เมื่อ 2 วันก่อนผมดูฟุตบอลทีมชาติไทยเตะชนะทีมชาติเติร์กเมนิสถาน 1–0 ที่จังหวัดศรีสะเกษ เห็นผู้คนเข้าไปเชียร์ทีมไทยแน่นมากก็หวนระลึกถึงความหลังเมื่อ 40 ปีก่อน
ยุคที่ศรีสะเกษยังเป็นจังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำสุดของประเทศไทย จนเป็นเหตุให้นักพัฒนาชนบทยุคโน้นตัดสินใจหยิบยกจังหวัดนี้มาเป็นจังหวัดทดลอง “นำร่อง” ซึ่งหากเป็นยุคปัจจุบันคงเรียกกันว่า “ศรีสะเกษแซนด์บ็อกซ์” ไปแล้วล่ะ
ช่วยกันทำโน่นนิดนี่หน่อยจนจังหวัดศรีสะเกษเจริญก้าวหน้าตามลำดับ จนล่าสุดไม่ใช่จังหวัดจนที่สุดของประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว ตามตัวเลขที่ค้นเจอในกูเกิลน่าจะอยู่อันดับที่ 63 ของประเทศ หรือประมาณ 12 หรือ 13 อันดับจากล่างสุด
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนต่อนะครับเพราะไปพบในการสืบค้นจากกูเกิลเช่นกันว่า จังหวัดที่จนที่สุดหรือมีรายได้ต่อหัวต่ำสุดในปัจจุบันนี้คือ “แม่ฮ่องสอน” นั่นเอง
เห็นตัวเลขแล้วก็นึกถึงความหลังขึ้นมาอีกเพราะนี่ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ผมชื่นชอบมากๆ อยากจะเขียนให้กำลังใจเช่นกัน
ในแผนภูมิหลายๆ แผนภูมิที่ผมเจอในกูเกิลสรุปว่า ค้นต่อมาจากสภาพัฒน์และบอกว่าเป็นตัวเลขของปี 2563 นั้นสรุปรายได้ต่อหัวของ 10 จังหวัดต่ำสุดของประเทศไทยไว้ดังต่อไปนี้
1.แม่ฮ่องสอน (รายได้ต่อหัว 4,864 บาท/เดือน), 2.ยโสธร (5,005 บาท/เดือน), 3.หนองบัวลำภู (5,065 บาท/เดือน), 4.นราธิวาส (5,172 บาท/เดือน), 5.มุกดาหาร (5,231 บาท/เดือน), 6.สกลนคร (5,340 บาท/เดือน), 7.อำนาจเจริญ (5,479 บาท/เดือน), 8.บุรีรัมย์ (5,595 บาท/เดือน), 9.บึงกาฬ (5,623 บาท/เดือน) และ 10.ชัยภูมิ (5,811 บาท/เดือน)
รวมความแล้วก็คือ แม่ฮ่องสอน ของภาคเหนือครับที่ถือว่ายากจนที่สุดตามข้อมูลนี้ ส่วนที่ยากจนรองๆ ลงมาก็จะอยู่ในภาคอีสานเกือบทั้งหมด มี นราธิวาส จากภาคใต้แทรกอยู่ที่จนอันดับ 4 เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น
แต่ในขณะที่ผมค้นหาไปเรื่อยๆ นั้น ก็ไปเจอการสำรวจชิ้นหนึ่งจัดทำโดย ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชนของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อ 9 ปีที่แล้วคือ พ.ศ.2556
แม้จะเป็นข้อมูลเก่าแต่ผมก็ยังเชื่อว่า ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะผมแว่บไปบางจังหวัดเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว (ก่อนโควิด-19 อาละวาด) ก็พบว่า ยังคงน่าอยู่อาศัยและมีความสุขเหมือนเดิม
นี่คือจังหวัดที่ประชาชนอยู่แล้วมีความสุขที่สุด 10 จังหวัดแรกครับ…ได้แก่ 1.แม่ฮ่องสอน (ได้คะแนน 60.9%) 2.พังงา (ได้คะแนน 60.7%) 3.ชัยภูมิ (60.0%) 4.ปราจีนบุรี (57.0%) 5.อุทัยธานี (56.6%)
อันดับ 6 ได้คะแนนเท่ากัน 2 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี และ สุโขทัย ได้คะแนนร้อยละ 56.3
อันดับ 7 ก็มี 2 จังหวัด ได้แก่ พะเยา และ แพร่ ได้คะแนนร้อยละ 55.6
อันดับ 8 น่าน (54.8%) อันดับ 9 หนองคาย (54.3%) และอันดับ 10 ลำปาง (53.9%)
เห็นอย่างนี้แล้วก็ชื่นใจแทน แม่ฮ่องสอน ซึ่งแม้จะมีรายได้ต่อหัวต่ำสุดหรือจนที่สุด แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มี ดัชนีความสุข สูงสุด
ผมว่าน่ายินดีกว่าเป็นจังหวัดที่รวยที่สุดหรือรวยมากๆ แต่ความสุขน้อยๆ เสียอีกด้วยซ้ำ
ทุกจังหวัดใน 10 อันดับแรกผมมีโอกาสแวะไปก่อนโควิด-19 ถึง 6-7 จังหวัด รวมทั้ง แม่ฮ่องสอน ด้วย ยืนยันและเห็นด้วยกับการสำรวจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเลยครับว่า น่าอยู่…และอยู่แล้วเป็นสุขที่สุดจริงๆ
ส่วนจังหวัดที่ได้คะแนนน้อยสุดแปลว่า อยู่แล้วความสุขน้อยที่สุด ความจริงในรายงานเขาก็ระบุไว้ 10 จังหวัดเช่นกัน แต่เนื้อที่ผมจะหมดแล้ว ขอลงแค่ 3 จังหวัดดังนี้ครับ
อันดับ 75 (รองบ๊วยอันดับ 2) ภูเก็ต (24.2%) อันดับ 76 (รองบ๊วยอันดับ 1) สมุทรปราการ (22.0%)
และบ๊วย…ได้แก่…(ดนตรี)…กรุงเทพมหานคร (20.8%)!
เฮ้อ! ก็เป็นไปตามที่คาดหมายไว้…ผมงงๆ หน่อยที่ภูเก็ตมาติดอันดับเกือบบ๊วยกับเขาด้วย แต่สำหรับ สมุทรปราการ และ กทม. แล้วไซร้ เห็นด้วยพันเปอร์เซ็นต์ครับ ความสุขน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆจริง
แต่จะทำไงได้ ตัดสินใจเลือกที่จะอยู่แล้วนี่นา…หวังว่าท่านผู้ว่าฯ คนใหม่จะช่วยทำให้อันดับความสุขดีขึ้นนะครับ (ปล.เขียนในวันที่ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งพอดีเลยครับ)
“ซูม”