เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีข่าวกีฬาใหญ่มากของยุโรปเกิดขึ้นข่าวหนึ่ง ได้แก่ ข่าวนักเตะทีมชาติหญิง “อังกฤษ” หรือ “สิงโตสาว” พิชิตนักเตะหญิงเมืองเบียร์ หรือ “เยอรมนี” ได้ 2–1 คว้าแชมป์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรปหญิงที่เรียกว่า “ยูโร 2022” ไปครอง
คนอังกฤษตื่นเต้นมากแล้วก็ดีใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกของการแข่งขันฟุตบอลยูโรหญิงที่แข่งมาแล้ว 13 ครั้ง ที่อังกฤษสามารถคว้าแชมป์มาครองได้
คนดูในสนามเวมบลีย์ 87,192 คนสูงสุดทำลายสถิติการแข่งขันชิงแชมป์ฟุตบอลไม่ว่าชายหรือหญิงในยุโรปในช่วงนี้ ต่างไชโยโห่ร้อง
คนดูชาวอังกฤษทางทีวีกว่า 20 ล้านก็ตื่นเต้นดีใจไปทั่วประเทศ เพราะทั้งๆ ที่อังกฤษเป็นผู้คิดค้นกีฬาฟุตบอล แต่พวกเขากลับไม่ได้ชัยชนะในการแข่งขันรายการใหญ่มากนัก
ฟุตบอลโลกชายได้ครั้งเดียว เมื่อ ค.ศ.1966 บอลยูโรชายแข่งมาแล้ว 16 ครั้ง นับแต่ปี 1960 อังกฤษเข้าชิงหนเดียวคือเมื่อปี 2020 แล้วก็แพ้ยิงลูกโทษให้อิตาลีไป 2-3 หลังเสมอในเกม 1-1
ในขณะที่ยูโรหญิงเริ่มเตะมาตั้งแต่ 1984 อังกฤษได้รองแชมป์ในปี 1984 กับปี 2009 โดยเฉพาะในปี 2009 ชิงกับเยอรมนีนี่แหละโดนถลุงเสีย 6-2 ดังนั้น เมื่อมาเป็นแชมป์ได้ในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการครองแชมป์ครั้งแรกของฟุตบอลหญิงอังกฤษในถ้วยยุโรปด้วย แถมยังได้ล้างตาเยอรมนีคู่ปรับเก่าอย่างสะใจ
คนอังกฤษจึงเฮกันทั้งประเทศกลายเป็นข่าวใหญ่พาดหัวสื่ออังกฤษและหน้ากีฬายุโรปในวันรุ่งขึ้น
และทันทีที่ทีมสิงโตสาวคว้าถ้วยยุโรปปีนี้มาครอง เสียงเพลงเพลงหนึ่งก็ดังลั่นทั่วสนามเวมบลีย์…นั่นก็คือเพลง Sweet Caroline จากการร้องของนักร้อง “ป๊อป” ที่โด่งดังมากของสหรัฐฯ ยุคปี 70 นีล ไดมอนด์ นั่นเอง
วันรุ่งขึ้น ทีมสิงโตสาวขึ้นรถแห่ไปที่จัตุรัส ทราฟัลการ์ กลางกรุงลอนดอน ที่มีน้ำพุมีสิงโตเฝ้าอยู่รอบๆ และมีเสาสูงพุ่งขึ้นไปบนอากาศและข้างหน้ามีอาคารเก่าแก่หลายอาคารรวมทั้ง “หอศิลป์” อันยิ่งใหญ่ของอังกฤษที่นักท่องเที่ยวมักจะไปเยี่ยมเยือน
พวกเธอไปหยุดขบวนท่ามกลางแฟนบอลอังกฤษที่มาร่วมฉลองอย่างล้นหลามที่นี่ พร้อมกับร้องเพลง Sweet Caroline กระหึ่มกึกก้อง
ทำให้เพลง Sweet Caroline ซึ่งทีมหญิงอังกฤษใช้เป็นเพลงประจำทีม และฝ่ายการจัดการแข่งขันยูโรหญิงครั้งนี้ของอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าภาพนำมาเป็นเพลงโปรโมตการแข่งขันด้วย… กลับมาฮิตในอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรอก ที่เพลง Sweet Caroline กระหึ่มสนามกีฬาและกลายเป็นเพลงเชียร์กีฬาที่โด่งดัง…ดังที่ทีมชาติหญิงอังกฤษนำมาเป็นเพลงประจำทีมในศึกยูโรหญิงครั้งนี้
แท้ที่จริงแล้ว “สวีท แคโรไลน์” ซึ่งมีเนื้อร้องที่ปลอบขวัญให้ความอบอุ่นกระตุ้นความรู้สึก และสามารถสะบัดมือหรือชูมือโบกไปมาได้ในหลายๆ จังหวะนั้นเป็นเพลงฮิตในแวดวงกีฬามานานแล้ว
