ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ในช่วงบ่ายๆ ของวันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน ซึ่งสำนักข่าวออนไลน์บางสำนักรายงานว่าจะมีการประชุมที่กระทรวงคมนาคม เพื่อชี้ขาดว่าจะหยุดการเดินรถไฟทุกขบวนเข้าสู่หัวสถานีหัวลำโพงภายใน 23 ธันวาคม 2564 หรือไม่
เพราะแต่เดิมนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนว่าจะหยุดเดินรถไฟจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเข้าสู่หัวลำโพง ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้เหลือไว้เพียงรถไฟชานเมือง 22 ขบวน ที่จะให้เดินไปก่อนถึงปี 2570 เพื่อให้ประชาชนชานเมืองมีโอกาสปรับตัว
แต่ก็มีข่าวว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คุณ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ท่านมีคำสั่งให้ยกเลิกขบวนที่เหลือภายใน 23 ธันวาคมนี้เลย …เพราะหากยังให้เดินต่อไปอีก จะเป็นการยากต่อการนำที่ดินรอบๆ สถานีไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่มากของการรถไฟ
เพราะใครที่ไหนเขาจะอยากมาลงทุน ถ้าหากไม่ชัดเจนว่าจะหยุดเดินรถทั้งหมดเข้าสู่หัวลำโพงเมื่อใด?
ผมไม่ทราบว่าการประชุมเมื่อวันจันทร์จะลงเอยอย่างไร? และข้อเขียนวันนี้ซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับคุณศักดิ์สยามจะทันกาลหรือไม่?
แต่มาคิดอีกทีเรื่องใหญ่มากๆ แบบนี้น่าจะมีการเสนอไปขอมติสุดท้ายจากคณะรัฐมนตรีอย่างแน่นอน คงไม่สิ้นสุดหรือยุติแค่กระทรวงคมนาคมหรอก…การแสดงความคิดเห็นจึงยังน่าจะดำเนินการได้
ประกอบกับในช่วง 2-3 วันมานี้ เริ่มมีบุคคลที่มีความรู้ความคิด และประชาชนจำนวนมาก แสดงความคิดเห็นต่อต้านการ “หักดิบ” ของท่านรัฐมนตรีคมนาคมผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ออกมาเป็นระยะๆ ผมก็ขอถือโอกาสนี้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยก็แล้วกัน
สำหรับผมเองนั้น มีทั้งส่วนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับคุณศักดิ์สยามใน 2 ประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรกผมเห็นด้วยในการที่จะใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม และขนส่งในระบบรางต่อไปในอนาคต เพราะลงทุนไปแล้วอย่างมหาศาล ควรจะนำมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว
ประกอบกับสถานีกลางบางซื่อก็ถือว่าไม่ไกลจากศูนย์กลางความเจริญของ กทม.มากนักในปัจจุบัน เพราะอยู่เลยจาก สถานีขนส่งหมอชิต 2 ไปเพียงนิดเดียว พี่น้องประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดสามารถจะเดินทางไปจุดหมายอื่นๆ ได้ไม่ยาก…
ในส่วนที่ผมไม่เห็นด้วยกับคุณศักดิ์สยามก็คือ ผมยังต้องการให้ใช้ สถานีหัวลำโพง ต่อไป สำหรับขบวนรถชานเมืองอีก 22 ขบวนไปตามแผนเดิมคือ พ.ศ.2570 หรือหากจะร่นเข้ามาอีกก็น่าจะเป็นปี 2566 หรือ 2567 เป็นอย่างน้อย
เหตุผลข้อแรกก็เหมือนกับที่หลายๆ ท่านได้แสดงความเห็นไว้แล้วคือ เห็นใจพี่น้องต่างจังหวัดที่อาศัยขบวนรถเหล่านี้มาทำงานใน กทม. แบบมาเช้าเย็นกลับ ซึ่งข่าวว่ามีจำนวนนับเป็นหมื่นคนในแต่ละวัน
การยืดเวลาออกไปจึงเท่ากับเป็นการให้เวลาและให้โอกาสพี่น้องเหล่านี้ในการปรับตัวเองได้มากขึ้น
แต่เหตุผลที่ผมให้นํ้าหนักเป็นพิเศษคือ เหตุผลที่การรถไฟอ้างว่าจะนำที่ดินรอบๆ หัวลำโพงไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพื่อหวังจะนำรายได้มาแก้ปัญหาการขาดทุนของรถไฟนั่นต่างหาก
ผมมองว่าการลงทุนสร้างอาคารพาณิชย์ อาคารที่อยู่อาศัย (คอนโด) อาคารสำนักงานที่เรียกว่ามิกซ์ยูสนั้นมีมากเกินไปแล้วสำหรับ กทม. ในปัจจุบัน
เท่าที่มีอยู่ทุกวันนี้กลายเป็นโครงการร้างไปเสียจำนวนมาก…ยิ่งมาเจอปัญหาโควิด-19 กระหน่ำซํ้า ยิ่งจะร้างหนักขึ้นไปอีก
การฝันที่จะใช้ที่บริเวณรอบๆ หัวลำโพงในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่างๆ จึงเป็นความฝันที่ไม่สมจริงและควรชะลอออกไป
เหนืออื่นใดมีข่าวว่าอาจจะต้องแก้ “ผังเมือง” เพื่อให้สามารถสร้างตึกสูงปรี๊ดในบริเวณนี้ ซึ่งแต่เดิม “ห้ามสร้าง” อีกด้วย
ยิ่งจะทำให้อาณาบริเวณแห่งนี้มีตึกสูงปรี๊ดเกิดขึ้นขัดแย้งกับที่เคยเป็นอยู่ จะทำให้ภาพที่ออกมาขัดลูกหูลูกตาอย่างบอกไม่ถูก
ผมจึงเห็นว่าควรจะชะลอโครงการ “ฝันเฟื่อง” ที่อาจจะเป็น “ฝันร้าย” ของชาติด้วยการขึ้นตึกรามต่างๆ ให้มาเป็นตึกร้างในอนาคตเอาไว้ก่อน
หาก “หลานศักดิ์สยาม” จะเสนอมาให้แก้ผังเมืองเพื่อสร้างตึกสูงรอบๆ หัวลำโพงอย่างที่มีข่าวละก็…อย่ายอมง่ายๆ นะครับลุง!
“ซูม”