“ซีเกมส์” แห่งความหลัง “เจ้าเหรียญทอง” ในยุคยากจน

หน้าข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ลงข่าวว่ากีฬา “ซีเกมส์” ครั้งที่ 31 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 12–23 พ.ค.นี้…แต่กีฬาฟุตบอลซึ่งใช้เวลาเตะที่ค่อนข้างยาวนานจะเริ่มขึ้นก่อนตั้งแต่ค่ำวันนี้ (ศุกร์ที่ 6 พ.ค.) เป็นต้นไป

ประสาแฟนเก่าของกีฬา “ซีเกมส์” ตามดูมาตั้งแต่ยังเป็นกีฬา “เซียพเกมส์” หรือกีฬา แหลมทอง มีแข่งแค่ 6 ชาติ ไทย, พม่า, กัมพูชา, ลาว, มาเลเซีย และเวียดนามใต้ โดยครั้งแรกไทยเรานี่แหละเป็นเจ้าภาพที่สนาม ศุภชลาศัย ระหว่าง 12-17 ธันวาคม พ.ศ.2502 หรือ 63 ปีเข้านี่แล้ว

ต่อมาเมื่อขยายวงออกไปเป็นกีฬาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Southeast Asian Games ที่เรียกย่อๆ ว่า “SEA Games” เมื่อ พ.ศ.2520 เชื้อเชิญประเทศหลักๆ ในย่านนี้ อย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน มาร่วมด้วย…ผมก็ตามลุ้นต่อ

ยังจำได้ว่ากีฬาซีเกมส์ยุคนั้นถือเป็นกีฬาใหญ่และสำคัญมาก…ทำให้คนไทยรู้สึกน้อยใจว่าทำไมเราถึงไม่ได้เป็น เจ้าเหรียญทอง หรือได้เหรียญทองมากที่สุดกับเขาเสียทีหนึ่ง

ปล่อยให้อินโดนีเซียคว้าไปครองได้ถึง 4 ครั้งซ้อนใน 8 ปี หลังเปลี่ยนจาก “เซียพเกมส์” มาเป็น “ซีเกมส์”

ดังนั้น ในการแข่งขันครั้งที่ 13 พ.ศ.2528 หรือครั้งที่ 5 หลังเปลี่ยนชื่อใหม่ ถึงคิวที่ประเทศไทยเราจะเป็นเจ้าภาพ…จึงมีความคิดที่ว่า เรา จะรวมกำลังกันล้มอินโดนีเซียให้ได้สักครั้ง และโอกาสที่จะทำได้ก็มีอยู่มาก เพราะเป็นการแข่งขันในบ้านเราที่เราได้เปรียบในด้านเสียงเชียร์

กลุ่มบุคคลที่นั่งคิดถึงเรื่องนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอกครับ ได้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ของไทยรัฐในยุคนั้นนั่นเอง

คณะผู้บริหารไทยรัฐ ที่มีท่าน ผอ.กำพล วัชรพล เป็นผู้นำ (สมัยนี้คงต้องเรียกซีอีโอ) ซึ่งปกติจะนั่งรับประทานข้าวกลางวันร่วมกันทุกวันที่ห้องกินข้าวของผู้บริหารในตึกอำนวยการยุคนั้น

กินกันไปคุยกันไปและมักจะจบลงด้วยการมี “โครงการ” สำคัญๆ หลุดออกมาให้พวกเรานักข่าวนำไปปฏิบัติอยู่เสมอ รวมทั้งโครงการที่ว่าเราจะต้องล้มอินโดนีเซียให้ได้นี่แหละ

โดยไทยรัฐจะขันอาสาเป็นสื่อกลางในการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนส่งไปช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจแก่สมาคมกีฬาและนักกีฬาทั้งหลาย เพื่อให้สามารถคว้าเหรียญทองมาครองให้มากที่สุดให้จงได้

โดยเฉพาะกำลังใจที่สำคัญที่สุดก็คือไทยรัฐจะเป็นสื่อกลางประสาน หาสปอนเซอร์ จากบริษัทห้างร้านหรือสินค้า ให้ไปสนับสนุนสมาคมกีฬา สมาคมละ 1 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 14 หรือ 15 สมาคม

ยุคนั้นสมาคมกีฬาไทยยังไม่มีสปอนเซอร์ ไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว เมื่อได้เงิน 1 ล้านบาท จากการประสานงานของไทยรัฐ จึงรู้สึกว่าเยอะมากๆ และต่างก็นำไปใช้ในการให้กำลังใจนักกีฬาเป็นส่วนใหญ่

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ด้วยเงินเพียง 1 ล้านบาท…จะเป็นแรงผลักดัน ให้นักกีฬาคว้าเหรียญทองได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ในวันที่ 17 ธันวาคม 2528 อันเป็นวันสุดท้ายของการแข่งขันซึ่งการันตีชัดเจนว่าเราได้เป็นเจ้าเหรียญทองแน่นอนแล้ว…ประชาชนชาวไทยต่างไปไชโยโห่ร้องดีใจกันทั่วประเทศ ไปที่ไหนเห็นแต่รอยยิ้มและ ความสุขจากการเป็น “เจ้าซีเกมส์”

หลายปีต่อมาเราก็ได้เป็นเจ้าซีเกมส์อีกหลายครั้งหลายหนจนรู้สึกจะเป็นเรื่องธรรมดาๆไปเสียแล้ว

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ร่ำรวยกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำอีกต่อไป…สมาคมกีฬายุคหลังๆ ล้วนร่ำรวยมีสปอนเซอร์ล้นหลามไปหมด

รัฐบาลไทยก็กลายเป็นอาเสี่ยเก็บ “ภาษีบาป” ได้มากก็เอามาแบ่งปันตั้งเป็นรางวัลอัดฉีดนักกีฬาเหรียญทองละหลายๆ ล้านบาท…

ไม่ต้องพึ่งพาการประสานงานจากสื่อมวลชนอีกแล้ว

ผมก็ขอทำหน้าที่เป็นผู้เฒ่าเล่าความหลังให้นึกถึงวันที่เรายังยากลำบากกันอยู่…ว่าเราต่อสู้กันมาอย่างไร

เผื่อลูกๆ หลานๆ จะได้มีโอกาสรู้ว่าในการสร้างชาติ สร้างประเทศ และการพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศเรานั้น แม้แต่การกีฬาก็เถอะ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ลูกเอ๊ย หลานเอ๊ย…

“ซูม”

ข่าว, กีฬา, ซีเกมส์, เซียพเกมส์, เหรียญทอง, ซูมซอกแซก