ย้อนอดีต “ดนตรีในสวน” “สวนลุมฯ” ในความทรงจำ

ช่วงนี้ข่าวคราวเรื่องการจัดแสดงดนตรีในสวนสาธารณะทั้งสวนใหญ่และสวนเล็กต่างๆทั่วกทม. กลับมาเป็นที่พูดถึงของคน กทม.อีกครั้ง

เพราะในแต่ละ “เสาร์-อาทิตย์” จะมีโปรแกรมเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของฝ่ายประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร แจ้งให้ทราบว่า จะมีการแสดงดนตรีที่สวนไหนกันบ้าง

หลังจากประสบความสำเร็จในการจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน ที่สวนรถไฟ ตามมาด้วยวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน ที่สวนลุมพินี ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าศาลาภิรมย์ภักดี หรือ “ศาลาแปดเหลี่ยม” ดังที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แม้โครงการดนตรีในสวนจะเป็น 1 ในนโยบายกว่า 200 นโยบาย ที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประกาศในระหว่างหาเสียงและทันทีที่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งพอดีกับโควิด-19 เริ่มซาลง รัฐบาลจึงประกาศคลายกฎเหล็กต่างๆ เป็นโอกาสที่จะมีการจัดดนตรีในสวนขึ้นได้ตามนโยบายของท่านผู้ว่าฯ ใหม่

แต่เราก็คงจะต้องให้เครดิตย้อนหลังไปถึงผู้ว่าฯ กทม. หรือแม้แต่ท่านนายกเทศมนตรี เทศบาลนครกรุงเทพ ในอดีตด้วยที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของ ดนตรีในสวน หรือดนตรีเพื่อประชาชนในรูปแบบต่างๆ มาโดยตลอด

โดยเฉพาะที่ สวนลุมพินี…สวนสาธารณะเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย (จะมีอายุครบ 100 ปีใน พ.ศ.2568) นั้นได้มีการจัด “ดนตรีเพื่อประชาชน” ซึ่งมีทั้ง “ดนตรีในร่ม” หรือใน “ฟลอร์ลีลาศ” และ “ดนตรีกลางแจ้ง” หรือการจัดที่กลางสนามหญ้าหน้าเวที ซึ่งมุงหลังคาด้วยแผ่นกระเบื้องสีอิฐที่เรียกว่า “ศาลาแปดเหลี่ยม” สลับกันไปมาอยู่ตลอด

เท่าที่ค้นเจอจากเอกสารเก่าๆ ที่มีการบันทึกไว้ ทำให้ทราบว่าเทศบาลนครกรุงเทพได้มีการจัดดนตรีเพื่อประชาชนมาตั้งแต่ พ.ศ.2490 กว่าๆ โดยเฉพาะการจัดขึ้นในช่วงค่ำวันศุกร์ ณ อาคารที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “อาคารลุมพินีสถาน” แต่ชาวบ้านในยุคนั้นมักจะเรียกว่า “อาคารลีลาศ สวนลุมพินี” น่าจะเริ่มขึ้นราวๆ พ.ศ.2500

วงดนตรีที่ใช้บรรเลงส่วนใหญ่จะเป็นวงของครู สุทิน เทศารักษ์ ซึ่งน่าจะอยู่ในสังกัดของเทศบาลนครกรุงเทพนั่นเอง…สลับกับวงดนตรี “วายุบุตร” ของสำนักงานสลากกินแบ่ง ที่มี ครูเชาว์ แคล่วคล่อง เป็นหัวหน้าวง และวงดนตรี “สุนทราภรณ์” ที่มี ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง นานๆ จะมีวง “คีตะวัฒน์” ของ ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ มาสลับฉากบ้าง

ในช่วงเย็นๆ ค่ำจะเป็นการบรรเลงดนตรีสลับการร้องเพลงขับกล่อมประชาชนที่มารับประทาน อาหาร เพราะจะมีการจัดโต๊ะอาหารไว้รอบๆ อาคาร แต่พอ 3 ทุ่ม ก็แปรสภาพจากร้านอาหารเป็นเวทีเต้นรำให้ประชาชนได้ยืดเส้นยืดสาย ย่อยอาหารหลังรับประทานอิ่มแล้วกลางฟลอร์เต้นรำอันกว้างขวางของอาคารดังกล่าว

จุดอ่อนของการจัดดนตรี เพื่อประชาชนในลักษณะนี้ก็คือผู้ที่จะเข้าไปฟังเพลงหรือเต้นรำได้จะต้องมีเงินพอที่จะจองโต๊ะ หรือสั่งอาหารมารับประทานได้เท่านั้น…ประชาชนทั่วๆ ไปไม่สามารถเข้าฟังได้เลย

ทางเทศบาลนครกรุงเทพ จึงมักจะจัดดนตรีวงเล็กไปบรรเลงที่ศาลาแปดเหลี่ยมสลับฉากอยู่บ่อยๆ เพื่อให้ประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสพักผ่อนหย่อนสมองด้วย โดยการนั่งฟังเพลง ในลานหญ้าหน้าศาลา โดยไม่มีการเต้นรำใดๆ

