นี่แหละที่เขาว่า โลกเราทุกวันนี้ไม่มีวันหยุดนิ่งเลยจริงๆ มีเรื่องใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ รวมทั้งศัพท์แสงใหม่ๆ มาทำให้คนเก่าๆ และแก่ๆด้วย (อย่างเราๆ) ต้องพลอยปวดหัวอยู่เสมอๆ
ความรู้บางความรู้ ศัพท์แสงบางศัพท์แสง ส่วนมากก็มีมานานแล้ว และมีการนำมาใช้กันอยู่แล้วในหมู่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง…แต่พวกเราที่อยู่วงนอกและไม่ค่อยเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้…ก็เลยไม่รู้และไม่เคยได้ยิน…หรือแม้แต่จะเคยได้ยินอยู่บ้างแต่ก็มิได้ใส่ใจ
จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ความรู้ที่ว่านี้หรือศัพท์แสงดังกล่าวนี้เกิดพัฒนาขึ้นมาเป็นความรู้ระดับโลก เป็นนโยบายระดับโลก หรือกลายเป็นเรื่องที่พูดถึงทั่วโลก…คนเก่าๆ (และแก่ๆ) อย่างเราจะไม่สนใจก็ไม่ได้ เพราะกลัวจะคุยกับคนรุ่นใหม่ๆ เขาไม่รู้เรื่อง
ดังเช่นคำว่า Soft Power ซึ่งแม้จะพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งจะมาดังและพีกสุดๆ เพราะการขึ้นเวทีของแร็ปเปอร์สาวไทยที่ชื่อ มิลลิ ที่แคลิฟอร์เนีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจนเกิดปรากฏการณ์ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ฮือฮากันไปทั่วประเทศไทย และบ้างก็ว่าทั่วโลกด้วยซํ้า
ทำให้คนตกรุ่นอย่างผมแต่ยังต้องเขียนหนังสืออยู่ต้องไปค้นหา
ปรากฏว่า หลังจากอ่านคำอธิบายในข่าวคราวบ้าง เรื่องราวบ้าง ทฤษฎีและคำจำกัดความตามเพจต่างๆบ้าง…ทำให้รู้ความหมายเพิ่มเติมเป็นของแถมมาด้วยอีก 1 คำ…ได้แก่ Hard Power ที่เป็นแนวคิด แนวนโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่อยู่ตรงข้ามกับ Soft Power นั่นเองเพราะเวลาอธิบายท่านผู้รู้ทั้งหลายมักจะอธิบายควบคู่กันอยู่เสมอ
เริ่มจากคำจำกัดความของ “ซอฟต์เพาเวอร์” ซึ่งหมายถึง การใช้อำนาจทางวัฒนธรรม ทางสังคม ทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ เพื่อจูงใจ เพื่อเชื้อเชิญให้บุคคลอื่นเกิดความสนใจและประสงค์
ที่จะทำตามโดยสมัครใจและเต็มใจ ปราศจากการบีบบังคับ
ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ได้ใช้ภาพยนตร์เกาหลี ซีรีส์เกาหลี วัฒนธรรมเกาหลี ตลอดจนศิลปิน K-pop ต่างๆ จนโด่งดังทั่วโลก ทำให้เกิดความนิยม ในวัฒนธรรมเกาหลีไปจนถึงสินค้าต่างๆ ของเกาหลี (ซึ่งมีการพัฒนาคุณภาพควบคู่ไปด้วย) ตามมา
ตรงข้ามกับคำว่า “ฮาร์ดเพาเวอร์” ซึ่งหมายถึง การใช้อำนาจทางทหาร หรือทางเศรษฐกิจ หรือทางอื่นใด ที่เข็มแข็งกว่าหรือเหนือกว่าในการบีบบังคับ หรือกดดันให้บุคคลอื่นหรือประเทศอื่นทำในสิ่งที่เราต้องการ โดยที่บุคคลหรือประเทศนั้นๆมิได้สมัครใจ หรือมีประสงค์ที่จะทำตามในเบื้องต้น
ซึ่งในระยะหลังๆ เราจะพบว่าประเทศต่างๆ จะหันมาใช้นโยบายซอฟต์เพาเวอร์กันมาก เพราะจะได้ประโยชน์มากกว่าและอยู่ยั้งยืนยง อย่างถาวรมากกว่า
ครับ! ก็เป็นคำนิยามของ “ซอฟต์เพาเวอร์” และ “ฮาร์ดเพาเวอร์” โดยสังเขปเท่าที่สรุปได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไปดูเบื้องหลังความสำเร็จของเกาหลีเข้าจริงๆ จะพบว่า ก่อนที่เกาหลีจะส่งสินค้า “ซอฟต์เพาเวอร์” ไปโด่งดังทั่วโลก นั้น เขาได้ใช้ “ฮาร์ดเพาเวอร์” หรือพลังอำนาจแบบบังคับอย่างมาก แต่เป็นการใช้ในประเทศของตนเองในการผลิตหรือการพัฒนาสินค้าทุกประเภท เพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุด
เช่น การใช้ “ระเบียบวินัยเข้มแข็ง” ในการทำงาน หรือในการฝึกฝนอย่างเอาจริงเอาจัง กว่าจะได้เพลง K-pop 1 เพลง เหนื่อยแทบ สายตัวแทบขาด ทั้งคนแต่งเพลง คนร้องเพลง และนักเต้นทั้งหลาย
หรือจะสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง ก็พิถีพิถันทำงานหามรุ่งหามคํ่า ไม่ใช่สักแต่ว่าจะทำไป
เพราะฉะนั้น ที่ประเทศไทยของเราจะเอาดีทาง “ซอฟต์เพาเวอร์” นำสินค้าวัฒนธรรมต่างๆ มาต่อยอดนั้น…ก็อย่าลืมใช้ “ฮาร์ดเพาเวอร์” สำหรับบังคับพวกเรา คนทำ คนผลิต คนขายควบคู่ไปด้วยก็แล้วกัน
ว่าจะต้องทำจริงจัง ทำอย่างหนักหน่วง ทำด้วยความตั้งใจจริงๆ ไม่เหลาะแหละ เพื่อให้ได้ผลออกมาดีที่สุด
ลองไปดูกันให้ดีๆเถอะครับ…กว่าจะประสบความสำเร็จในการใช้ “ซอฟต์เพาเวอร์” อย่างทุกวันนี้ เกาหลีใต้เขาใช้ “ฮาร์ดเพาเวอร์” ฝึกคนทั้งชาติของเขาอย่างไรบ้าง.
“ซูม”