ยังเป็นข่าวใหญ่ของโลกต่อไป สำหรับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ที่องค์การอนามัยโลกออกมายอมรับว่า “น่ากังวล” จนทำให้หลายๆ ประเทศปิดประตูไม่ยอมรับนักเดินทางหรือประชาชนจากแอฟริกาใต้
ส่งผลให้ท่านประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ซีริล รามาโฟซา ต้องออกมาประท้วงและตำหนิว่า มาตรการห้ามเดินทางที่ประเทศทั่วโลกนำมาใช้กับประเทศของท่านเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม และเลือกปฏิบัติ
พร้อมกับขอร้องให้ยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวโดยด่วนที่สุด
จะทำไงได้ล่ะ…แม้จะเข้าใจและเห็นใจท่านประธานาธิบดีแอฟริกาใต้อยู่มากก็ตาม…แต่ผมก็ยังเห็นด้วยกับการใช้นโยบาย “เข้มงวด” จนถึงขั้นห้ามการเดินทางไปหรือเดินทางมาแอฟริกาใต้ดังกล่าว
เพราะยังหวาดหวั่นผลกระทบที่รุนแรงและร้ายกาจจาก สายพันธุ์เดลตา มาจนถึงวันนี้…ดังนั้น เมื่อองค์การอนามัยโลกออกมายืนยันว่า เชื้อที่พบใหม่เป็น “เชื้อที่น่ากังวลใจ” ผมก็ขอร่วมกังวลด้วยคนว่างั้นเถอะ
ทีนี้ก็มาพูดกันถึงชื่อของสายพันธุ์ที่ WHO ตั้งชื่อให้ว่า “Omicron” ว่าจะ “อ่าน” หรือ “เขียน” อย่างไรกันแน่ในภาษาไทยของเรา?
เพราะหนังสือพิมพ์ก็ดี สำนักข่าวออนไลน์ก็ดี รวมไปถึงสถานีโทรทัศน์และวิทยุก็ดี อ่านไม่เหมือนกันแฮะ
บ้างก็อ่านหรือเขียนว่า “โอไมครอน” และบ้างก็อ่านหรือเขียนว่า “โอมิครอน” ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ของ ไทยรัฐ เราอ่านและเขียนว่า “โอมิครอน” ตั้งแต่วันแรกทำให้เพื่อนๆ ผมต้องโทรศัพท์มาถามผมว่า ทำไมไทยรัฐอ่านหรือเขียน ไม่เหมือนคนอื่นๆ ที่เขาอ่านและพิมพ์ว่า “โอไมครอน” ล่ะ?
ผมก็ตอบไปว่า เรายึดหลักการออกเสียงที่ถูกต้องตามหลักภาษาสากล และการใช้คำนี้ของผู้ที่อยู่ในวงการมาตั้งแต่ต้น โดย ฝ่ายข่าวต่างประเทศ ของไทยรัฐนำเข้าสู่ที่ประชุมข่าวตั้งแต่วันแรกว่าต้องอ่าน “โอมิครอน” และได้ตรวจสอบจากผู้สันทัดกรณีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผมเองแรกๆ ก็เขียนว่า “โอไมครอน” ตามที่อ่านจากข่าวออนไลน์อื่นๆ ได้ฟังเหตุผลของน้องๆ ก็เข้าใจและเมื่อไปตรวจสอบด้วยการลองเข้ากูเกิลถาม How to Pronouce ดูว่าคำนี้จะออกเสียงยังไง…อากู๋ตอบชัดเจน “โอมิครอน” ฮ่ะ ผมก็เลยจัดการแก้เสียตามระเบียบ
ต่อมาก็รู้สึกโล่งอกเมื่ออ่านเจอข้อความที่แชร์กันไปอย่างกว้างขวาง จากนักไวรัสวิทยาท่านหนึ่ง ขออนุญาติเอ่ยนาม ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา จาก สวทช. ที่โพสต์ไว้ว่า
เหตุที่ WHO ไม่ใช้อักษรกรีก Nu หรือ Xi อย่างที่คาดกัน เพราะถ้าใช้ Nu จะอ่านออกเสียงพ้องกับ New ซึ่งแปลว่าใหม่ อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ตลอดเวลา
ครั้นจะใช้ Xi ก็ไปพ้องกับชื่อผู้นำประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่ง เดี๋ยวจะมีปัญหาทางการเมืองเสียเปล่าๆ
จึงข้ามไปใช้ Omicron ซึ่งอ่านว่า โอม-อี-ครอน หรือออกเสียงควบไปก็คือ โอมีครอน นั่นเอง
สรุปได้ว่าที่ ไทยรัฐ ใช้มาตั้งแต่ฉบับแรกที่พาดหัวยักษ์ว่า “โอมิครอน” จึงถูกต้องแล้วทุกประการ
ส่วนที่มีบางท่านบอกว่าที่สหรัฐฯ เขาอ่านว่า “โอไมครอน” ผมก็ว่ามีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน
เพราะโดยปกติคนอเมริกันจะอ่านเสียงตัวไอเป็น “ไอ” อยู่เสมอๆ ไม่ค่อยออกเสียง “อิ” หรือ “อี” แบบคนอังกฤษหรือชาติอื่นๆ
อย่างเช่น Semi Final ที่ใช้กันอยู่ในการแข่งขันฟุตบอลที่แปลว่า รอบรองชนะเลิศ นั้น ที่ไหนๆ เขาก็อ่าน “เซมิไฟนอล” ทั้งนั้น…แต่ที่อเมริกาจะอ่าน “เซไมไฟนอล”
หรือคำว่า Anti ที่แปลว่าต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยนั้น ที่ไหนๆ ก็อ่าน “แอนตี้” หรือ แอนที ทั้งนั้น แต่คนอเมริกันจะอ่าน “แอนไท” ไปโน่นเลย
ผมฟังสำนักข่าวอเมริกันหลายครั้งเขาก็อ่านเร็วจนยังบอกไม่ถูกว่าอ่าน “โอมิ” หรือ “โอไม” แน่…อาจจะมีหลายๆ ท่านเคยฟังคนอเมริกันอื่นๆ ที่ออกเสียง “โอไม” อย่างชัดเจนแล้วจึงมีการใช้คำว่า “โอไมครอน” อย่างกว้างขวาง…ก็สุดแต่หลักการและความเชื่อของแต่ละท่านก็แล้วกัน
สำหรับไทยรัฐนั้นเพื่อให้นักเรียนนำไปใช้อย่างถูกต้อง เราก็ขอยืนยันที่จะใช้ “โอมิครอน” ต่อไปนะครับ และที่สำคัญที่สุด… เราไม่ตามก้นอเมริกันอยู่แล้วละ…แฮ่ม!
“ซูม”