ความเชื่อมั่น “ทรุด” ต่อเนื่อง ห่วงเศรษฐกิจไทย “ซึมยาว”

มีตัวเลขหรือดัชนีชี้วัดที่นักเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างมากอยู่ตัวหนึ่ง…เรียกกันว่า Consumer confidence index หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค” นั่นเอง

ที่สหรัฐอเมริกามีอยู่ 2 สำนักที่ถือเป็นจอมยุทธ์ในการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค…สำนักแรกก็คือ The Conference Board ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการอิสระทางด้านวิจัยและสำรวจเศรษฐกิจธุรกิจที่มี สมาชิก นับ 1,000 บริษัท ทั้งในสหรัฐฯและประเทศต่างๆทั่วโลก

แถลงผลการสำรวจเป็นรายเดือนออกมาทีไรจะมีผลอย่างมากต่อตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา…เช่น ถ้าบอกว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนนั้นเดือนนี้สูงมาก หุ้นก็จะขึ้นทันที หรือถ้าบอกว่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำลงมาก ตลาดหุ้นก็จะร่วงทันทีเช่นกัน

อีกสถาบันหนึ่งที่โด่งดังมากในการสำรวจ “ผู้บริโภค” ที่สหรัฐฯ พร้อมกับนำเสนอความเห็นและความรู้สึกต่างๆของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับ เศรษฐกิจ ออกมาเป็นรายเดือนเช่นกัน–แต่ใช้คำว่า “Sentiment” ที่แปลว่า “อารมณ์” หรือ “ความรู้สึก” ของผู้บริโภค แทนคำว่า “Confidence” ได้แก่ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ไงครับ…เป็นเจ้าของดัชนีที่เรียกกันว่า “The University of Michigan Consumer Sentiment Index”

ที่ผมอรรถาธิบายเกริ่นค่อนข้างยืดยาววันนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “ความเชื่อมั่น” หรือ “อารมณ์” ของผู้บริโภคในต่างประเทศ เพื่อที่จะโยงมาสู่ ดัชนี ที่มีการสำรวจคล้ายๆกันนี้ในบ้านเรา

ผมไม่แน่ใจว่าจะมีสำนักไหนทำการสำรวจบ้าง แต่สำนักที่สำรวจดัชนี “ความเชื่อมั่นผู้บริโภค” ของไทยเราเป็นประจำ และรายงานตัวเลขมาร่วมๆ 10 ปี หรืออาจกว่าแล้วก็ได้ ที่ยอมรับและสามารถนำไปอ้างอิงได้ก็คือการสำรวจของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นั่นเอง

ทุกครั้งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้แถลงตัวเลขเกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเป็นข่าวใหญ่พาดหัวหน้าเศรษฐกิจอยู่เสมอๆ รวมทั้งถ้อยแถลงเมื่อ 2 วันก่อน ซึ่งก็เป็นข่าวใหญ่เช่นกัน

สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายนที่ผ่านไปหมาดๆ นี้อยู่ที่ระดับ 40.7 ลดจากเดือนมีนาคมซึ่งอยู่ในระดับ 42.0 ไปพอสมควร…ถือเป็นการปรับตัวลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นดัชนีที่อยู่ในระดับ “ต่ำสุด” ในรอบ 8 เดือนอีกด้วย

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยอธิบายว่า สาเหตุสำคัญมาจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเดือนเมษายนยังหนักอยู่ และรัฐบาลก็เตือนบ่อยๆ เกรงจะระบาดหนักช่วงสงกรานต์…

ตามด้วยความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าทั้งทั่วโลกและไทยเราเอง

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งจะเป็นผลให้เศรษฐกิจไทยน่าจะชะลอตัวลงกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีการประมาณไว้ 2.5-4.0% ในปีนี้

ลงท้าย…มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยฝากข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนละครึ่งเฟส 5 ในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและช่วยเสริมกำลังซื้อให้แก่ประชาชน

ผมเห็นด้วยกับผลการสำรวจ “ความเชื่อมั่นผู้บริโภค” ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน…เอ๊ย! มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยแถลงออกมาในทุกๆประเด็นครับ…เพราะวัดด้วยความรู้สึกของผมเองจากการพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขายและประชาชนทั่วๆ ไป รวมทั้งเพื่อนฝูง ก็พบว่า “ความเชื่อมั่น” ยังไม่น่าจะดีขึ้น

ส่วนมาตรการกระตุ้น แม้ผมจะเห็นด้วย แต่ก็ฝากให้รอบคอบหน่อย เพราะเรากระตุ้นไปเยอะแล้ว ให้ดูความสามารถของรัฐในทุกๆ ด้านรวมทั้งหนี้สาธารณะต่อจีดีพีด้วยว่าใกล้ขีดอันตรายแล้วหรือยัง

เมื่อดูดีๆและรอบคอบแล้วก็เชิญกระตุ้นได้เลย เพราะไม่อย่างนั้นอาจฝ่าไปข้างหน้าค่อนข้างยาก เพราะเศรษฐกิจโลกน่าจะแย่และซึมลึกไปอีกยาวนานแน่นอน มองจากสถานการณ์เงินเฟ้อโลกและสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ไม่น่าจะหยุดง่ายๆ จากการประเมินล่าสุด

ในฐานะ “หญ้าแพรก” กอเล็กๆ กอหนึ่งของโลก เมื่อ “ช้างสาร” ระดับพี่เบิ้มของโลก (แถมหลายเชือกด้วย) เขาชนกันเช่นนี้…มีหรือประเทศไทยของเราจะไม่กระทบกระเทือน!

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจ, ไทย, ซูมซอกแซก