ดังที่ผมเรียนท่านผู้อ่านเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวานแล้วว่า บทสัมภาษณ์ที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวเศรษฐกิจไทยรัฐ ที่ลงตีพิมพ์ในหน้า 8 ฉบับวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคมนั้น มีคุณค่าอย่างยิ่งสมควรแก่การตัดแปะไว้ พร้อมกับเดินไปอ่านวันละหลายๆ ครั้ง เพื่อให้ขึ้นใจและจดจำ
เพราะท่านสรุปปัญหาเศรษฐกิจของโลกในนาทีนี้ไว้อย่างครบถ้วน อ่านเข้าใจง่าย และเหมาะสำหรับให้คนไทยเราทุกๆ กลุ่มได้รับรู้ไว้…ไล่มาตั้งแต่ รัฐบาลไทย ข้าราชการไทย ภาคธุรกิจเอกชน ฯลฯ
ผมเองไม่เพียงแต่จะอ่านที่ทีมข่าวเศรษฐกิจไทยรัฐ ถอดเทปนำมาลงเท่านั้น…ยังกลับไปอ่าน “สมุดจดข่าว” ประจำตัว ที่ผมนั่งจดโน่นนี่ที่เห็นว่าน่าสนใจเอาไว้เป็นการเฉพาะอีกด้วย
พบว่าที่ผมจดไว้กับที่ทีมข่าวเศรษฐกิจนำลงตีพิมพ์มีประเด็นที่ผมเห็นด้วย และได้ขีดเส้นใต้ล่วงหน้าเอาไว้ในสมุดส่วนตัวผมอีกหนึ่งประเด็น…ขออนุญาตนำมาขยายความต่อในวันนี้
ได้แก่ คำเตือนที่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ของเราจะต้องคุม “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” เท่าที่เรามีมากพอสมควร ในขณะนี้เอาไว้ให้ดี อย่าให้ขาดตกบกพร่องอะไรขึ้นเป็นอันขาด
เพราะ ทุนสำรองระหว่างประเทศ จะมีคุณค่าและมีความหมายในปีหน้า…ไม่เพียงแค่คุณค่าในทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศเท่านั้น…ยังมีคุณค่าในทาง “จิตวิทยา” ที่สูงอย่างยิ่ง
ดร.กอบศักดิ์มิได้ใช้ศัพท์แสงหรือสำนวนอย่างที่ผมเขียนมาสักครู่หรอกครับ แต่คำพูดคำอธิบายของท่านน่าจะมีความหมายในลักษณะนี้
ประเทศที่เงินทุนสำรองร่อยหรอ มีน้อย…มีไม่พอเพียง มักเป็นเหยื่อของ “ฉลาม” เฮดจ์ฟันด์ (กองทุนเก็งกำไรต่างๆ) ที่จะเข้ามาโจมตี
เหมือนที่มีข่าวว่า นายจอร์จ โซรอส เคยเข้ามาโจมตีประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2540 จนทำให้เราเกิด ภาวะต้มยำกุ้ง และต้องไปเข้าโรงเรียน ไอเอ็มเอฟ ด้วยความเจ็บปวดกว่าจะฟื้นตัวได้ใช้เวลาหลายปี
ในทางปฏิบัติเขาถือกันว่า การโจมตีเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจเสรี และเป็นความชอบธรรมที่เขาจะทำเช่นนั้น
เมื่อเขาเข้ามาเราก็ต้องเสียเวลาไปสู้กับเขา บางครั้งแพ้ บางครั้ง ชนะ และเมื่อแพ้จะไปโกรธหรือไปโทษฉลามเหล่านี้ก็ไม่ได้ ต้องโทษว่าเราอ่อนแอเอง
เหมือนเมื่อครั้งกระนั้นเราแพ้นายจอร์จ โซรอส…ทำให้ผมซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์บ้านนอก ทำงานด้านพัฒนาชนบทมาตลอดชีวิต ไม่รู้ และไม่เข้าใจใน “กติกา” สากลข้อนี้
ผมจึงโกรธนายโซรอส และเขียนด่าเอาไว้มากในคอลัมน์นี้ ก่อนที่ จะเริ่มเข้าใจขึ้นมาบ้างในตอนหลัง
เมื่อฟังคำเตือนจาก ดร.กอบศักดิ์ว่า “เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ” จะมีความสำคัญมากจึงเข้าใจในทันที
ท่านได้ฝากไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ขอให้ช่วยดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เงินบาทจะอ่อนก็ปล่อยให้อ่อนไป มันก็อ่อนกันทั่วโลกเพราะยุคนี้ก็เห็นมีแต่เงินดอลลาร์เท่านั้นที่แข็งโป๊ก
อย่าไปทำอะไรในทางที่เราจะต้องเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปง่ายๆ เด็ดขาด
ดร.กอบศักดิ์อธิบายตอนหนึ่งว่า…รายได้ระหว่างประเทศของเราบางประเภท เริ่มมีตัวเลขแปลกๆ เช่น ตัวเลขส่งออกเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าเริ่มลดลง และดูเหมือนจะติดลบมา 3 เดือนแล้ว
ท่านถึงได้เสนอว่าต้องไปเร่งการท่องเที่ยว หางบประมาณให้ ททท. ไปประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างเต็มที่ได้…เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามามากๆ จะได้มีเงินสำรองมากๆ เพื่อชดเชย
ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอข้อนี้ครับ ในฐานะคนที่เคยเห็นและผ่านเหตุการณ์อันเจ็บปวดเมื่อปี 2540…จึงหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยทำให้เราแข็งแกร่งจน “ฉลาม” เฮดจ์ฟันด์ทั้งหลายไม่อยากเข้ามาวอแวเรา
อันจะทำให้เราไม่เหนื่อยในการสู้รบป้องกันตัวเอง…ซึ่งถ้าพลาดไปก็จะเจ็บหนักอีก มิหนำซํ้าจะต้องไปเสียเวลาและใช้ทรัพยากรในการฟื้นฟูในสิ่งที่ต้องสูญเสียเพิ่มเติมนั้นเข้าให้อีก
ผมจึงเห็นด้วยกับนโยบายสร้าง “เกราะ” ป้องกัน “ฉลาม” ที่ ดร.กอบศักดิ์เสนอ และเชื่อเช่นเดียวกับท่านร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ถ้า ทุนสำรองของเรา “แข็งแกร่ง” จริงๆ หรือพวกเขานึกว่า “แข็งแกร่ง” จะช่วยป้องกันเราได้อีกทางหนึ่งครับ.
“ซูม”