ดราม่า “ปลากุเลาตากใบ” “ควันหลง” ส่งท้าย“เอเปก”

แม้ผมจะยังปลาบปลื้มดื่มด่ำกับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเอเปกของประเทศไทย ตามประสาคนแก่ที่เติบโตมากับวัฒนธรรมที่เวลามีความสุขแล้วจะสุขอย่างพิรี้พิไร…พูดถึงคุยถึงกันเป็นแรมสัปดาห์ หรือแรมเดือนในบางเรื่อง

แต่ผมก็เข้าใจดีว่าผู้คนยุคใหม่มีเรื่องราวที่จะต้องให้ความสนใจหลายเรื่องจะมามัวพิรี้พิไรในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานนักเห็นจะไม่ได้

จึงขอจบควันหลงว่าด้วยความสุขในการเป็นเจ้าภาพเอเปก 2022 วันนี้ละครับ…รวมแล้วก็ 5 วันพอดี เพราะผมเขียนมาตั้งแต่วันจันทร์

ผมมีประเด็นเรื่อง “ซอฟต์เพาเวอร์” จากการที่รัฐบาลของเราใช้อาหารไทยมาขึ้นโต๊ะเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกอยู่ประเด็นหนึ่งครับ…คือประเด็นเรื่อง “ปลากุเลาตากใบ”

ตอนแรกที่มีข่าวจากโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้ปลากุเลาตากใบของแท้…ไปเอาปลากุเลาที่ไหนมาขึ้นโต๊ะก็ไม่รู้ ผมเห็นข่าวแล้วก็พลอยโกรธแทนชาวตากใบไปด้วยเช่นกัน

เพราะผมเป็นแฟน “ปลากุเลาตากใบ” ตัวจริงเสียงจริงคนหนึ่ง เพิ่งจะเขียน “ซอกแซก” ในฉบับวันอาทิตย์ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา

เล่าถึงตำนานคนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ เพราะปลากุเลาตากใบซึ่งมีวิธีการปรุงแต่งที่ละเมียดละไมมาก และมาจากแหล่งผลิตที่ลงตัวมาก จึงมีราคาแพงกิโลกรัมละ 1,600 บาท ผู้ซื้อจึงนิยมซื้อไปฝากผู้ใหญ่หรือฝากคนที่เคารพนับถือเสียมากกว่าซื้อไปกินเอง

เผอิญ คุณชาลอต โทณวณิก นักบริหารธุรกิจสตรี ที่ท่านผู้อ่านคงจะได้ยินชื่อเสียงพอสมควร ท่านแวะไปทำธุระที่นราธิวาส กรุณาซื้อปลากุเลาตากใบมาฝาก ทำให้ผมมีโอกาสได้รับประทานเป็นครั้งแรกในชีวิต

รู้สึกอร่อยติดปากมาโดยตลอด ดังนั้น เมื่อมีโอกาสไปเดินงาน “โอทอป” ครั้งใหญ่ ที่จัดถวาย สมเด็จพระพันปีหลวง ที่เมืองทองธานี ในห้วงเวลาดังกล่าว แล้วก็พบร้านปลากุเลาตากใบของ “ป้าอ้วน” โดยบังเอิญ จึงรีบควักกระเป๋าซื้อตัวเล็กครึ่งกิโลมา 1 ตัวทันที

พร้อมกับเขียนแนะนำ “ปลากุเลาตากใบ” เอาไว้เต็มคอลัมน์

ด้วยเหตุนี้จึงรู้สึกโกรธแทนชาวอำเภอตากใบที่โดนเท หรือโดนแกง…ไปเอาปลากุเลาที่อื่นมาย้อมแมวขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปกเสียนี่…ตามข่าวของโทรทัศน์ช่องที่ว่า

ปรากฏว่าอีกไม่กี่วันเรื่องกลับตาลปัตร เมื่อเชฟผู้ปรุงอาหารยืนยันว่าท่านใช้ปลากุเลาตากใบจริงๆ และซื้อมาจาก “ร้านป้าอ้วน” นี่แหละ

ลงท้ายทีวีช่องดังกล่าวต้องออกมาขอโทษว่าเสนอข่าวผิดพลาด มิได้ตรวจสอบข่าวให้รอบด้าน ต่อไปจะระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ผมก็เลยยิ้มออกและดีใจแทน “ป้าอ้วน” ที่ผมแวะไปซื้อปลากุเลาของท่าน นำมาทอดรับประทานด้วยความอร่อยมากอยู่หลายวัน

ขณะเดียวกัน ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่าแม้ปลากุเลาป้าอ้วนหรือปลากุเลาของพี่น้องตากใบทุกๆ ร้านจะสะอาดสะอ้าน…แต่ขึ้นชื่อว่าปลาเค็มแล้วยังไงๆ เวลาทอดก็น่าจะมีกลิ่นฉุนอยู่บ้าง

ผมจำได้ว่าเมื่อสมัยผมเรียนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด ใกล้ๆ เดนเวอร์ เมื่อ 50 ปีก่อนโน้น…มีวันหนึ่งเพื่อนผมคิดถึงเมืองไทยมากจึงทอดปลาเค็มเป็นอาหารเย็น

กลิ่นปลาเค็มคลุ้งไปทั่วอพาร์ตเมนต์จนเพื่อนร่วมอพาร์ตเมนต์โทร.ไปแจ้งตำรวจและตำรวจก็มาเตือนเพื่อนผมว่า คราวนี้ยกโทษให้หนหนึ่ง แต่คราวหน้าอย่าทอดอีกนะ ผมจับและปรับคุณแน่นอน

ผมก็เลยเป็นห่วงว่าถ้าเราจะใช้ปลากุเลาตากใบเป็นซอฟต์เพาเวอร์ส่งไปขายเมืองนอกในอนาคต เราจะสามารถลดกลิ่นลงได้ไหม? เพราะเกรงว่าถ้ากลิ่นแรงเกินไปอาจจะมีตำรวจมาเตือนคนทอดแบบที่ตำรวจรัฐโคโลราโดเคยเตือนเพื่อนผมดังกล่าว

แต่เท่าที่ผมลองถามแม่บ้านผม ที่ทอดปลากุเลาป้าอ้วนในครัวที่บ้าน เธอบอกว่าก็มีกลิ่นเหมือนกันแต่แรงน้อยกว่าปลาอินทรีเค็มเยอะจึงอาจเป็นไปได้ที่ตำรวจฝรั่งมาเตือนเพื่อนน่าจะเป็นปลาอินทรีเค็ม เพราะเมื่อ 50 ปีก่อน ไม่น่าจะมีปลากุเลาตากใบส่งไปขายที่อเมริกา

ครับ ก็ฝากเป็นข้อสังเกตไว้เท่านั้นเอง และก็ขอบคุณรัฐบาลไทยอีกหนที่ระดมอาหารไทยดังๆ หลายอย่างมาขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปก คงจะมีสักอย่างละครับที่จะกลายเป็นอาหารระดับโลกขึ้นมาได้แบบ “ผัดไทย” ของเราที่ดังมากในปัจจุบันนี้.

“ซูม”

ข่าว, เอเปค, อาหาร, ปลากุเลาตากใบ, apec2022, ดราม่า, ซูมซอกแซก