สำหรับอาคารลีลาศสวนลุมพินี หรือ อาคารลุมพินีสถาน ในยุคนั้น ได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่ทันสมัยที่สุดด้านการแสดงดนตรีของประเทศไทย เพราะเวทีดนตรีจะหมุนได้เป็นวงกลม เมื่อจะมีการเปลี่ยนวงหรือสลับวง วงดนตรีที่จะออกมาใหม่และรออยู่ด้านหลัง จะบรรเลงเพลงเดียวกันกับวงที่อยู่ด้านหน้า

ด้วยความทันสมัยที่เวทีหมุนได้ ทำให้การบรรเลงของวงดนตรี 2 วง ต่อเนื่องกันได้ โดยไม่หยุดชะงักนี่เอง จึงเป็นที่ชื่นชอบของคณะกรรมการจัดงาน “บอลล์” หรืองานราตรีสโมสรต่างๆ ที่มีการเต้นรำเป็นหลักอย่างมาก เพราะจะทำให้นักเต้นรำ สามารถเต้นรำได้โดยไม่ต้องหยุดพัก เลย เมื่อมีการเปลี่ยนวงดนตรี

ด้วยเหตุนี้ อาคารลุมพินีสถาน ซึ่งใช้เป็นเวทีแสดงดนตรีเพื่อประชาชนในคืนวันศุกร์ จึงมักจะได้รับการ “เช่า” จัดงาน “บอลล์” หรืองานราตรีสโมสรในวันเสาร์ต่ออีก 1 วัน

มีการจองคิวยาวเหยียดติดต่อทะลุปีไปเลย ทีเดียวมีทั้งงานของพี่น้องชาวภาคต่างๆ ที่มาอยู่กรุงเทพฯ จัดขึ้นเรียกว่า “งานอีสานบอลล์” บ้าง “งานทักษิณบอลล์” บ้าง “ล้านนาบอลล์” บ้าง

รวมไปถึงงานฉลองปริญญาของมหาวิทยาลัย ใหญ่ๆ ในยุคนั้น เช่น จุฬา, ธรรมศาสตร์, เกษตร ศาสตร์ และงานฉลองกระบี่ของโรงเรียนนายร้อย นายเรือ นายเรืออากาศ และนายร้อยตำรวจสามพราน ซึ่งจะต้องมีการเต้นรำหรือลีลาศเป็นหลัก จึงนิยมมาจัดที่เวทีลีลาศสวนลุมพินี

ครับ! ก็ถือโอกาสขยายความไปถึงงานบอลล์ ในคืนวันเสาร์ที่โด่งดังมากระหว่าง พ.ศ.2500 ถึง 2515 เป็นของแถมให้ด้วย ในฐานะที่งานดังกล่าวนี้ แตกหน่อออกมาจากรายการดนตรีเพื่อประชาชน ในวันศุกร์ นั่นเอง

หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสอยู่ร่วมในงานดนตรีเพื่อประชาชนที่ว่านี้ทั้งคืนวันศุกร์และคืนวันเสาร์ นับเป็นร้อยๆ งานเห็นจะได้ ยังจำภาพต่างๆ ติดตาตรึงใจมาจนถึงทุกวันนี้

แฮ่ม! หัวหน้าทีมไม่ใช่หนุ่มสังคมมีเงินเหลือใช้ เที่ยวงานบอลล์ทุกงานนะครับ อย่าเข้าใจผิด…ที่บอกว่าเคยร่วมหรืออยู่ในงานมานับร้อยๆ งานหรือร้อยครั้ง ก็เพราะเคยเป็น “บ๋อย” ของเวทีลีลาศ ลุมพินี สมัยเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 อยู่เกือบปีเต็มๆ นั่นเอง

ค่าจ้างวันศุกร์ 30 บาท วันเสาร์งานบอลล์ 50 บาท ดูเหมือนจะไม่สูงนัก แต่ค่าทิปนี่ซีชื่นใจ เหลือเกิน วันศุกร์อาจไม่เท่าไรแค่ 40-50 บาท ทว่าในคืนวันเสาร์จะกลายเป็น 100 บาท หรือ 200 บาทขึ้นมาทันที สำหรับงานบอลล์ต่างๆ

ยิ่งดึกยิ่งทิปมาก ถือเป็นรายได้สำคัญช่วยส่งเสริมการเรียนของหัวหน้าทีม ในช่วงนั้นได้อย่างดียิ่ง

สรุปว่า ดนตรีในสวนมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ แล้วครับ ทั้งในรูปแบบที่เล่ามานี้ และในรูปแบบ อื่นๆ แต่ก็นั่นแหละเมื่อท่านผู้ว่าฯ ใหม่มาจุดพลุ ขึ้นอีกหน ในฐานะบ๋อยเก่าและแฟนเพลงรุ่นเก่า ที่เดี๋ยวนี้ก็ยังชอบเพลงเหล่านี้อยู่ ขอขอบพระคุณท่านไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, สวนลุมพินี, อาคารลีลาศสวนลุมพินี, อาคารลุมพินีสถาน, สุนทราภรณ์, ซูมซอกแซก