เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมามี “ดราม่า” ระหว่างประเทศทางออนไลน์เกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง ได้แก่ “ดราม่าดอกลำดวน” ซึ่งมีการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน ระหว่างชาวเน็ตไทยกับชาวเน็ตกัมพูชา…ว่า “ดอกลำดวน” เป็นดอกไม้ของใครกันแน่?
เรื่องของเรื่องเริ่มมาจากโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส 2” ของ GDH ที่จะออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปในวันที่ 28 ก.ค.นี้…มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ดอกลำดวน…แทนความรักที่ยั่งยืน” อยู่ในภาพของพระเอก โป๊ป-ธนวรรธน์ และนางเอก เบลล่า-ราณี พร้อมทั้งล้อมกรอบด้วย “ดอกลำดวน” สีเหลืองจำนวนหนึ่ง
ทันทีทันใดนั้นเองก็มีชาวเน็ตกัมพูชารายหนึ่งเข้ามาแสดงความเห็นว่า “ขอบคุณสำหรับการส่งเสริมดอกไม้ประจำชาติของเรา (กัมพูชา) ให้โลกรู้ แต่ครั้งหน้าอย่าลืมให้เครดิตเจ้าของด้วย”
ชาวเน็ตไทยอ่านเจอเข้าก็ตอบโต้ทันที เกิดสงครามตอบโต้เรื่อง “ดอกไม้ประจำชาติ” ยาวเหยียด และโต้ไปยาวๆ เข้าก็ชักรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
จริงๆ แล้วพืชพันธุ์ธัญญาหารหรือพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ยืนต้นต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เหมือนๆ กันนั่นแหละ เพราะอยู่ในเขตภูมิศาสตร์เดียวกัน
ต้น “ลำดวน” ต้นแรกจะขึ้นที่ประเทศไหนก่อนไม่ทราบ แต่ในที่สุดแล้ว ผมก็พบว่าปลูกและขึ้นอยู่ทุกประเทศในย่านนี้
นอกเหนือจากคำชี้แจงจากกองเชียร์ฝ่ายไทยที่บอกว่า จังหวัดศรีสะเกษใช้ดอกลำดวนเป็นสัญลักษณ์มานานแล้ว ผมเองก็เห็นดอกลำดวนและต้นลำดวนที่นครสวรรค์บ้านเกิดผมมาตั้งแต่เด็กๆ และกินขนมดอกลำดวนมาตั้งแต่เด็กๆ เช่นกัน
โตขึ้นมาหน่อยผมยังรู้จักคนไทยที่ชื่อ “ลำดวน” อีกหลายๆ ราย มีอยู่รายหนึ่งเป็นเพื่อนสนิทผมเลย ชื่อ ลำดวน ภวัครานนท์ จบอักษร ศาสตร์เกียรตินิยมจากจุฬาฯ ด้านคณิตศาสตร์ มาทำงานที่ สภาพัฒน์ รุ่นใกล้ๆ กัน โต๊ะทำงานติดกัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปในภายหลัง
ที่สำคัญวรรณคดีไทยอย่างเรื่อง “ลิลิตพระลอ” ที่แต่งไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (กว่า 500 ปีแล้ว) ก็ได้เอ่ยถึง “ดอกลำดวน” ไว้เช่นกัน
ผมก็หวังว่าชาวเน็ตกัมพูชาที่ตั้งข้อสังเกต คงจะยอมรับฟังคำชี้แจงจากผู้มีใจเป็นกลางและเข้าใจในวัฒนธรรมตลอดจนพืชพันธุ์ธัญญาหาร ต่างๆ ที่กรุณามาช่วยโพสต์ชี้แจงในระหว่างถกเถียง
ว่า…พืชพันธุ์หรือวัฒนธรรมเหล่านี้ มีอยู่ทั่วไปใน “อุษาคเนย์” หากจะมีอะไรทับซ้อนกันบ้างก็อย่าไปคิดอะไรมาก
โดยส่วนตัวแล้วผมมีความคุ้นเคยกับกัมพูชาพอสมควร ไปกินไปเที่ยวพนมเปญหลายหน โดยการชักชวนของ “คุณอ๊อด” สุภชัย วีระภุชงค์ ทายาทคนโตของ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด เจ้าของยาแก้หวัด “ทิฟฟี่” ซึ่งไปลงทุนในธุรกิจหลายๆ อย่างที่โน่น
ผู้ใหญ่ทางการเมืองของกัมพูชาที่ผมเคยคุยด้วย เคยสัมภาษณ์นับ 10 ครั้ง ได้แก่ ท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม เตียบัญ หรือ สมเด็จพิชัยเสนาเตียบัญ ผู้มีบารมีเป็นอันดับ 2 รองจากท่าน ฮุน เซน
ท่านน่ารักมากคุยสนุกความเข้าใจและเป็นมิตรกับคนไทยอย่างยิ่ง รวมทั้งชาวกัมพูชาอื่นๆ ที่ผมมีโอกาสพบก็ล้วนมีความรู้สึกที่ดีต่อเรา
แต่ก็คงจะมีชาวกัมพูชาส่วนน้อยอยู่บ้างที่ไม่รักไม่ชอบคนไทย ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่พยายามยุยงให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่เสมอ
ผมก็หวังว่า “ดอกลำดวน” และคำพูดไม่กี่วลีในแผ่นโปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส 2 แผ่นเดียวที่ว่า จะไม่กลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” นะครับ
ในทางตรงข้ามกลับจะกลายเป็น ดอกลำดวน แห่งมิตรภาพระหว่าง 2 ประเทศ ให้รักกันยั่งยืนสืบไป ทำมาหากินและค้าขายกันตลอดไป
อนึ่ง สําหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ “คุณเก้ง-จิระ มะลิกุล” โปรดิวเซอร์ ให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์มาเชิญผมไปดูด้วยในรอบพิเศษสำหรับสื่อมวลชน แต่ด้วยความหวาดกลัว “โควิด–19” ทำให้ผมไม่กล้าเข้าโรงหนังมา 2 ปีแล้ว จึงตอบฝ่ายประชาสัมพันธ์ไปว่าผมยังไม่พร้อม
แต่มาถึงตอนนี้ชักอยากดูเสียแล้วซี ตั้งใจว่ารอให้เข้าฉายสักพักหนึ่ง และผู้คนเริ่มบางลงแล้ว โดยเฉพาะรอบบ่ายๆ ผู้คนไม่มากนัก…ผมจะสวมแมสก์พกแอลกอฮอล์ขวดเล็กไปดูสักรอบ
ขอให้ภาพยนตร์ “บุพเพฯ 2” ประสบความสำเร็จไม่แพ้ “บุพเพฯ 1” ตอนที่เป็นละครทีวีนะครับ…คุณเก้งครับ.