ย้อนอดีตเพลง “ปลุกใจ” 5 อันดับ “สุดฮิต” แห่งสยาม

ท่านผู้อ่านคงจะทราบแล้วว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพลง “ปลุกใจ” ให้รักชาติ รักบ้านเมือง ได้กลับมาเป็นเพลงยอดนิยมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ที่นำมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ในสไตล์เพลงร็อกและเพลงแจ๊ส ฮิตมากจนยอดวิวขึ้นพรวดๆ ในยูทูบขณะนี้

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ…ทีมงานซอกแซก โดยเฉพาะหัวหน้าทีมที่เติบโตมากับเพลง “ปลุกใจ” ก็ว่าได้ เพราะพอเริ่มจำความได้ตอนอายุ 7-8 ขวบ ก็ได้ยินเพลง “ปลุกใจ” จากสถานีวิทยุกรอกหูจนสามารถร้องตามได้หลายๆ เพลง

จึงถือโอกาสที่จะมาย้อนตำนานเพลงปลุกใจว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร? พร้อมกับจะขออนุญาตจัดอันดับในนามของพวกเราทีมงานซอกแซกว่าสุดยอดเพลงปลุกใจ “ท็อปฮิต” ในอดีตนั้น ได้แก่เพลงอะไรบ้าง…เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านรุ่นหลังๆ ไม่มากก็น้อย

จำได้ว่าเพลงปลุกใจที่ได้ยินได้ฟังในยุคที่หัวหน้าทีมอายุ 7-8 ขวบ คือ พ.ศ.2491-2492 นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงของ หลวงวิจิตรวาทการ อดีตนักการทูตในสังกัดกระทรวงต่างประเทศ แต่สนใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ทั้งของโลกและของไทย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่ปรึกษาคู่ใจของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และมีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษาด้านนโยบายการปกครองและการต่างประเทศ ตลอดจนทางด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน

ตำแหน่งทางราชการที่มีผลทำให้หลวงวิจิตรวาทการกลายมาเป็นนักแต่งเพลงปลุกใจ ระดับต้นตำนานของประเทศไทย ก็คือตำแหน่ง อธิบดีกรมศิลปากร นั่นเอง ซึ่งท่านได้รับ

คำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2479 และได้ริเริ่มแต่งบทละคร เพื่อชักจูงจิตใจคนไทยให้รักชาติบ้านเมืองขึ้นหลายๆ เรื่อง ซึ่งในแต่ละเรื่องจะมีเพลงประกอบหรือเพลงประจำเรื่องและ

ต่อมาก็ได้กลายเป็นเพลง “ปลุกใจ” ที่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง

ละครปลุกใจที่หลวงวิจิตรวาทการประพันธ์บทไว้มีกว่า 20 เรื่อง และที่โด่งดังติดปากประชาชนยุคโน้นก็เช่น ราชมนู, ศึกถลาง, เจ้าหญิงแสนหวี, น่านเจ้า, สีหราชเดโช, อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง และ เลือดสุพรรณ ฯลฯ เป็นต้น

โดยเฉพาะเรื่อง เลือดสุพรรณ เป็นละครฮิตมากแสดงติดต่อกันยาวนานจนสามารถเก็บเงิน สร้างโรงละคร ให้แก่กรมศิลปากรได้ 1 โรง

มีเพลงประจำเรื่องในชื่อเดียวกัน และต่อมาเป็น 1 ในเพลงปลุกใจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งมีเนื้อร้องท่อนแรกว่า “มาด้วยกัน ไปด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย” นั่นเอง

สำหรับเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็ได้แก่เพลง “ตื่นเถิดชาวไทย”, “รักเมืองไทย”, “แหลมทอง” และ “ต้นตระกูลไทย” เป็นต้น

เพลง “ตื่นเถิดชาวไทย” มีเนื้อร้องที่จำกันได้ติดหูท่อนหนึ่งว่า “ตื่นเถิดชาวไทย อย่าหลับใหลลุ่มหลง” เป็นเพลงประกอบละครเรื่อง ศึกถลาง แสดงในปี 2480 ในขณะที่เพลง “รักเมืองไทย” ท่อนฮิตที่สุดก็คือท่อนที่ร้องว่า “รักเมืองไทย ชูชาติไทย ทำนุบำรุงให้รุ่งเรือง สมเป็นเมืองของไทย” แต่งไว้ เป็นเพลงประกอบละครเรื่อง “ราชมนู” แสดงเมื่อ พ.ศ.2479

