“เศรษฐกิจโลก” ยังน่าห่วง ทุก “เครื่องยนต์” ต้องทำงาน

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังน่าห่วงใย และขอร้องให้ “กลไก” หลัก หรือ “เครื่องยนต์” หลัก 4 เครื่อง ในการพัฒนาประเทศเข้ามาผนึกกำลังแก้ไขปัญหาอันหนักหน่วงนี้ตั้งแต่บัดนี้

4 เครื่องยนต์สำคัญที่เป็น “พลังหลัก” ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (และแน่นอนเวลาเกิดปัญหาเศรษฐกิจก็จะเป็นพลังหลักในการแก้ไขด้วย) ได้แก่ 1.ภาคการเมือง 2.ภาคราชการประจำ 3.ภาคเอกชน และ 4.ภาคประชาชน นั่นเอง

วันนี้ขออนุญาตเขียนต่อนะครับ เพราะได้รับข่าวสารที่ชัดเจนจากสถาบันด้านพัฒนาเศรษฐกิจและการเงินสำคัญของโลก 2 แห่ง ออกมาเตือนว่า ภาวะวิกฤกติของเศรษฐกิจโลกยังไม่คลี่คลายลง และอาจจะรุนแรงขึ้นในปลายปีนี้ เชื่อมโยงไปถึงกลางปีหน้าอีกด้วย

เริ่มจากธนาคารโลกที่ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจโลกจะ ถดถอย เพิ่มขึ้นในปีหน้า เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจนทำให้ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวลง

อีกทั้งยังมีปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บวกกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่อเค้าจะยืดเยื้อต่อไปอีกยาวนาน

การคาดการณ์ของธนาคารโลกที่ว่านี้สอดคล้องกับการมองของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงเสี่ยงต่อภาวะขาลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2565 (ปีนี้)

ในขณะที่บางประเทศอาจเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจยาวไปจนถึงปี 2566 เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และเงื่อนไขในตลาดการเงินที่เข้มงวดขึ้น

ไอเอ็มเอฟ ประเมินตัวเลขการเติบโตของปี 2566 ไว้ที่ 2.9 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากตัวเลขของปีก่อนหน้า 0.3 เปอร์เซ็นต์

ครับ อ่านแล้วก็ค่อนข้างชัดเจนว่า โลกเราคงหลบเลี่ยงพายุลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจไม่พ้น และจะต้องเผชิญกับมันตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้ไปจนถึงกลางปีหน้าเป็นอย่างน้อย

เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมต้องหยิบมาเขียนถึงในวันนี้อีกครั้ง เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ในการจะนำพาประเทศไทยของเราฝ่า “พายุเศรษฐกิจ” หันมาร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถ

จากเครื่องยนต์หลักทั้ง 4 ประการ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่กล่าวถึงข้างต้น ผมได้แสดงความกังวลไว้ตั้งแต่เมื่อวานแล้วว่า เครื่องยนต์ “ด้านการเมือง” มีความอ่อนแอที่สุด

เกิดภาวะเครื่องยนต์ขัดข้องจนแทบจะทำงานอะไรไม่ได้เลย เหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง หรือการเตะตัดขากัน เพื่อหาคะแนนเสียงอย่างที่เป็นข่าวในขณะนี้

ทำให้โอกาสที่เราจะพึ่งพากลไกด้านการเมืองในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้น้อยลงไปทุกขณะ

ผมจึงหันมาฝากความหวังไว้กับภาค “ข้าราชการประจำ” ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ผมทราบว่าทุกวันนี้ยังคงติดตามสถานการณ์ และทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง

โดยเฉพาะ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นหน่วยสำคัญหน่วยหนึ่งในสถานการณ์ครั้งนี้…ผมขอให้กำลังใจเป็นพิเศษ

รวมไปถึง ภาคธุรกิจเอกชน อันมีธนาคารต่างๆ เป็นทัพหน้าและบริษัทของท่านเศรษฐี 10 อันดับแรกของประเทศ ตลอดจนองค์กรใหญ่อีก 2 องค์กรที่ผมถือว่าเป็นภาคเอกชนด้วย ได้แก่ ปตท. และ SCG

ความสำเร็จในการเดินหน้าและอยู่รอดของธุรกิจเหล่านี้จะเป็นความสำเร็จของประเทศเราด้วย เมื่อนำมารวมกัน

ส่วนภาคประชาชนอย่างเราๆ ถือว่าเป็น “ผู้ตาม” ก็คงจะต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมจะให้ความร่วมมือต่อแนวทางการปฏิบัติ และยุทธวิธีสู้รบต่างๆ ที่จะกำหนดขึ้นในการต่อสู้ต่อไป

ส่วนเครื่องจักรที่สำคัญที่สุดคือ “ด้านการเมือง” ที่ผมสรุปว่าเละตุ้มเป๊ะไปหมดนั้น…ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะหันมาจับมือกัน

ลดเรื่องตัดแข้งตัดขา ลดเรื่องหาเสียงจนเป็นเหตุให้ทะเลาะกันวุ่นวายลงบ้างเถิด เพราะสถานการณ์ที่หนักหนาสาหัสอย่างทุกวันนี้จำเป็นเหลือเกินที่ “เครื่องยนต์” ทุกเครื่องของประเทศไทยจะต้องทำงานและออกเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน.

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจโลก, การเมือง, ประเทศไทย, การเงิน, ซูมซอกแซก