ที่โด่งดังมากก็คือ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า “บิ๊กเทน” ของอเมริกา ซึ่งได้นำเพลงนี้มาเป็นเพลงเชียร์ทีม “อเมริกันฟุตบอล” ของมหาวิทยาลัยมากว่า 20 ปีแล้ว
ในเกมเหย้าของ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ซึ่งจะมีพวกเขาเองกว่า 40,000 คนเข้าไปเชียร์นั้น จะมีการร้องประสานเสียง Sweet Caroline อย่างกึกก้องและพร้อมเพรียง โดยเฉพาะท่อนที่ส่งเสียงตะโกนประกอบจะดังกระหึ่มมาก
ที่สนามเบสบอล “เฟนเวย์ ปาร์ค” ในบอสตัน รัฐแมสซาชูเสตต์ ก็จะมีการเปิดเพลงนี้เป็นประจำ และในที่สุดก็กลายเป็นเพลงประจำสนามเมื่อ “บอสตัน เรดซอกซ์” ทีมเบสบอลดังของเมืองลงแข่งขัน
มีตำนานว่าเมื่อปี 1997 หรือประมาณ 25 ปีที่แล้ว พนักงานเปิดเพลงประจำสนามตั้งใจจะแสดงความยินดีกับเพื่อนที่คลอดลูกและตั้งชื่อลูกว่า Caroline โดยนำเพลง Sweet Caroline มาเปิดในสนามระหว่างพักการแข่งขัน ปรากฏว่าแฟนชอบมากร้องตามและปรบมือสนุกกันใหญ่
ทำให้ผู้บริหารของทีมซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยดีดนิ้วทันทีว่าเพลงนี้เหมาะมากกับที่นี่…จึงนำมาเป็นเพลงประจำสนามและจะเปิดบางท่อนเสมอๆ เวลาทีม “เรดซอกซ์” ทำคะแนนนำ
ไม่เพียงแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น เพลงนี้ยังไปฮิตในสนามกีฬาที่ “ไอร์แลนด์เหนือ” ที่ “ไอร์แลนด์” และอีกหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งในอังกฤษก็เคยมีแฟนบอลของทีม แอสตันวิลลา กับ เชลซี เอามาร้องอยู่บ่อยๆ ครั้ง
เพลง Sweet Caroline เป็นเพลงที่ นีล ไดมอนด์ นักร้องเพลงป๊อปชื่อดังของสหรัฐฯ บันทึกแผ่นเสียงเมื่อปี 1969 (พ.ศ.2512) แล้วดังระเบิดเถิดเทิง
นีล ไดมอนด์ ซึ่งเกิดเมื่อ ค.ศ.1941 จึงมีอายุ 28 ปี ในช่วงที่เพลงนี้ฮิตในสหรัฐฯ…เขาให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้ ซึ่งเขาแต่งเองด้วย มาจากภาพปกของนิตยสารหลายฉบับได้ลงภาพของเด็กหญิงเล็กๆ คนหนึ่งบนหลังม้า
เพราะเด็กหญิงที่ว่านี้ก็คือ แคโรไลน์ เคนเนดี้ บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของสหรัฐฯ จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ที่ถูกมือปืนลอบสังหารที่เมืองดัลลัสเมื่อ ค.ศ.1963 เป็นข่าวใหญ่ก้องโลกมาแล้ว
นีลให้สัมภาษณ์ว่า เขาเห็นภาพเด็กหญิงกำพร้าบิดาที่เคยยิ่งใหญ่ และทรงคุณประโยชน์แก่ประเทศอย่างเหลือลํ้า ก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะแต่งเพลงนี้ให้แก่เธอ (ซึ่งขณะนั้นอายุ 11 ปี)
มาถึงวันนี้ นีล ไดมอนด์ อายุ 81 ปีเศษๆ แล้วยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อ 18 มิ.ย.ก็ยังมาร้องเพลงนี้สดๆ ในสนามบอสตัน
อยากรู้ว่าเพลงนี้มันส์อย่างไร? ทำไมจึงถูกใจคนกีฬานัก ลองเข้าไปค้นหาฟังในยูทูบได้เลยครับ
ที่สำคัญอย่าลืมคลิกไปที่ “Sweet Caroline at Pitt” ซึ่งเป็นการร้องของนักศึกษามหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ระหว่างเชียร์ฟุตบอลด้วย แล้วจะทราบว่าทำไมเพลงนี้จึงยิ่งใหญ่เหลือเกินในฐานะเพลงเชียร์กีฬา.
“ซูม”