ส่วนเพลง “แหลมทอง” เนื้อร้องท่อนสำคัญก็คือ “แหลมทองไทยครอบครองเป็นแดนไทย รักกันไว้เราพวกไทยในแดนทอง” ค้นไม่เจอว่าเป็นเพลงประกอบละครเรื่องใด

อย่างไรก็ดี เพลงที่ถือว่าดังที่สุด ไพเราะที่สุด เร้าใจที่สุด แต่ก็กลายเป็นเพลงที่ถูกวิจารณ์และล้อเลียนมากที่สุด ได้แก่เพลง “ต้นตระกูลไทย” ที่มีเนื้อร้องว่า “ต้นตระกูลไทย ใจท่านเหี้ยมหาญ รักษาดินแดนไทยไว้ให้ลูกหลาน”นั่นแหละครับ

เพลงนี้ไม่แน่ใจว่าจะแต่งไว้ในยุคที่หลวงวิจิตรฯ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรยุคแรก พ.ศ.2477 หรือไม่ แต่กล่าวกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของละครเรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ที่นำมาแสดงใหม่ใน พ.ศ.2497 อันเป็นยุคที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยและชื่นชอบเพลงนี้มาก สั่งการให้มีการเปิดผ่านวิทยุแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุของทางราชการต่างๆ วันละหลายครั้ง

ขณะเดียวกันก็มีบทวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์ที่อยู่ตรงข้ามกับจอมพล ป.ที่รู้สึกเบื่อเพลงนี้มากหลายต่อหลายครั้ง…แต่ที่หัวหน้าทีมซอกแซกจำ

ได้มีอยู่ท่านหนึ่งเขียนเป็น เรื่องโจ๊ก ไว้…ซึ่งผม อนุญาตเรียบเรียงใหม่ให้อ่านง่ายขึ้นดังนี้

ตำรวจโรงพักหนึ่งจับผู้ร้ายปากแข็งได้รายหนึ่งพยายามขู่เข็ญหลายวิธี เจ้าผู้ร้ายไม่ยอมสารภาพ (สมัยนั้นคงยังไม่มีการใช้ถุงดำคลุมศีรษะแบบผู้กำกับโจ้ นครสวรรค์)

ต่อมาสารวัตรใหญ่ก็นึกวิธีใหม่ออกจึงหิ้วหีบแผ่นเสียงมา 1 หีบพร้อมแผ่นเสียง 1 แผ่น ได้แก่แผ่นเสียงเพลง “ต้นตระกูลไทย” และจัดการเปิดให้เจ้าผู้ร้ายฟังทันที

เจ้าผู้ร้ายเห็นหีบแผ่นเสียงก็หัวเราะบอกโรงพักนี้ดีแฮะ เปิดแผ่นเสียงให้ผู้ต้องหาฟังด้วย

ตำรวจในโรงพักมีหลาย 10 คน ต่างก็หมุนเวียนกันมาเปิดเพลงต้นตระกูลไทยแล้วก็ออกไป…ในขณะที่เจ้าผู้ร้ายต้องฟังอยู่คนเดียวซํ้าๆ ซากๆ

ตำรวจเวียนกันมาเปิดเพลงอยู่ 2 วัน วันละ 24 ชั่วโมง หรือ 1,440 นาที และเพลงมีความยาว 3 นาที จึงเปิดได้ 480 ครั้ง ดังนั้นรวมกัน 2 วัน จึงเท่ากับเปิดไป 960 ครั้ง

เรื่องโจ๊กเรื่องนี้จบลงที่ว่า พอตำรวจเดินเข้ามาจะเปิดครั้งที่ 961 เจ้าคนร้ายซึ่งฟังมา 960 ครั้งเกือบจะบ้าตายอยู่แล้วก็ตะโกนลั่นโรงพักว่า…“หยุดเถอะ สารวัตร…ผมสารภาพแล้วครับ ผมปล้นเขามาจริงๆ”

ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าเพลง “ต้นตระกูลไทย” ของหลวงวิจิตรวาทการ น่าจะเป็นเพลง “ปลุกใจ” ที่ดังที่สุด เพราะมีทั้งเสียงชื่นชม และเสียงวิพากษ์วิจารณ์และบทความล้อเลียนดังที่เล่ามาข้างต้นนี้…ครบถ้วนทุกประการ.

“ซูม”

ข่าว, เพลง, ปลุกใจ, บ้านเกิดเมืองนอน, เลือดสุพรรณ, ต้นตระกูลไทย, ตื่นเถิดชาวไทย, หลวงวิจิตรวาทการ, ซูมซอกแซก