บันทึกการเดินทางครั้งแรก ในยุค “โควิค-19” ยังไม่ซา (นัก)

ผมกลับจากสกลนครถึงบ้านเรียบร้อยแล้วครับ ด้วยความรู้สึก 2 อย่าง 2 ประการควบคู่กัน ประการแรกรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจและมีความสุขที่ได้มีโอกาสไปร่วมส่งมอบอาคารเรียน “100 ปี กำพล วัชรพล” ในนามของพวกเราชาวไทยรัฐ

ให้แก่เด็กๆ ชาวตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน หรือเด็กๆ แห่งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๑๐ (บ้านชมภูพาน) ที่จะใช้อาคารแห่งนี้เป็นที่รํ่าเรียน เขียนอ่าน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความคิด ให้เติบโตเป็นคนเก่งและคนดีของประเทศชาติในวันข้างหน้า

ประการที่สอง เป็นความรู้สึก “ฝ่อๆ” ยังไงก็ไม่รู้ที่อยากจะบันทึกเอาไว้…เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในยุคที่เราจะต้องอยู่อย่างไม่ค่อยเป็นสุขเท่าไรนัก…ในช่วงการระบาดที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะสิ้นสุดเสียทีของโควิด-19 ไวรัสมหาภัยที่ทำเอาสั่นสะเทือนไปทั่วโลกในขณะนี้

ผมเรียนท่านผู้อ่านแล้วว่าการไปสกลนครครั้งนี้เป็นการออกเดินทางจากบ้านเป็นระยะไกลที่สุดของผมในรอบเกือบๆ 1 ปีเต็ม นับตั้งแต่สายพันธุ์เดลตากลับมาอาละวาดหนักเมื่อต้นปีที่แล้ว

ต้องนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน…ต้องตัดขาดงานสังคมต่างๆ แทบหมดสิ้น…ไม่จำเป็นจริงๆ แทบไม่ออกไปไหนเลย

การเดินทางไปสกลนครจึงถือว่าเป็นการเดินทางไกลสุดในรอบเกือบ 1 ปีของผมด้วยเหตุฉะนี้

ทำให้ผมรู้สึกเหมือนว่า ผมเหมือนลูกเต่าทะเล ที่กรมประมงหรือหน่วยงานทหารเรือบางหน่วยเขาเลี้ยงไว้จนโตพอสมควร แล้วเอาไปปล่อยลงทะเล

ลูกเต่าจะรู้สึกหวาดกลัวอย่างเห็นได้ชัด ออกอาการมึนงงเหมือนกลัวเสียงคลื่นทะเล จนบางตัวหันหลังหนีไม่กล้าวิ่งลงทะเลเอาเสียด้วยซํ้า

ผมเองก็เช่นกัน ตอนนั่งรถไปสนามบินกับพี่ๆ เพื่อนๆ ชาวมูลนิธิไทยรัฐ ก็รู้สึกเฉยๆ เพราะทั้งหมดเป็นคนกันเอง รู้ว่าฉีดวัคซีนมาแล้วคนละเท่านั้นเข็มเท่านี้เข็ม แถมยังโดนสอยจมูก 2 สัปดาห์ต่อครั้ง

แต่พอเข้าไปในสนามบินดอนเมือง ผมก็เริ่มเกิดความรู้สึกเหมือนลูกเต่าที่กำลังจะถูกปล่อยลงทะเลขึ้นมาทันที…คือเกิดความหวาดผวาไปหมด

ประการแรก เพราะผู้คนหนาแน่นผิดไปจากที่ผมคิดไว้…ว่าในช่วงโควิดยังไม่ซาเช่นนี้ ไม่น่าจะมีผู้โดยสารมากนัก…ที่ไหนได้ กลับมีผู้โดยสารหนาตาพอสมควร

ต้องเข้าคิวรอตรวจก่อนขึ้นเครื่องยาวพอสมควร และที่หน้าประตูขึ้นเครื่องต่างๆ ก็มีคนนั่งรออยู่พอสมควรเช่นกัน

ครั้นได้เวลาขึ้นเครื่อง…คราวนี้ไม่ใช่พอสมควรแล้วครับ ต้องใช้คำว่า “แน่เอี้ยด” จึงจะถูกต้อง เพราะเครื่องบินที่ผมจะโดยสารไปสกลนครนั้น “เต็ม” ทุกที่นั่งตั้งแต่แถวแรกจนแถวสุดท้าย ไม่มีที่ว่างเลยแม้แต่ที่เดียว

ทำให้การรักษาระยะห่างที่จำเป็นมากในการสู้รบปรบมือหรือหลบเลี่ยงโควิด-19 แทบจะทำไม่ได้เลยเมื่อขึ้นเครื่องไปนั่งที่เรียบร้อย

แม้จะมีการขอดูใบฉีดวัคซีนก่อนซื้อตั๋ว แต่เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่าหลังจากนั้นผู้โดยสารอื่นๆ ไปทำอะไรมาบ้าง มีเชื้อเกาะมาบ้างหรือเปล่า

ระหว่างนั่งเครื่องจาก กทม. ถึงสกลนคร 1 ชั่วโมงเต็มๆ ผมยอมรับว่านั่งนิ่งเหมือนโดนมนตร์สะกดอย่างไรอย่างนั้น แม้แต่ลมหายใจก็กลั้นแล้วกลั้นอีกด้วยความระวังอย่างยิ่ง

ในเที่ยวกลับก็เช่นกัน แน่นทั้งลำอีกเช่นเคย…รักษาระยะห่างอะไรไม่ได้อีกตามเคย ทำให้ผมต้องนั่งนิ่งเหมือนหุ่นยนต์อีกครั้ง

รุ่งขึ้นของวันกลับถึง กทม. ลูกเต่าชราอย่างผมรีบไปสอยจมูกที่แผนกตรวจ ATK ของไทยรัฐทันที ได้รับคำตอบว่า “ไม่พบเชื้อ” ก็ทำให้ใจชื้นขึ้น แต่ก็มิได้ไว้วางใจสนิทนัก

ระหว่างอยู่บ้านก็พยายามห่างๆ คนอื่นๆ และตั้งใจไว้ว่าจะสังเกตตัวเองอยู่เรื่อยๆ คงอย่างน้อยอีก 5 วัน

ทำไงได้ล่ะครับ…บอกแล้วว่าไม่ได้ออกไปไหนเสียนานก็เหมือนลูกเต่าทะเลอยู่ห่างทะเลก็เลยกลัวทะเลนั่นแหละครับ

แถมสนามบินและเครื่องบินในประเทศทุกวันนี้ก็ทำท่าจะกลับมาเป็นทะเลซะอีกแล้ว คือคนแน่นและเที่ยวบินเต็มอยู่บ่อยๆ จนแทบจะรักษาระยะห่างกันไม่ได้เลย

ในท่ามกลางข่าวคราวว่าโควิด-19 ยังมีคนติดเชื้อใหม่วันละหมื่นเช่นนี้…ถึงจะบอกว่าสายพันธุ์ใหม่ไม่น่ากลัว แต่เต่าชราอย่างผมก็ยังกลัวอยู่ดี

กลัว “ทะเลคน” ที่แน่นเอี้ยดเต็มเครื่องในแต่ละเที่ยวน่ะครับ…กัปตัน!

“ซูม”

ข่าว, โควิด19, การเดินทาง, ท่องเที่ยว, สกลนคร, โรงเรียน, ไทยรัฐวิทยา, ซูมซอกแซก