ผมเพิ่งจะมีโอกาสไปเดินซอกแซกสำรวจ “สถานีกลางบางซื่อ” สิ่งปลูกสร้างแห่งทศวรรษของประเทศไทย เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว…และได้เขียนเล่าถึงความประทับใจต่างๆเอาไว้ในคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” ฉบับวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ปกติแล้วคนที่เห่อ “ของใหม่” อย่างผมมักจะแวะไปดูไปชมสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เพื่อที่จะเก็บมาเขียนแนะนำตั้งแต่ก่อนแล้วเสร็จ หรืออย่างเก่งก็เสร็จแล้วสักหนึ่งสัปดาห์สองสัปดาห์อยู่เสมอ
แต่ที่รอให้ “สถานีกลางบางซื่อ” สร้างเสร็จไปซะตั้งนาน และนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น เป็นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (ที่น่าจะใหญ่ที่สุดของประเทศ) เป็นสถานีรถไฟฟ้าสีนํ้าเงินและสีแดง รวมถึงล่าสุดจะนำมาใช้เป็นสถานที่จัดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 40” ในวันเสาร์ 26 มี.ค.นี้ ผมถึงได้ตัดสินใจแวะไปเดินนั้น
สาเหตุก็เพราะโควิด-19 นั่นแหละครับ ที่ทำให้ผมกลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่กล้าออกไปไหน…อย่างวันจะไป สถานีกลางบางซื่อ ก็คิดแล้วคิดอีก เพราะตัวเลขระบาดบ้านเรา ยังเกินวันละ 2 หมื่นราย
แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจไปโดยสวมหน้ากากถึง 2 ชั้น และสวมเสื้อแขนยาวค่อนข้างมิดชิด น้องๆ สวมชุด PPE เลยทีเดียว
ผมสรุปสิ่งที่พบเห็น โดยเฉพาะความอลังการงานสร้างของสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีแห่งอนาคต”
เพราะในอนาคตอีกไม่นานที่นี่จะเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม ทางราง ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…จะเป็นจุดเชื่อมของทุกจังหวัดที่มีการคมนาคมทางรางของประเทศไทยไปจนถึงเป็นจุดเชื่อมระหว่างประเทศของรถไฟความเร็วสูงถึง คุนหมิง ถึง สิงคโปร์ ฯลฯ
ระหว่างเดินๆ อยู่นั้นผมก็นึกไปถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นจนทำให้เกิดความวุ่นวายของกระทรวงคมนาคมโครงการหนึ่ง
โครงการ “โฮปเวลล์” ไงล่ะครับ ซึ่งถ้าเราตัดสินใจที่จะใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์คมนาคมทางรางของประเทศเสียแต่สมัยนั้น และกล้าพอที่จะให้การเดินทางด้วยรถไฟจากทั่วประเทศมาหยุดเสียแค่บางซื่อ…เหตุการณ์วุ่นวายอลเวงต่างๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น
แต่เพราะยุคนั้นเรายังเชื่อกันว่า “หัวลำโพง” ต้องเป็นสถานีสุดท้ายของพี่น้องประชาชนชาวไทยจากทุกสาระทิศที่เดินทางเข้ากรุง
เพราะเป็นจุดที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของกรุงเทพฯ และธนบุรี อันจะช่วยให้พี่น้องลงรถไฟ แล้วแบกกระเป๋าหรือหิ้วชะลอมเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างใกล้ที่สุดและสะดวกที่สุด
ใครที่คิดจะแก้ปัญหาจราจร โดยให้รถไฟหยุดแค่ชานเมือง ไม่ว่าดอนเมืองหรือบางซื่อ หรือแม้แต่ มักกะสัน จึงถูกตีตกไปทุกราย
เป็นที่มาของโครงการโฮปเวลล์ที่จะสร้างรางรถไฟเหาะข้ามแยกต่างๆ เพื่อหลบการจราจรและมีการเซ็นสัญญาในยุคสมัยของรัฐบาลน้าชาติ และก่อให้เกิดสารพันปัญหาต่างๆ…ตั้งแต่ “ตอม่ออัปลักษณ์” มาจนถึง “ค่าโง่” ดังที่เป็นข่าวมาตลอด
มาถึงวันนี้ดูเหมือนว่าแนวคิดที่จะให้หัวลำโพงเป็นสถานีสุดท้าย สำหรับรถไฟทุกขบวนจากทุกภาคของประเทศ ดูจะเจือจางไปแยะ
ในการคัดค้านที่มีข่าวว่าจะปิดสถานีหัวลำโพงในปีหน้า…ก็ไม่ได้พุ่งประเด็นไปว่าต้องมีรถไฟทุกขบวนเหมือนเก่า…เพียงแค่ขอให้ยังมีอยู่บ้าง เพื่อพี่น้องชานเมือง หรือมีไว้สักขบวน 2 ขบวน สำหรับจังหวัดไกลๆ เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนเท่านั้น
ซึ่งถ้าเรารู้ว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นทุกวันนี้–ยุคนั้นใช้วิธีหยุดรถส่วนใหญ่ไว้ที่บางซื่อ และจัดส่วนน้อยเข้าหัวลำโพง เพื่อแก้ปัญหาจราจรก็จบไปแล้ว
ไม่ต้องมีโครงการโฮปเวลล์ลอยฟ้าให้เวียนหัว และเป็นตราบาปทางสายตาและค่าโง่มหึมาดังที่เป็นปัญหามาจนถึงทุกวันนี้
ก็เอาเถอะ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปแล้ว เราก็มาเริ่มต้นใหม่และเดินหน้าต่อไป โดยใช้ สถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางดังที่ฝันไว้
ส่วนหัวลำโพงเราก็อนุรักษ์ไว้โดยลดบทบาทลง แต่ยังคงให้มีอยู่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ และรำลึกถึงการพัฒนาประเทศ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงพลิกโฉมประเทศไทยเราเข้าสู่คำว่า “อารยประเทศ” มาตั้งแต่ยุคโน้น
ที่แล้วมาก็แล้วไป ขอให้ถือเสียว่าเป็น “ฝันร้าย” ของชีวิต ซึ่งย่อมมีอยู่บ้าง…จากนี้ไปมาช่วยกันใช้สถานีกลางบางซื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และภาวนาขอให้กระทรวงคมนาคมชนะคดี ไม่ต้องเสียค่าโง่โฮปเวลล์ 24,000 ล้านบาท ก็ชื่นใจแล้วครับ.
“ซูม”