เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ ไม่เสียหาย! ถ้าใช้เงินเป็น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่เพิ่มจากเดิมร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทำให้กระทรวงการคลังสามารถที่จะกู้เงินเพิ่มขึ้นได้อีก 1.2 ล้านล้านบาท ตามเปอร์เซ็นต์ใหม่ที่ ครม.เห็นชอบ

ท่านรัฐมนตรีอาคมอธิบายว่า เหตุที่ต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ก็เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพิ่มขึ้น และไม่เป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลในการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เงินเพื่อเยียวยาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

“กระทรวงการคลังจะกู้เพิ่มเมื่อมีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น และจะยังไม่กู้ในทันทีทันใด เพราะยังมีวงเงินกู้เพิ่มเติมจากวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งยังเหลืออยู่ราวๆ 350,000 ล้านบาท”

“ส่วนจะต้องกู้เพิ่มเติมหรือไม่? มากน้อยเท่าไร? ขึ้นอยู่กับการแพร่ ระบาดจะคลี่คลายรวดเร็วหรือไม่? ถ้าคลี่คลายเร็ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา อาจไม่จำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก…ก็อาจไม่ต้องกู้เลย” รัฐมนตรีอาคมกล่าวเพิ่มเติม

สำหรับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะของเดือนกันยายน น่าจะอยู่ที่ 58.96 เปอร์เซ็นต์ ตํ่ากว่าเป้าที่กำหนดไว้ 60 เปอร์เซ็นต์ ตามเพดานเดิมเล็กน้อย

แต่หากจะกู้อีก 350,000 ล้าน ในปี 2565 ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท อาจจะทำให้ทะลุกรอบ 60 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องขอขยับเพดานเพื่อเตรียมรองรับไว้ดังกล่าว

ท่านผู้อ่านคงจำได้ ก่อนหน้านี้หนึ่งวันหรือสองวัน รัฐมนตรีอาคมได้เข้าประชุมหารือแบบลับมาก และเร่งด่วนมากกับนายกรัฐมนตรีในเรื่อง เดียวกันนี้ โดยมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ และท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติ เข้าร่วมประชุมด้วย

ถือได้ว่ามีการพิจารณากลั่นกรองอย่างรอบคอบแล้วว่างั้นเถอะ

รัฐมนตรี อาคม นั้นเคยเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์มาก่อน…เติบโตมาจากกองบัญชีประชาชาติ คุ้นเคยกับตัวเลขจีดีพีอย่างดียิ่ง

นอกจากนี้ก็ยังเป็นธรรมชาติของข้าราชการสภาพัฒน์ที่ได้รับการฝึกสอนมาตั้งแต่เป็นชั้นผู้น้อยว่า จะต้องละเอียดรอบคอบ วิเคราะห์ผลดีผลเสียของโครงการ หรือมาตรการ หรือนโยบายในด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างตรงไปตรงมา

ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่า การตัดสินใจเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จาก 60 เป็น 70 ของท่านครั้งนี้ไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด

จริงๆ แล้วถ้าเราไปดูหลักเกณฑ์การกำหนดเปอร์เซ็นต์ว่าควรเป็นเท่าไร ก็มิได้มีข้อแนะนำอะไรที่แน่ชัดว่าต้องเท่านั้นเท่านี้ถึงจะเหมาะสม

ประเทศพัฒนาแล้วที่เชื่อมือตนเองว่า กู้แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง และสามารถใช้หนี้ได้…เขากู้กันที่ 100 ต่อ 100 หรือมากกว่าด้วยซ้ำ

ประเทศที่ขึ้นชื่อมากก็คือประเทศญี่ปุ่น ดินแดนอาทิตย์อุทัยของเรานี่แหละ ที่อัตราหนี้สาธารณะสูงถึง 250 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีสิงคโปร์เองก็อยู่ที่ร้อยละ 130 กว่า

ดังนั้น จะเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ผมก็เห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ทำได้ และหากเราจะนำเงินกู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง หย่อนเงินลงไปแล้วช่วยทำให้ GDP กระฉูดจริง มันก็จะทำให้ฐาน GDP ใหญ่ขึ้นไปเร็ว และยิ่งเร็วเท่าใด อัตราหนี้ต่อจีดีพีก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น

คำถามสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ว่า เมื่อกู้มาแล้วจะใช้อย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด?

คงต้องฝากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะทีมข้าราชการประจำ ได้แก่ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ เอาไว้เป็นการบ้าน

ข้อสำคัญ ในฐานะที่ท่านรัฐมนตรีคลัง ท่านเป็นนักบัญชีประชาชาติเก่า ย่อมรู้ดีว่ามูลค่าหรือตัวเลขจีดีพีนั้น ต่อให้คำนวณแม่นแค่ไหน ก็เป็นแค่ตัวเลขประมาณการ อาจผิดได้ถูกได้

แต่เงินกู้ทุกบาททุกสตางค์เป็นของจริงครับ กู้เท่าไรก็ต้องใช้คืนเท่านั้น มาจากเลือดจากเนื้อของประชาชนโดยแท้ จึงต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด…ขอฝากท่านไว้ด้วยก็แล้วกัน.

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจ, ไทย, GDP, หนี้สาธารณะ, เพิ่ม, เพดาน, ซูมซอกแซก