นึกไม่ถึงจริงๆ ครับว่า ข้อเขียนชุดเรียนประวัติศาสตร์อยุธยาว่าด้วย “พระเจดีย์ภูเขาทอง” อยุธยาใน “ซอกแซก” สัปดาห์ที่แล้ว จะได้รับความสนใจจากท่านผู้อ่านอย่างมาก ถึงขนาดมีจดหมายมาร่วมสนุกด้วยถึง 2 ฉบับ
ในยุคที่การเขียนจดหมายเป็นเรื่องล้าสมัยอย่างเช่นทุกวันนี้ ได้รับจดหมาย “คอมเมนต์” ถึง 2 ฉบับเนี่ย จะไม่ให้หัวหน้าทีมซอกแซก “ตื่นเต้น” ได้อย่างไรล่ะครับ
ฉบับแรกบอกว่า อยากอ่านบทกลอนใน “นิราศภูเขาทอง” ของสุนทรภู่ช่วงที่ไปฟัง และชมการเล่นเพลงเรือที่อยุธยา ที่หัวหน้าทีมซอกแซกบอกว่าเขียนไว้ยาวจึงไม่ได้นำมาลง
ฉบับที่สองถามว่า คุณซูมจำได้ไหม? ว่าใน นิราศภูเขาทอง นั้น สุนทรภู่ท่านนั่งเรือผ่านที่ไหนบ้าง…และอยากรู้ว่าทุกวันนี้ สถานที่นั้นๆ ยังอยู่หรือไม่
ขอตอบสนอง “คำขอ” ของท่านฉบับแรกก่อนครับ ที่อยากอ่าน “กลอน” ในท่อนที่บรมครูสุนทรภู่ท่านพรรณนาถึงการเล่น “เพลงเรือ” ที่อยุธยาดังต่อไปนี้
“มาจอดท่าหน้าวัดพระเมรุข้าม…ริมอารามเรือเรียงเคียงขนาน…บ้างขึ้นล่องร้องลำเล่น สำราญ…ทั้งเพลงการเกี้ยวแก้กันแซ่เซ็ง…บ้างฉลองผ้าป่าเสภาขับ…ระนาดรับรัวคล้ายกับนายเส็ง…มีโคมรายแลอร่ามเหมือนสำเพ็ง…เมื่อคราวเคร่งก็มิใคร่จะได้ดู…อ้ายลำหนึ่งครึ่งท่อนกลอนมันมาก…ช่างยาวลากเลื้อยเจื้อยจนเมื่อยหู…ไม่จบบทลดเลี้ยวเหมือนเขี้ยวงู…จนลูกคู่ขอทุเลาว่าหาวนอน”
อ่านไปนึกภาพตามไปก็จะเห็นถึงความสนุกสนานของการเล่นเพลงเรือของชาวอยุธยาในยุคนั้น แม้กรุงจะแตกไปนานแล้ว ก็ยังสืบทอดการเล่นต่อมาที่บริเวณลำนํ้าใกล้ๆพระเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งก็น่าจะได้แก่ คลองมหานาค ที่เคยเป็นสถานที่เล่นเพลงเรือในยุคก่อนเสียกรุงนั่นเอง
สำหรับคำถามในจดหมายฉบับที่ 2 ที่ถามว่า “สถานที่” สำคัญ หรือ “ย่าน” ต่างๆ ที่ ท่านสุนทรภู่ บันทึกไว้ ทุกวันนี้ยังอยู่หรือไม่? หัวหน้าทีมซอกแซกก็ลองไปค้นจากกูเกิลบ้าง จากหนังสือเก่าๆ บ้าง เท่าที่จะค้นหาได้ ดังนี้
สถานที่แห่งแรกอันได้แก่ “วัดราชบุรณะ” ที่สุนทรภู่จำพรรษาอยู่ และเมื่อรับกฐินแล้วก็ลงเรือไปกรุงเก่าทันทีนั้น…ยังอยู่ครับ
ปัจจุบันก็คือ วัดราชบุรณราชวรวิหาร หรือ วัดเลียบ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานพุทธฝั่งกรุงเทพฯ นั่นเอง ตามประวัติระบุว่า เป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นแล้ว
ณ วันที่ท่านสุนทรภู่ลงเรือที่หน้าวัดเพื่อไปกรุงเก่าเมื่อ พ.ศ.2373 นั้น สันนิษฐานว่า ในพระอุโบสถอันงดงามมีจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามเช่นกันอยู่หลายชิ้น แต่มาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 110 ปีเศษๆให้หลัง เผอิญบริเวณใกล้ๆ วัดมีโรงไฟฟ้าของทางราชการมาตั้งอยู่ด้วย เรียกกันว่า โรงไฟฟ้าวัดเลียบ จึงตกเป็นเป้าโจมตีของฝูงบินพันธมิตร ในคืนหนึ่งปรากฏว่า ลูกระเบิดพลาดตกใส่พระอุโบสถจนของเก่าที่งดงามพังทลายลงสิ้น…ทางการถึงขั้นประกาศยุบวัดในปี 2488 เลยทีเดียว
ต่อมาผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์ให้กลับมาเป็นวัดตามเดิม ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 และเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
