พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย จัดนิทรรศการ “สัมผัสประสบการณ์ใหม่: ศิลปะเกาหลีในโลกเสมือนจริง” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันอาทิตย์ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ถึงวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นการนำมรดกทางวัฒนธรรมแบบประเพณีของเกาหลีมาจัดแสดงร่วมกับสื่อดิจิทัลให้มีบรรยากาศเสมือนจริง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทำและอธิบายเรื่องราว จำนวน 2 เรื่อง ร่วมกับการแสดงประติมากรรมที่เป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาของไทยและเกาหลีประเทศละหนึ่งองค์
นิทรรศการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ชาวไทยที่มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมเกาหลีได้รับชม และในอีกด้านหนึ่งถือว่าเป็นนิทรรศการที่มีความหมายต่อวัฒนธรรม K-Culture เพราะได้นำเอามรดกทางวัฒนธรรมแบบประเพณีของเกาหลีมานำเสนอผ่านวีดิทัศน์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง ซึ่งถือว่าเป็นนิทรรศการรูปแบบใหม่ และมุ่งหวังให้นิทรรศการนี้ช่วยสร้างความเข้าใจวัฒนธรรมความเชื่อในพุทธศาสนาของทั้งสองประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อหาได้อย่างง่ายดาย โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และ Yoon Sung Yong ผู้อำนวยการใหญ่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี ร่วมพิธีเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ เมื่อเร็วๆ นี้
วัฒนธรรม K-Culture รูปแบบใหม่, นิทรรศการที่ท่านจะได้สัมผัสกับมรดกทางวัฒนธรรมแบบประเพณีของเกาหลีในรูปแบบดิจิทัล
นิทรรศการครั้งนี้มีเนื้อหาที่สำคัญคือ สื่อวีดิทัศน์ดิจิทัลเสมือนจริง เรื่อง “การเดินทางของวิญญาณ” และ “กระบวนพยุหยาตราและผู้คน” ซึ่งสร้างขึ้นจากเรื่องราวในสมัยราชวงศ์โชซอน (พ.ศ. 1935 – 2453) จากภาพจิตรกรรมในพุทธศาสนา “พญายมราชทั้งสิบ” และ อึย-คเว (แบบธรรมเนียมในราชสำนัก) บันทึกทางการของราชสำนักโชซอน ซึ่งทั้งสองรายการ เป็นสมบัติที่เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลี ได้ถูกนำเสนอด้วยวิธีการใหม่ในการเข้าไปท่องสำรวจภายในผลงานศิลปะจากอดีตโดยข้ามพ้นข้อจำกัดทางกายภาพ สื่อดิจิทัลพาโนรามาที่ฉายภาพเต็มพื้นที่ห้องจัดแสดงจะนำพาให้เราพบกับการพิพากษาหลังความตายและการเวียนว่ายตายเกิดตามคติพุทธศาสนาใน “การเดินทางของวิญญาณ” “กระบวนพยุหยาตราและผู้คน”จะนำเราไปสู่สถานที่ในการจัดพิธีกรรมใหญ่ ตามธรรมเนียมในลัทธิขงจื้อ ด้วยแสงและสีที่สวยสดงดงาม เสียงอันอลังการ รวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับโลกหลังความตายตามคติความเชื่อของชาวเกาหลี และปลุกความทรงจำอันล้ำค่าในช่วงเวลาของกระบวนพยุหยาตรา เรื่องราวที่พิเศษเหล่านี้ ได้นำเสนอผ่านมรดกทางวัฒนธรรมแบบดิจิทัลทำให้เราได้สัมผัสกับชีวิตในอดีต ณ เวลาปัจจุบันอย่างเต็มตา
นิทรรศการมรดกทางวัฒนธรรมพุทธศาสนาของไทยและเกาหลีที่มาบรรจบกันในพื้นที่เดียวกัน
นิทรรศการครั้งนี้ได้จัดแสดงประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๒ องค์ที่แตกต่างกันจากสองประเทศในโลกตะวันออกคือ เกาหลี และ ไทย รูปลักษณ์ ช่วงเวลาที่สร้าง และฝีมือช่างล้วนผิดแผก แต่รูปเคารพทั้งสองต่างก็สื่อสะท้อนถึงผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่จะช่วยเหลือมวลมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลปะเกาหลี สร้างขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษศที่ 14 ขุดพบที่วัดพงฮวังซา เมืองคยองจู ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ประติมากรรมนี้ประดับตกแต่งเครื่องศิราภรณ์ที่ประดิษฐานรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรบนพระเศียร และประดับตกแต่งพระวรกายด้วยเครื่องประดับต่างๆ พระหัตถ์ซ้ายถือหม้อน้ำอมฤต (กุณฑิกะ) พื้นผิวมีลักษณะหยาบตามเนื้อหินแกรนิตที่นำมาแกะสลัก หินแกรนิตเป็นวัสดุที่แกะสลักได้ยากเนื่องจากมีเนื้อที่ค่อนข้างหยาบ แต่ก็เป็นวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในงานประติมากรรมทางพุทธศาสนาสมัยโบราณของเกาหลีมากที่สุด ประติมากรรมหินแกรนิตจากเกาหลีมีการแสดงรูปแบบที่เป็นนามธรรมอย่างชัดเจน ในขณะที่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรของไทย สร้างขึ้นในภาคผู้บำเพ็ญพรต เกล้าผมสูงเหนือศีรษะ หรือที่เรียกว่า “ชฎามกุฎ” ที่มวยผมประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ อันหมายถึงพระธยานิพุทธอมิตาภะ และห่มหนังกวางที่พระอังสา (ไหล่) ด้านซ้าย พระเนตรมองลงเบื้องล่าง ตามพระนามของพระองค์ “อวโลกิเตศวร” อันหมายความว่า “พระผู้มองลงต่ำ” คติการนับถือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในพุทศาสนาฝ่ายมหายานมีความสำคัญและแพร่หลายจากอินเดียมาสู่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12
ไทยและเกาหลี, นิทรรศการที่เป็นการจัดร่วมกันระหว่างหน่วยงานทางวัฒนธรรมหลักของทั้งสองประเทศ
นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกาหลีกับกรมศิลปากร ประเทศไทย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ทั้งสองหน่วยงานมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๖๒ ทั้งสองหน่วยงานได้มีการลงนามความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรม อีกทั้งยังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ประจำประเทศไทย ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการทำให้นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นได้ และในวาระนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้จะทำให้มิตรภาพของไทยและเกาหลีที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรและวัฒนธรรมได้เติบโตเข้มแข็งยั่งยืน อีกทั้งเจตจำนงเดียวกันของหน่วยงานหลักทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศนี้จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศต่อไป และหวังว่าการจัดนิทรรศการรูปแบบใหม่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในโอกาสพิเศษนี้จะช่วยให้ท่านได้สัมผัสกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลีได้ง่ายและใกล้ชิดมากขึ้น และจะได้รับความรักอย่างยิ่งจากชาวไทยเช่นเดียวกับที่ท่านได้เทใจให้แก่วัฒนธรรมป็อบของเกาหลี เช่น ละคร ภาพยนตร์ และดนตรี มาก่อนนี้แล้ว