น้ำมันโลกสู่ “120 เหรียญ”? ข่าวร้ายของ “บิ๊กตู่” และคนไทย

ช่วงบ่ายๆ ของวันพุธที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ผลจากการบุกเข้ายูเครนของกองทัพรัสเซียและยังสู้รบกันอย่างยืดเยื้อเป็นวันที่ 6 แล้วนั้น ทำให้ราคาน้ำมันใน 2 ตลาดหลักของโลกพุ่งกระฉูดอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ

น้ำมันดิบเบรนต์ที่ตลาดลอนดอนขึ้นไปที่ 110 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯที่ตลาดนิวยอร์กก็ขึ้นไปอยู่ที่ 109 เหรียญ สูงสุดในรอบ 8 ปี

ขณะเดียวกันก็มีข่าวจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญน้ำมันหลายราย คาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจพุ่งไปถึง 120 เหรียญต่อบาร์เรลในเวลาไม่นานข้างหน้า

ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องน้ำมันเท่าไรนัก มีแต่ความทรงจำและความรู้สึกอย่างกว้างๆ ว่า เวลาน้ำมันดิบในตลาดโลกขึ้นสูงมาเรื่อยๆ พอผ่าน 80 เหรียญ หรือ 90 เหรียญมาแล้ว เราจะเดือดร้อนกันมากๆ

อย่างเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มีข่าวว่าสิบล้อสุดทนจะยกขบวนรวมพลมาขับไล่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนั้น ราคาน้ำมันดิบที่ลอนดอนอยู่แค่ 90 เหรียญต้นๆเท่านั้น และในขณะที่ราคาน้ำมันดิบนิวยอร์กก็อยู่ราวๆ 88-89 เหรียญเท่านั้นเช่นกัน

วันนี้ถ้าเชื่อตามข่าวของบีบีซีก็จะปาไปที่ 109 เหรียญ หรือ 110 เหรียญเข้าให้แล้ว และถ้าเชื่อการวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะจะไปถึง 120 เหรียญแน่นอน หากสงครามยังไม่หยุดลง

ผมก็เทียบบัญญัติไตรยางศ์เอาอย่างง่ายๆว่า แค่ 90 เหรียญ เรายังเดือดร้อนกันถึงขนาดรถสิบล้อต้องเคลื่อนขบวนมาประท้วงรัฐบาลแล้วเช่นนี้ ราคา 110 เหรียญไปจนถึง 120 เหรียญ ความเดือดร้อนจะมากถึงเพียงไหนหนอ?

และเมื่อเดือดร้อนถึงเพียงนั้นแล้วอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง?

ผมก็เหมือนคนแก่ทั่วๆ ไปในโลกนี้ ที่มักจำเหตุการณ์ในอดีตย้อนไปไกลๆ ได้ดีมาก แต่เหตุการณ์ใกล้ๆ เช่น 5 ปีที่แล้ว หรือต้นๆ ปีนี้ หรือแม้แต่เมื่อวานนี้ กลับนึกไม่ออกและจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงจำเหตุการณ์ย้อนหลังเมื่อ ค.ศ.1979 หรือ 2522 ยุคราคานํ้ามันแพงทั่วโลกครั้งที่ 2 แล้วมีผลมาถึงบ้านเรา ทำให้เพลง “นํ้ามันแพง” ของ “สรวง สันติ” ที่เคยฮิตเมื่อตอนวิกฤติราคานํ้ามันครั้งแรกของโลก ปี 2516 กลับมาฮิตใหม่อีกครั้ง ได้อย่างค่อนข้างดี

จำได้แม้แต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 ที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไปแถลงลาออกกลางสภา เพราะไม่สามารถแก้ปัญหานํ้ามันแพงและของแพงต่างๆ ได้

ปีดังกล่าวที่ว่านํ้ามันแพงนั้น ราคาในตลาดโลกดูเหมือนจะอยู่ที่ 35 เหรียญต่อบาร์เรลเท่านั้น

ทีนี้ก็มาถึงช่วงช็อกที่สุดอีกช่วงหนึ่งของราคานํ้ามันในตลาดโลก คือช่วง ค.ศ.2008 หรือ พ.ศ.2551 ที่พุ่งไปสูงสุดถึง 147 เหรียญต่อบาร์เรล

มีการบันทึกไว้ว่า ช่วงเวลาที่ราคานํ้ามันดิบกระฉูดถึง 147 เหรียญนั้น คือเดือนกรกฎาคม ปี 2008 หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ลดลงมา

จากหลักฐานที่ว่านี้แสดงว่าในช่วงปี 2550-2551 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นไปสูงสุดเท่าที่เคยขึ้นกันมานั้น ประเทศเราคงจะต้องเผชิญเหตุการณ์ที่หนักหนาสาหัสกันพอสมควรทีเดียว

นี่แหละที่ผมบอกว่าความจำของผมไม่ค่อยดีตอนแก่ตัว เพราะผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าเราเดือดร้อนแค่ไหนกับราคานํ้ามันกว่า 140 เหรียญในตลาดโลก ใน พ.ศ.ที่ว่า? และเราเอาตัวรอดมาได้อย่างไร?

แม้จะจำไม่ได้เลย แต่เมื่อเราเอาตัวรอดมาได้ และประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งถดถอยไปบ้าง แต่ก็ฟื้นกลับมาได้ใหม่ จนขยับฐานเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง และมีเงินมีทอง มีเครดิตพอสมควร จนรัฐบาลสามารถกู้เงินก้อนใหญ่มากมาใช้จ่ายในการต่อสู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคโควิดได้อย่างไม่เดือดร้อนมากนัก

ผมก็เบาใจและค่อยๆ คลายความหวาดกลัว เรื่องราคานํ้ามันที่บลูมเบิร์กบอกว่าอาจจะถึง 120 เหรียญต่อบาร์เรล (หากสงครามยังไม่ยุติ) ลงไปพอสมควร

ก็ราคา 147 เหรียญ เรายังผ่านมาได้…ราคา 120 เหรียญ เบากว่าตั้งแยะ เราก็น่าจะผ่านได้เช่นกัน…หรือไงครับบิ๊กตู่?

“ซูม”

ข่าว, สงคราม, ราคาน้ำมัน, นํ้ามันแพง, สูง, ซูมซอกแซก