติและประชาชน”
ถ้าท่านผู้อ่านพอจะจำได้ ผมเคยเขียนไว้ครั้งหนึ่ง เมื่อกลางปี 2564 ซึ่งช่วงนั้นดูเหมือนจะเป็นช่วงที่การระบาดของโควิด-19 รอบแรกทำท่าจะยุติ…รัฐบาลเริ่มเตรียมโครงการที่จะฟื้นฟูประเทศหลายโครงการ
ผมเสนอความคิดเห็นไว้ว่า ความเสียหายจากโควิด-19 นั้นใหญ่หลวงนัก…ลำพังกำลังทรัพย์จากภาครัฐฝ่ายเดียวคงยากที่จะกู้เศรษฐกิจกลับคืนมาได้…ต้องอาศัยความร่วมมือ โดยเฉพาะการเร่งลงทุนในด้านต่างๆของภาคเอกชนควบคู่ไปด้วย
จำได้ว่าผมพาดหัวคอลัมน์นี้ว่า “ได้เวลามหาเศรษฐี…ตอบแทนพระคุณแผ่นดิน” พร้อมกับลงรายชื่อมหาเศรษฐีที่ติดอันดับท็อปเทน ไปจนถึงท็อปทเวนตี้ของ นิตยสารฟอร์บส์ ว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกๆ ท่านทุกๆ มหาเศรษฐีจะตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทย
แต่ไม่กี่เดือนต่อมาก็เกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม โครงการส่วนใหญ่ของภาคเอกชนจึงยังไม่ทันเริ่มขึ้น
ดังนั้น เมื่อบัดนี้โควิด-19 เริ่มซาลงมากแล้ว และรัฐบาลเริ่มเปิดประเทศแล้ว ได้เวลาการฟื้นฟูประเทศอย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่ง…ผมจึงดีใจมากที่อ่านเจอคำยืนยันของท่านเจ้าสัวธนินท์ดังกล่าว
ดีใจและขอบคุณครับที่ท่านยืนยันว่า ซีพีพร้อมจะตอบแทนพระคุณแผ่นดิน…และจะคอยติดตามนะครับว่าท่านจะตอบแทนอย่างไรบ้าง…นับแต่นี้เป็นต้นไป.
“ซูม”