ท่านผู้อ่านที่ติดตามการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของท่านเมื่อเร็วๆ นี้ คงจะจำได้ถึงคำเตือนเรื่อง “มรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่” หรือ Perfect Storm ที่เกิดขึ้นพร้อมกันใน 3 ทวีป จะนำไปสู่วิกฤติสำคัญของโลกใน 3-4 ประเด็นด้วยกัน
นั่นก็คือ วิกฤติราคาพลังงาน, วิกฤติอาหารของโลก, ตลาดเงินโลกผันผวน และเศรษฐกิจโลกถดถอย อันเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบ 80 ปี นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
บทวิเคราะห์ของ ดร.กอบศักดิ์ได้รับการส่งต่อหรือ Share ออกไปอย่างกว้างขวางในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้
หวังว่าท่านผู้อ่านคงจำได้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ท่านนี้ก็คือ 1 ใน “4 กุมาร” ที่ยุคหนึ่งเคยเป็นมือเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลบิ๊กตู่ ต่อมาจะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบทั้ง 4 กุมาร ที่ว่าต้องหลุดจากตำแหน่งกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า บางกุมารจะกลับมาตั้งพรรคใหม่เพื่อลงสู้ศึกการเมืองต่อ…แต่สำหรับ ดร.กอบศักดิ์ นั้นได้ประกาศล้างมือในอ่างทองคำไม่หวนกลับคืนยุทธภพทางการเมืองโดยเด็ดขาด
เพราะกลับไปรับตำแหน่งที่อบอุ่นและมั่นคงมาก (เงินเดือนก็คงจะสูงด้วย) ในฐานะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารที่ท่านเคยทำงานมาก่อนแล้วเป็นเวลาหลายปี…ก่อนจะไปปรากฏตัวในฐานะ 4 กุมารทางการเมือง
ตำแหน่งแห่งที่ที่ธนาคารบัวหลวงล่าสุดนี่เอง ทำให้ผมมั่นใจว่าคำเตือนของท่านที่เผยแพร่อย่างกว้างขวางในขณะนี้เป็นคำเตือนโดยบริสุทธิ์ใจ โดยไม่มีเงื่อนงำทางการเมืองใดๆ มาแอบแฝง
ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงได้อ่านคำเตือนทั้งหมดแล้วสำหรับวันนี้ ผมขอยกตัวอย่างเฉพาะคำเตือนกรณีของสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะข้อมูลของสหรัฐฯล่าสุดดูจะใกล้เคียงกับที่ ดร.กอบศักดิ์เคยทำนายไว้ทุกขณะ
ท่านทำนายไว้ตอนหนึ่งว่า จากการประเมินผลกระทบโควิดพลาด ทำให้เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) มือหนักใส่ยากระตุ้นเศรษฐกิจไปมากกว่าที่ควรทั้งดอกเบี้ยและสภาพคล่อง เป็นเหตุให้เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจึงมีปัญหาในการควบคุมเงินเฟ้อจนต้องมาวิ่งไล่ปัญหาอยู่ในขณะนี้ และอาจนำไปสู่สถานการณ์ต่างๆ ดังนี้
- วิกฤติความผันผวนในตลาดการเงินโลก ที่หลายเดือนที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ผันผวนแปรปรวนเหวี่ยงไปมา ทั้งในส่วนของราคาหลักทรัพย์ พันธบัตร คริปโต ค่าเงิน ทำให้ฟองสบู่ที่พองมากขึ้นในช่วงโควิดยุบตัวลงมา สร้างความเสียหายให้แก่ทุกคนอย่างกว้างขวาง
- โอกาสที่จะเกิด Recession (เศรษฐกิจถดถอย) ในสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากดอกเบี้ยของเฟดที่จะต้องขึ้นไปจนสูงพอที่จะปราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัด และยิ่งวิกฤติในยุโรป (จากสงครามรัสเซียยูเครน) ยังไม่จบปัญหาเงินเฟ้อก็จะยิ่งยืดเยื้อ
- โอกาสเกิด Emerging Market Crisis ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ที่ในขณะนี้เราเริ่มเห็นประเทศเล็กๆ ซึ่งอ่อนแอ เช่น ศรีลังกา ปากีสถาน กำลังเผชิญวิกฤติและปัญหา ก็ลุกลามไปทดสอบประเทศอื่นๆ เช่น เนปาล จนเกิดคำถามขึ้นว่า “ใครจะเป็นรายต่อไป”
คำทำนายเหล่านี้ เผยแพร่เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมนี่เอง มาถึงวันที่ผมเขียนต้นฉบับ (อังคาร 14 มิถุนายน) มีข่าวจากสหรัฐฯว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของลุงแซมเดือนพฤษภาคมเพิ่มสูงถึง 8.6% ถือเป็นอัตราเพิ่มสูงสุดนับแต่ปี 1981 หรือในรอบ 41 ปี เลยทีเดียว
ตัวเลขนี้ออกมาในวันศุกร์ ซึ่งก็ทำให้หุ้นสหรัฐฯ ของวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย. ร่วงระเนระนาด โดยดาวโจนส์-880 จุด เอสแอนด์พี-117 จุด และแนสแด็ก-414 จุด…มิหนำซ้ำยังมีผลต่อมาถึงวันจันทร์ 13 มิ.ย. เมื่อเปิดตลาดหุ้นอีกครั้ง โดยดาวโจนส์ลดไปอีก 876 จุด เอสแอนด์พีลด 151 จุด และแนสแด็กลดถึง 531 จุด
นักลงทุนกำลังรอว่า “เดอะเฟด” จะส่งสัญญาณอะไรออกมาบ้างในวันพุธที่ 15 มิถุนายน ตามเวลาที่โน่น
อะไรจะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯคงต้องติดตามอย่าได้กะพริบตา
ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ตกรุ่นลืมตำราหมดแล้ว พอแก่ตัวขึ้นก็หันมาเป็นนักไสยศาสตร์ สวดมนต์ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยโน่นช่วยนี่ไปตามเรื่อง…นี่ก็บนไว้แล้ว ขอให้สหรัฐฯ “รอดด้วยเถิด” อย่า “หกล้ม” หรือ “สะดุด” ใดๆ เลย เพราะยักษ์ใหญ่ล้มเนี่ย จะมีผลกระทบแรง พลอยเจ็บไปด้วยกันหมดทั้งโลกว่างั้นเถอะครับ.
“ซูม”