ข้อตกลงลด “โลกร้อน” จะ “ปฏิบัติ” ได้แค่ไหน?

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ณ นาทีนี้กำลังมีการประชุมครั้งยิ่งใหญ่ (มาก) ของโลกที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่เรียกกันย่อๆ ว่า COP26

มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “การประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญา สหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties : UNFCCC COP) สมัยที่ 26”
การประชุมเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม และจะว่ากันไปเรื่อยๆจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

ต้องยอมรับว่าเป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เพราะบรรดาผู้นำของโลกต่างไปร่วมประชุมกันเพียบ ทั้ง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ คุณ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ คุณ จัสติน ทรูโด นายกฯ แคนาดา คุณ นเรนทรา โมดี นายกฯ อินเดีย ฯลฯ
นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องบินไปประชุมด้วยตนเอง หลังจากฉีดวัคซีนบูสต์เข็ม 3 เป็นที่เรียบร้อย

และเมื่อไปถึงโน่นเราก็เห็นภาพท่านเดินจับมือผู้นำโลกในงานเลี้ยงรับรองอยู่หลายช็อต บนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

เป้าหมายหลักของการประชุมครั้งนี้ยังคงยึดข้อตกลงเดิมในการประชุมเมื่อปี 2015 ซึ่งก็คือทุกประเทศทั่วโลกจะต้องลดระดับปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ (net-zero) ภายในปี 2050 และพยายามให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าในอนาคตในการประชุมครั้งนี้ จึงจะขอให้แต่ละประเทศช่วยไปเสนอแผนการดำเนินต่างๆ จนถึงปี 2030 ให้ดูกันหน่อยว่าจะทำอะไรกันบ้าง? ก่อนจะถึงปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริง

ในระหว่างการประชุมครั้งนี้จะมีการแบ่งหัวข้อประชุมของประเด็นที่จะมีส่วนในการลดคาร์บอนและการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินไปในหลายๆ ประเด็นควบคู่ไปด้วย

วิธีการหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ “ยุติการตัดไม้ ทำลายป่า” นั่นเองการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมากมายมหาศาล ได้มีส่วนทำให้โลกของเรา ร้อนมากขึ้น ดังนั้น ความพยายามในการจำกัดอุณหภูมิให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้น จะต้องหาทางหยุดยั้งการทำลายป่าไม้ให้จงได้

ซึ่งก็ปรากฏว่าในการประชุมประเด็นนี้ ผู้นำจาก 105 ชาติ ได้ทำข้อตกลงให้คำมั่นว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่า และหันมาฟื้นฟูป่า ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 อีก 9 ปีข้างหน้าเป็นที่เรียบร้อย

โดยเฉพาะประเทศที่มีพื้นที่เป็นป่าไม้ส่วนใหญ่ของโลกรวมแล้วถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เช่น บราซิล แคนาดา รัสเซีย จีน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ต่างก็ร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าวด้วย

ถือเป็นข้อตกลงที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นความสำเร็จข้อแรกของการประชุมครั้งนี้ก็ว่าได้

แต่ในทันทีที่มีการแถลงข่าวถึงการบรรลุถึงข้อตกลงในประเด็นนี้ ก็มีนักวิเคราะห์จำนวนมาก ออกมาฝากข้อคิดว่า…คำมั่นสัญญาต่างๆ จะไม่มีความหมายอะไรเลย หากไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง

มีบางท่านออกมาเตือนความทรงจำว่าในการประชุมว่าด้วยสภาพอากาศก่อนหน้านี้ ก็เคยมีการตกลงในประเด็นนี้มาแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าได้แต่อย่างใด

ผมเห็นว่าเป็นข้อสังเกตที่ดีก็ขอนำมาลงไว้…เพื่อที่จะเป็นเครื่องเตือนใจรัฐบาลไทยที่ท่านนายกฯ ของเราไปร่วมประชุมกับเขาด้วยกลับมาจะได้สั่งการให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าและการฟื้นฟูป่ารับไปดำเนินงานให้เข้มแข็งต่อไปเพราะของบ้านเราป่าไม้ก็หมดไปเยอะแล้วเหมือนกัน

การประชุม COP26 ยังไม่จบครับ…ก็ขอเชิญติดตามต่อไปว่าจะมีมติอะไรออกมาอีกบ้าง…โดยเฉพาะหนุ่มๆ สาวๆ รุ่นหลังที่ยังจะต้องอยู่ต่อไปอีกยาวนาน

โปรดติดตามอย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อประโยชน์ในการ ควบคุมดูแลรัฐบาลหรือหน่วยราชการในอนาคตว่าจะทำตามสัญญาหรือเปล่า และในที่สุดประเทศเราจะ “เน็ตซีโร่” กับเขาได้หรือเปล่า

ปี ค.ศ.2050 หรือ พ.ศ.2593 นั้นยังอีกนานเหลือเกินครับ คนเขียนคอลัมน์นี้อยู่ไม่ถึงแน่ “ลุงตู่” คนไปเซ็นสัญญาก็ไม่น่าจะอยู่ถึง เพราะฉะนั้นฝากลูกๆ หลานๆ อายุ 20-30 ปี วันนี้ที่น่าจะอยู่ถึงเอาไว้ด้วยก็แล้วกัน.

“ซูม”

ข่าว, ประชุม, สภาพภูมิอากาศ, โลกร้อน, ตัดไม้, ทำลายป่า, ซูมซอกแซก