ผมได้รับหนังสือพ็อกเกตบุ๊กจากสำนักพิมพ์น้องใหม่ชื่อไม่คุ้นหูนัก…บริษัท อาลาดิน ออนไลน์ จำกัด…แต่เมื่อเปิดซองออกมาพบว่า เป็นหนังสือพ็อกเกตบุ๊กเรื่อง “สามก๊กสามมิติ” โดยก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ก็ร้อง “อ๋อ” ขึ้นมาทันที
เพราะจำได้แม่นยำว่า เมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว เคยมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง “สามก๊ก” ออกมาสู่ร้านหนังสือ 2-3 เล่ม เขียนโดยผู้ใช้นามปากกาเดียวกันนี้
ปรากฏว่าขายดีมากในระดับหนึ่ง และยังมีการนำไปจัด “เสวนา” เชิงเบื้องหน้าเบื้องหลังอีกหลายครั้ง…มีผู้สนใจเข้าฟังแน่นทุกๆ ครั้ง
เหตุผลข้อแรกเลยก็มาจากความยิ่งใหญ่ของวรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์จีน เรื่อง “สามก๊ก” นั่นแหละครับ…นอกจากฉบับของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งแปลมาให้คนไทยอ่านตั้งแต่ พ.ศ.2345 หรือเมื่อ 220 ปีก่อนในยุคสมัยรัชกาลที่ 1 โน่นแล้ว
คนไทยรุ่นหลังๆ ยังได้อ่านจากฉบับวิเคราะห์บ้าง ตัดต่อแต่งเติมบ้าง โดยนักประพันธ์ที่โด่งดังหลายต่อหลายท่าน
เช่น “สามก๊กฉบับวณิพก” ของ “ยาขอบ” และ “สามก๊กฉบับนายทุน” ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ เป็นต้น
แสดงถึงความยิ่งใหญ่และอมตะของวรรณกรรมเรื่องนี้ที่สามารถนำไปตีความ ไปวิเคราะห์ ไปสังเคราะห์ได้อย่างกว้างขวาง
ดังนั้น (เหตุผลข้อที่ 2) เมื่อผู้เขียนชุดหลังสุด 10 กว่าปีที่แล้วอันได้แก่ คุณ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ซึ่งโด่งดังในฐานะซีอีโอรุ่นใหม่ที่ปลุกปั้น เซเว่น อีเลฟเว่น จนแผ่สาขาไปทั่วประเทศไทย…มาลงสนามเขียนถึง “สามก๊ก” กับเขาด้วย โดยใช้นามจริงพิมพ์ไว้บนแผ่นปก จึงได้รับความสนใจอย่างมากไม่แพ้สามก๊กชุดก่อนๆ
เริ่มจาก “ซีอีโอโลกตะวันออกฉบับลีลาบริหารสามมิติ” (พิมพ์ พ.ศ.2547), “อ่านสามก๊กถกบริหาร” (พิมพ์ พ.ศ.2552) และ “อ่านสามก๊กถกยอดคน” (พิมพ์ พ.ศ.2555) รวม 3 เล่มด้วยกัน
เล่มที่วางอยู่บนโต๊ะผมขณะนี้ อันเป็นฉบับพิมพ์และจำหน่ายในเดือนมีนาคม 2565 จึงเป็น “สามก๊ก” เล่มที่ 4 ของคุณ ก่อศักดิ์ รวบรวมต้นฉบับทั้ง 3 เล่มแรกที่ขาดตลาดไปแล้ว เข้าไว้ด้วยกัน แถมด้วยการถอดบันทึกการเสวนา 2 ครั้ง ในหัวข้อ “สามก๊กสามมิติ” และ “ทำไมคนไทยต้องอ่านสามก๊ก” ส่งผลให้การรวมเล่มพิมพ์ใหม่ครั้งนี้สมบูรณ์และสะท้อนมุมมองของคุณก่อศักดิ์ได้ครบถ้วนยิ่งขึ้น
เหตุที่คุณก่อศักดิ์ใช้คำว่า “สามมิติ” นั้น ผมก็ตีความว่า เพราะในเล่มนี้มีมิติเรื่อง “อายุ” และประวัติการเรียนการศึกษาตลอดจนสังคมแวดล้อม หรือชาติตระกูลของตัวละครต่างๆ มาทำให้เรารู้จักปูมหลังของตัวละครดังๆมากยิ่งขึ้น
เช่น พอพูดถึง ขงเบ้ง กับ เล่าปี่ เราจะรู้ว่าขงเบ้งมีอายุอ่อนกว่าเล่าปี่ 20 ปี…มาทำงานด้วยกัน…ช่วงที่เล่าปี่อายุ 46 ปี ขงเบ้งอายุ 26 ปี เป็นต้น และในวันที่มอบหมายให้ ขงเบ้ง เป็นผู้บัญชาการกองทัพสูงสุดนั้น ขงเบ้งอายุ 27 ปีเท่านั้นเอง?
หรืออย่าง โจโฉ ก็มีประวัติว่าเป็นลูกของคนใกล้ชิดขุนนางและขันทีที่มีอิทธิพลอย่างสูงในวังหลวง แถมยังเคยผ่านโรงเรียนทหารยุคก่อนคล้าย จปร. ในยุคปัจจุบันมาด้วย
การรู้จักปูมหลังและประวัติของแต่ละตัวละครมากขึ้น ทำให้เราสามารถที่จะตัดสินใจได้ว่า ใครคือพระเอกหรือผู้ร้ายที่แท้จริงสำหรับวรรณกรรมประวัติศาสตร์เรื่องนี้
จุดเด่นของคุณก่อศักดิ์ยังอยู่ที่การมองเชิงบริหารของผู้นำต่างๆ ในสามก๊กที่มักใช้การบริหารในระบบ “ครอบครัว” อันเป็นประเพณีของชาวตะวันออก ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียระคนกัน…แต่ถ้านำมาใช้ให้ถูกทางการบริหารแบบครอบครัว (อย่างมีหลักการ) ก็มีตัวอย่างให้เห็นว่า บริษัทตะวันออกประสบความสำเร็จมากกว่าบริษัทตะวันตกเสียอีก
ในจดหมายข่าวที่แนบมาด้วยบอกว่า หนังสือ “สามก๊ก สามมิติ” สามารถสั่งจองและสั่งซื้อทางออนไลน์ ด้วยการเข้าไปค้นหารายละเอียดได้ใน www.aladinonline.co.th แต่ที่ง่ายกว่าและสะดวกกว่าก็คือจะมีวางจำหน่ายใน เซเว่น อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ
ในจดหมายข่าวฉบับเดียวกันนี้ยังมีถ้อยคำโฆษณาประชาสัมพันธ์แนบมาด้วยว่า “อย่าคิดการใหญ่ถ้ายังไม่ได้อ่านสามก๊ก”…ข้อความนี้ขอฝากถึงพรรคการเมืองที่กำลังเตรียมตัวเลือกตั้งและ “คิดการใหญ่” กันอุตลุดในขณะนี้เป็นพิเศษ…อย่าลืมอ่าน “สามก๊กสามมิติ” ของคุณ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ กันด้วยนะครับ.
“ซูม”