เมื่อดึกๆ วันศุกร์ที่ผ่านมานี้เอง โลกได้สูญเสียดาราภาพยนตร์ฮอลลีวูดระดับตำนาน ขวัญใจแฟนๆทั่วโลกเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ไปอีกคนหนึ่ง…ได้แก่ “ซิดนีย์ ปอยเตียร์” ดาราผิวสีที่โด่งดังมากในยุค ค.ศ.1960 หรือ พ.ศ.2500 ต้นๆ
ซิดนีย์ ปอยเตียร์ แสดงหนังดังๆ มาหลายเรื่อง แต่ที่ดังที่สุด และอยู่ในหัวใจคนไทยที่เคยเป็นหนุ่ม-สาว แต่เดี๋ยวนี้แก่แล้วอย่างผมและเพื่อนๆ อีกหลายคน ก็คือเรื่อง “To Sir with Love” หรือ “แด่คุณครูด้วยดวงใจ” ในชื่อภาษาไทยนั่นเอง
ภาพยนตร์เรื่อง “แด่คุณครูด้วยดวงใจ” เข้ามาฉายในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.2510 หรือประมาณ 54-55 ปีที่แล้ว…ถ้าจำไม่ผิดน่าจะฉายที่โรงภาพยนตร์ เฉลิมไทย ถนนราชดำเนิน และต่อมายังกลับมาฉายอีก 2-3 ครั้ง ที่โรงหนัง สยาม หรือไม่ก็ ลิโด้ (ถ้าจำไม่ผิดเช่นกัน)
ผมเองดูหนังเรื่องนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ดูด้วยความซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง และเกือบจะร้องไห้ทุกครั้งที่ดู โดยเฉพาะในฉากจบเมื่อเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน “To Sir with Love” จากเสียงร้องของ “ลู ลู” (Lu Lu) นักร้องระดับโลกใน พ.ศ.ดังกล่าว ดังขึ้น
To Sir with Love เป็นภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของ Mark Thackeray หนุ่มผิวสีคนหนึ่งที่เรียนจบมาทางวิศวกรรม แต่ยังตกงานอยู่ จึงไปสมัครไปเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน
ปรากฏว่าโรงเรียนที่เขาจะต้องไปสอนนั้นอยู่ในย่านของคนยากจน ในบริเวณโทรมๆ ที่ยังไม่ถึงขั้นสลัม แต่ก็โทรมมากๆ และก็มีอยู่มากพอสมควรในอังกฤษสมัยก่อน
นักเรียนของโรงเรียนนี้เกือบทั้งหมดล้วนเป็นเด็ก “เหลือขอ” มีประวัติว่าถูกไล่ออกจากโรงเรียนอื่นๆ มาแล้วทั้งสิ้น
เมื่อ ซิดนีย์ ปอยเตียร์ ในบทของคุณครูชั่วคราว เข้าไปสอนจึงถูกลองของสารพัดอย่าง ทั้งเรื่องเกเรเกตุงโดยตรง และการ “เหยียดผิว” ด้วย เนื่องจากเขาเป็นครูผิวสีคนเดียวของโรงเรียนนี้
แต่คุณครู มาร์ค ก็ทุ่มเทเอาใจใส่ในการสอน ทั้งการให้ความรู้และให้ความใกล้ชิด ตลอดจนการรับรู้ปัญหาของเด็กๆ แต่ละคน จนในที่สุดก็เอาชนะใจเด็กๆ ได้หมดทั้งห้องเรียน
มาถึงฉากสุดท้ายๆ ที่เด็กเกเรเหล่านั้นเรียนหนังสือจบ จึงได้จัดงานฉลองมอบของขวัญให้แก่เขาก่อนอำลา ท่ามกลางเสียงเพลง “To Sir with Love” เคลียคลอจนคนดูต่อมนํ้าตาแตกดังที่ผมเกริ่นไว้
นอกจากเรื่องนี้แล้ว ซิดนีย์ ปอยเตียร์ ยังชนะใจแฟนหนังชาวไทยและชาวโลกยุคก่อนอีกหลายเรื่อง…เขาเป็นดารา “ผิวสี” คนแรกที่ได้รางวัลออสการ์ เมื่อปี 1963 ในภาพยนตร์เรื่อง “Lilies of The Field” จำไม่ได้แล้วว่าตั้งชื่อไทยๆ ว่าอย่างไร
อีก 2 เรื่องที่โด่งดังมากก็คือเรื่อง “Guess Who Coming to Dinner” และ “In the Heat of the Night” จำชื่อที่ตั้งไว้เป็นภาษาไทยไม่ได้แล้วเช่นกัน
ในยุคที่การเหยียดผิวยังเป็นเรื่องใหญ่มากของสังคมอเมริกัน ใน ค.ศ.โน้น การที่เขาฝ่าฟันขึ้นมาเป็นดาราชั้นนำ และถึงขั้นได้รางวัลออสการ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เขาก็ทำได้สำเร็จในที่สุด
ตามประวัติ ซิดนีย์ ปอยเตียร์ เกิดที่ไมอามี แล้วไปโตที่ บาฮามาส จนอายุ 16 ปี จึงเข้ามาใช้ชีวิตใน นิวยอร์ก รับทำงานสารพัดก่อนเข้าสู่โรงเรียนการแสดง และเริ่มอาชีพนักแสดง
ซิดนีย์ ถือสัญชาติของทั้ง 2 ประเทศ ถือทั้งบาฮามาส และสหรัฐอเมริกา แต่ในบั้นปลายเขากลับไปอยู่ที่ บาฮามาส อีกครั้ง และเสียชีวิตย่างสงบด้วยวัย 94 ปี เมื่อวันที่ 7 มกราคม ตามเวลาบ้านเรา
ก็ถือว่าเขาเสียชีวิตก่อน “วันครู” ของประเทศไทยเพียง 9 วันเท่านั้น…ซึ่งปกติทุกวันครูจะมีคนไทยรุ่นเก่าๆ “โพสต์” ถึงภาพยนตร์เรื่อง “To Sir With Love” กันอยู่เสมอๆ
พร้อมกับทิ้งท้ายขอให้ครูไทยเราหาโอกาสดูภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย เพื่อเพิ่มพูนจิตวิญญาณครูบ้านเรา ซึ่งสมัยก่อนไม่แพ้ครูซิดนีย์เลย แต่หลังๆ ชักจะเจือจางลง
ในฐานะแฟนเก่าคนหนึ่ง ผมขอร่วมแสดงความอาลัย และขอขอบคุณ สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “แด่คุณครูด้วยดวงใจ”…ที่ยังอยู่ในหัวใจของผู้คนทั่วโลก มาจนถึงวันนี้
เมื่อวานเข้าไปดูในยูทูบก็ยังซึ้งอยู่เลยครับ.
“ซูม”