จากข้อเขียนอำลาอาลัย “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ของคุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” ในคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” ที่อยู่ด้านขวามือของคอลัมน์ผมในไทยรัฐ ฉบับเมื่อวานนี้
ทำให้ผมต้องขออนุญาตเขียนถึง ดร.โกร่งต่ออีกหนึ่งวัน เพื่อให้การบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นเล็กๆ ของประเทศในครั้งนั้นสมบูรณ์ครบถ้วน
เพราะการตัดสินใจลอยตัวเงินบาทจนเป็นผลให้ค่าเงินบาทลดลงถึงเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2527 นั้น ถือเป็นประวัติศาสตร์ทั้งใน ทางเศรษฐกิจ และ ในทางการเมือง ที่ควรแก่การบันทึกให้คนรุ่นหลังได้รับทราบไว้
พูดถึงทางการเมืองก่อน…เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการ “ประลอง อำนาจ” ระหว่าง ผบ.ทบ. ที่อยู่ในตำแหน่ง (พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก) กับ อดีต ผบ.ทบ. ที่ขึ้นไปเป็นนายกฯแล้ว (พล.อ.เปรม) นั่นเอง
เนื่องเพราะในคืน “ลอยกระทง” น่าจะหนึ่งคืนหลังประกาศลดค่าเงินบาท…พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ได้ออกมาแถลงว่า “ไม่เห็นด้วย” กับรัฐบาล ผ่านโทรทัศน์ช่อง 5 ด้วยน้ำเสียงที่ขุ่นมัวอย่างยิ่ง
แต่ในที่สุดการประลองอำนาจก็จบลงโดย พล.อ.อาทิตย์ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.สูงสุด ด้วยนั้น ต้องหลุดจาก ผบ.ทบ. ไปเป็น ผบ.ส.ส. เพียงตำแหน่งเดียว
ในข้อเขียนของคุณ ลม เปลี่ยนทิศ ฉบับเมื่อวานนี้เล่าว่า “ดร.โกร่ง” ซึ่งนอกจากเก่งกาจในด้านเศรษฐศาสตร์แล้วยังเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ เป็นศิษย์เอกของท่านอาจารย์ เทพย์ สาริกบุตร อีกด้วย
ดังนั้น ดร.โกร่งในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาป๋า จึงไปขอให้ท่านอาจารย์เทพย์ช่วยหาฤกษ์งามยามดี…ว่าควรจะประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ในวันและเวลาใด จึงจะเป็นผลดีแก่รัฐบาลอีกทางหนึ่ง
ทำให้ผมหวนคิดถึงความเป็นจริงในสังคมไทยเราที่ว่า การดูฤกษ์ดูยาม หรือการนิมนต์พระมาเจิมบริษัท หรือเจิมโครงการต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่คนไทยเราทำกันเป็นประจำจนกลายเป็นวัฒนธรรมประการหนึ่งของชาติก็ว่าได้
แต่เมื่อดูฤกษ์แล้วเจิมแล้วเราก็จะเห็นว่าบรรดาเจ้าของบริษัท เจ้าของโครงการ…โดยเฉพาะเจ้าสัวหรือท่านเศรษฐีนักธุรกิจจะลงมือปฏิบัติงาน หรือทำงานของท่านอย่างแข็งขันควบคู่ไปด้วย
จนในที่สุดแล้วธุรกิจนั้นๆ ก็ประสบความสำเร็จในที่สุด
ความสำเร็จของเศรษฐกิจไทย หลังป๋าเปรมยอมให้ปู่หมายลดค่าเงินบาทครั้งนั้นก็เช่นกัน การวางฤกษ์ยามที่ดีคงมีส่วนช่วยเยอะในด้านขวัญและกำลังใจ
แต่ความสำเร็จอย่างยิ่งยวดมาจากการทำงานหนักของบุคคลอีกหลายๆ คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของประเทศในยุคนั้นนั่นเอง
โดยเฉพาะท่านอาจารย์ ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ ใน พ.ศ.ดังกล่าว
ดร.เสนาะเป็นผู้เสนอความเห็นไปถึงรัฐบาลว่า จะต้องมี คณะทำงานพิเศษ ขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อหาทางใช้ประโยชน์จากการลดค่าเงินบาทให้เกิดผลเต็มที่
กำหนดมาตรการหลักขึ้น “24 มาตรการ” ที่จะทำให้การลดค่าเงินบาทเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีคณะทำงานย่อยมาติดตามดูแลมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด
ด้วยการ “วางฤกษ์” ที่ดีงาม บวกกับการทำงานอย่างหนักของคณะทำงานชุดนี้ โดยมี “ดร.โกร่ง” ซึ่งนอกจากจะช่วยวางฤกษ์งามยามดีให้แล้ว ตัวท่านเองยังมาเป็นประธานหรือกรรมการในชุดย่อยๆ ของมาตรการต่างๆ อีกหลายชุด
อีก 1 ปีต่อมา เศรษฐกิจไทยก็พลิกผันจากประเทศที่เผชิญปัญหา “ขาดดุล” อย่างหนัก…กลายเป็นประเทศ “เกินดุล” เพราะมีรายได้จากการส่งออก และท่องเที่ยวอย่างเกินคาดหมาย
นี่คือสูตรของการทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จด้านต่างๆ ของประเทศไทยที่เราใช้กันมาตั้งแต่โบราณกาล…ได้แก่ “วางฤกษ์ไปประพรมน้ำมนต์ไป แต่ก็ทำงานหนักควบคู่ไปด้วย”
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่นะครับ เพราะสูตรนี้แหละที่ทำให้ประเทศไทยของเราก้าวจากประเทศ “ยากจน” มาเป็นประเทศ “รายได้ปานกลางขั้นสูง” ได้สำเร็จอย่างเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้.
“ซูม”