สถานที่แห่งที่สอง อันได้แก่ พระบรมมหาราชวังที่สุนทรภู่พรรณาว่า “ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด คิดถึงบาทบพิตรอดิศร” นั้นยังคงยืนหยัดอย่างโดดเด่นมาโดยตลอด และอยู่ระหว่างเฉลิมฉลองกรุง 240 ปี ซึ่งก็หมายถึงเฉลิมฉลองพระบรมมหาราชวังด้วย…เป็นพระบรมมหาราชวังที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกนิยมที่จะเดินทางมาเยี่ยมชม และมีการบันทึกไว้ว่า เฉพาะเมื่อปี พ.ศ.2549 ปีเดียว มีผู้เข้าเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังของประเทศไทยถึง 8,995,000 คน
สถานที่สำคัญที่ นิราศภูเขาทอง กล่าวถึงถัดมาก็คือ “โรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง” นั่นเอง…อันได้แก่ บริเวณย่านบางยี่ขัน ที่เป็นย่านผลิตสุรามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงวันที่ สุนทรภู่นั่งเรือผ่าน
ย่านบางยี่ขันยังคงเป็นย่านผลิตสุราเรื่อยมา รวมแล้วกว่า 200 ปี จนถึงยุคสมัยรัชกาลที่ 9 และมาปิดตัวเองใน พ.ศ.2538 หรือเมื่อ 27 ปีที่แล้ว โดยโยกย้ายไปสู่โรงงานใหม่ที่ปทุมธานี
ในขณะที่อาณาบริเวณโรงเหล้าที่เคยเป็น “เตากลั่นควันโขมง” นั้น ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นสถานที่อันสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน…กล่าวคือเป็นสวนหย่อมที่สวยงาม ซึ่งมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 ประดิษฐานอยู่…และลึกเข้าไปอีกเล็กน้อยก็เป็นสถานที่ตั้งของ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ (สำนักงาน กปร.) รวมทั้ง สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา
น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงมาก ที่ท่านสุนทรภู่คงคาดไม่ถึงอย่างแน่นอน
ถัดจาก โรงเหล้า ไปแล้ว ก็จะเป็น บางจาก, บางพลู, บางพลัด, บางโพ, บ้านญวน, วัดเขมา, ตลาดแก้ว, ตลาดขวัญ, บางธรณี, เกาะเกร็ด, บ้านใหม่, บ้านเดื่อ, บางหลวง, สามโคก, บ้านงิ้ว, บางลำพู จากนั้นก็ไปทางลัดผ่านทุ่งนาต่างๆ มิได้ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาแต่อย่างใด
ตัดภาพออกมาอีกทีก็ไปผ่านจวนเจ้าเมืองกรุงเก่าเสียแล้ว และไปจอดที่วัดหน้าพระเมรุ ดูการละเล่นทางเรือที่ได้ยกตัวอย่างบทกลอนของท่านไว้ในช่วงต้น
ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ทีมงานซอกแซกขอฝากให้ท่านผู้อ่านที่สนใจไปค้นต่อก็แล้วกันครับ ส่วนมากยังอยู่ครับ และก็มีการพัฒนาหรือเจริญงอกงามขึ้นเป็นอันมาก
อย่างเช่น “วัดเขมา” หรือ “วัดเขมาภิรตาราม” นั้น นอกจากจะยังคงอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่า เป็นที่เคารพนับถือของชาวนนทบุรีและใกล้เคียงแล้ว ยังกลายเป็นวัดที่โด่งดังมากวัดหนึ่ง ในปี 2565 เนื่องจากเป็นวัดที่ร่างของ “น้องแตงโม” ดาราสาวที่เสียชีวิตจากการตกสปีดโบ๊ต ได้มาโผล่ขึ้นใกล้ๆ วัด ทำให้วัดได้รับการกล่าวขวัญถึงไปพร้อมๆ กับข่าวน้องแตงโมอยู่หลายวัน
สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงวัดเขมาไว้หลายบทกลอนทีเดียวว่า เคยตามเสด็จรัชกาลที่ 2 มาตัดหวายลูกนิมิตที่วัดนี้ แสดงว่าเป็นวัดที่โด่งดังมากในอดีต…และก็กลับมาโด่งดังอีกครั้ง 194 ปี ให้หลัง ด้วยเหตุการณ์ของน้องแตงโมดังกล่าว
สรุปว่าค้นให้เพียงเท่านี้นะครับ ที่เหลือกรุณาไปค้นกันเองเถอะ เพราะขืนให้ทีมงานซอกแซกค้นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะยาวกันใหญ่ไม่จบเรื่อง “กรุงศรีอยุธยา” กันเสียที.
“ซูม”