ผมเพิ่งอ่านหนังสือจบไปอีกเล่มหนึ่ง บังเกิดความประทับใจจนต้องหยิบมาเขียนถึงในวันนี้ เพื่อขอบคุณคณะผู้จัดทำหนังสือและสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนที่ส่งผลให้เกิดหนังสือที่เป็นประโยชน์อย่างมากอีกเล่มหนึ่งสำหรับประเทศไทยเรา
ชื่อหนังสือเต็มๆ เป็นภาษาไทยก็คือ “50 ปีแห่งประสบการณ์สร้างรากฐานสู่อนาคต” และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Making of The Modern Thai Economy” จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของกุล่ม ธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ที่ต้องขอบคุณอย่างจริงใจไว้ ณ ที่นี้ก็เพราะ กลุ่ม ธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ดังกล่าวนี้ เขียนถึงที่มาที่ไป หรือ “ประวัติ” ของกลุ่มไว้เพียง 2 หน้ากระดาษเท่านั้น ในช่วงแนะนำหนังสือตอนแรกๆ
นอกนั้นด้วยเนื้อหาถึง 340 กว่าหน้า พิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดี พร้อมภาพประกอบและกราฟิก สรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างสวยงาม อุทิศให้กับเรื่องราวความเป็นมาของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยจากประเทศล้าหลังประเทศหนึ่ง จนสามารถเข้าสู่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจ (ที่ค่อนข้าง) ทันสมัยได้อย่าง (ค่อนข้าง) ละเอียดในทุกแง่มุม
ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ยิ่งเป็นประวัติศาสตร์ในระยะใกล้ๆ ที่ตัวเราเองเคยผ่านเคยพบ เคยสุขเคยทุกข์ ในฐานะประชาชนรุ่นเยาว์คนหนึ่ง และเมื่อเติบโตรํ่าเรียนหนังสือก็มีโอกาสไปอยู่ในขบวนการพัฒนากับเขาด้วย แม้จะเป็นแค่ฟันเฟืองกระจิ๋วหลิว…แต่เมื่ออ่านพบว่างานที่เราไปเป็นฟันเฟืองตัวเล็กๆ นั้นก็ได้ถูกบันทึกไว้ด้วย ในฐานะ “เศษเสี้ยว” หนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจึงค่อนข้างจะ “อิน” (ภาษาดูหนังดูละคร) เมื่ออ่านถึงบางช่วงบางตอน
จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้มิใช่บันทึกเหตุการณ์ในระยะเวลา 50 ปีหลังสุดเท่านั้น แต่ยังเกริ่นยาวไปอีกหลายปีตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงราวๆ พ.ศ.2488 เป็นต้นมา จนถึงยุคต้นๆ ของการพัฒนาประเทศก่อนมีแผนพัฒนาที่เริ่มโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม
เรื่อยมาจนถึงยุคแผนพัฒนาฉบับที่ 1 พ.ศ.2504-2509 ที่ริเริ่มโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้การสยายปีกเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ของ “พญาอินทรี” สหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาครอบงำประเทศต่างๆในเอเชียมากขึ้นและมากขึ้น
ที่ผมบอกว่าผมตื่นเต้นและ “อิน” ไปด้วย เพราะผมเองก็เคยดูเคยฟัง “ลิเก” ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคสมัยจอมพล ป. ควบคู่ไปกับการได้ฟังวิทยุปักกิ่ง (เพราะรับได้ที่นครสวรรค์) ภาคภาษาไทยที่จะเปิดรายการด้วยเพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” ในแบบฉบับ ออเคสตรา แล้วชำแหละรัฐบาลไทยยุคโน้นเป็นชิ้นๆ ด้วยสำนวนแสบๆ คันๆ
จากนั้นก็ “อิน” มาเรื่อยๆ กับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยตั้งแต่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ถึงยุคมหาวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” และการก้าวผ่านมาได้ด้วยหยาดเหงื่อและน้ำตา ตลอดจนมันสมองของคนไทยในช่วงเวลาดังกล่าว
บันทึกเล่มนี้จบลงด้วยสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งประเทศไทยยังไม่สิ้นเคราะห์ ต้องเจอทั้งโรคระบาดโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ บวกด้วยสงครามการค้าและเทคโนโลยี ตลอดจนการแสวงหาอำนาจทั้งเศรษฐกิจและการเมืองระดับโลกของยักษ์ตนเก่าอย่างสหรัฐฯ กับยักษ์ตนใหม่อย่างจีนที่ก้าวขึ้นมาท้าทาย
พร้อมกับทิ้งท้ายด้วยการสรุปสั้นๆ ในหัวข้อ “มองไกลข้ามขอบฟ้า” เป็นข้อคิดเตือนใจว่าเราควรจะต้องปรับตัวอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของโลก เพื่อเดินไปสู่อนาคตข้างหน้า
นอกจากคุณ บรรยง พงษ์พานิช ที่มีชื่อในฐานะที่ปรึกษาแล้ว ในรายชื่อคณะผู้จัดทำปรากฏชื่อ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปัจจุบันกลับไปสอนหนังสือที่สหรัฐฯ เป็นรายชื่อแรก
ผมคงไม่สามารถเอ่ยถึงได้ทั้งหมด ก็ขอขอบคุณเป็นรวมๆ สำหรับคณะผู้จัดทำรายชื่อยาวเหยียดไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง
จุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้ ภาคภาษาไทยมีอยู่ประการเดียวก็คือ การใช้ปีเป็น ค.ศ.ทั้งหมด ทำให้รสชาติหายไปเยอะ เช่น “เหตุการณ์ 14 ตุลา 1973” กับ “6 ตุลา 1976” อ่านยังไงๆ ก็ไม่ได้รสชาติเหมือน “14 ตุลา 2516” หรือ “6 ตุลา 2519” แน่ๆ
จุดอ่อนหนึ่งเดียวก็อยู่ตรงนี้แหละครับ นอกนั้นผมให้ A ครับ คุณบรรยงและคณะผู้จัดทำทุกๆ คน.
“ซูม”