จากวันนี้ (อาทิตย์ที่ 5 กันยายน) ก็เหลืออีกเพียง 16 วันเท่านั้น “วันไหว้พระจันทร์ 2564” จะเวียนมาถึงอีกครั้ง ในวันอังคารที่ 21 เดือนกันยายน ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 10 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย
แม้ประเพณีไหว้พระจันทร์จะเป็นประเพณีและความเชื่อของชาวจีนที่มีมากว่า 120 ปีแล้วก็ตาม…แต่สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากมีพี่น้องชาวจีนอพยพมาอยู่อาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นอันมาก จึงนำประเพณีไหว้พระจันทร์เข้ามาด้วยและในเทศกาลไหว้พระจันทร์…บรรดาภัตตาคารจีนต่างๆ ก็มักจะแข่งกันจัดทำขนม ไหว้พระจันทร์ ซึ่งมีลักษณะคล้าย “ขนมเปี๊ยะ” แต่หนากว่า แน่นกว่าออกจำหน่ายจนเป็นที่นิยมของคนไทย
ต่อมาเมื่อการท่องเที่ยวบ้านเราบูมขึ้นมีโรงแรมทันสมัย 4 ดาว 5 ดาว เกิดขึ้นมากมาย และแต่ละโรงแรมก็มีภัตตาคารจีนประจำโรงแรม… จึงมีการจัดทำขนมไหว้พระจันทร์ขึ้นในโรงแรมต่างๆ อย่างแพร่หลายเช่นเดียวกัน
แต่สำหรับ “บุคคล” ผู้บุกเบิกตลาดขนมไหว้พระจันทร์ขึ้นอย่างจริงจังในประเทศไทยและทำให้ “ตลาดขนมไหว้พระจันทร์” กลายเป็นตลาดที่มีขนาดธุรกิจใหญ่โตขึ้น จากปีละไม่กี่ร้อยล้านบาทจนสูงสุดถึงกว่า 1,000 ล้านบาท หัวหน้าทีมซอกแซกขอยกให้แก่คุณ ภัทรา ศิลาอ่อน หรือ “ป้าใหญ่” ผู้ก่อตั้ง “แฟรนไชส์” ร้านอาหาร “S&P” ที่แพร่หลายทั่วประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงนั่นแหละครับ
ป้าใหญ่เริ่มต้นการบุกเบิกธุรกิจขนมไหว้พระจันทร์ ด้วยการเข้าเทกโอเวอร์กิจการขนมไหว้พระจันทร์ “มังกรทอง” ก่อนเป็นเริ่มแรก และอาจจะนำออกขายหลายปีแล้วก็ได้ แต่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า เอสแอนด์พีเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์แบรนด์นี้เมื่อปี 2553 เป็นครั้งแรก
จากนั้นอีก 2-3 ปีต่อมา เอสแอนด์พี ก็แถลงข่าวว่า จะผลิตในแบรนด์ของตนเอง (แม้จะยังผลิตแบรนด์มังกรทองอยู่ดังเช่นปีนี้ก็ยังมีมังกรทองจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เกตต่างๆ) และในที่สุดก็ผลิตแบรนด์ เอสแอนด์พี สู่ตลาดจนกลายเป็นการจุดกระแส “ขนมไหว้พระจันทร์” มาจนถึงปัจจุบัน
เคยมีการประมาณการว่า ยอดจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์น่าจะสูงถึง 1,000 ล้านบาท เมื่อปี 2562 แต่มาลดลงราวๆ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีกลาย (2563) ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ปีแรก ซึ่งผู้ผลิตขนมไหว้พระจันทร์ไม่ทันตั้งหลัก จึงปรับตัวไม่ทัน
สำหรับปีนี้ ในการแถลงข่าวล่าสุด เอสแอนด์พี เชื่อว่าจะสามารถตีตื้นกลับมาได้ เพราะผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ได้เปิดการจำหน่ายทางออนไลน์มากขึ้น และมีการวางแผนจัดส่งในระบบ ดีลิเวอรี และมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าเป็นเวลานานพอสมควร
ทำให้คาดว่าตลาดขนมไหว้พระจันทร์ปีนี้น่าจะคืนสู่หลัก 1,000 ล้านบาท อีกครั้ง ซึ่งจะได้หรือไม่อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
ก่อนจบคอลัมน์สัปดาห์นี้ เรามาทิ้งท้ายกันด้วยแบรนด์ดังต่างๆ ว่ามีการจำหน่าย ทางออนไลน์อย่างไรบ้าง
เริ่มที่ “S&P” ก่อนก็แล้วกันปีนี้ผลิตถึง 19 ชนิด ราคาถูกสุด ลูกละ 102 บาท และสูงสุด 128 บาท อย่างเป็นชุด 4 ลูก ใส่กล่องของขวัญพิมพ์ข้อความมงคลให้ด้วย ได้แก่ ชุด “มั่งคั่ง” และ “มั่งมี”…นอกจากจะวางตามร้าน S&P ต่างๆ และซุปเปอร์ต่างๆ แล้วยังสั่งซื้อได้ที่โทรศัพท์ 1344 และ WWW.snp1344.com
ขนมไหว้พระจันทร์ สไตล์ญี่ปุ่นของร้านไอศกรีมและของหวาน Kyo Roll En จับมือกับร้านอาหารปักษ์ใต้ ศรณ์ เป็นปีที่ 2 จัดทำแค่วันละ 100 กล่องเท่านั้น กล่องละ 8 ชิ้น ราคาจองกล่องละ 1,488 บาท ผ่าน www.kyorollen.com/mooncake
แต้เล่าจิ้นเส็ง ร้านขนมเปี๊ยะเก่าสุดแห่งสยามย่านเยาวราชอายุกว่า 100 ปี ผู้โด่งดังด้วย ขนมไหว้พระจันทร์โหงวยิ้ง (ไส้เมล็ดพันธุ์พืช 5 ชนิด แต่จริงๆแล้ว ร้านนี้ใช้ถึง 7 ชนิด ควรจะเรียกว่า ฉิกยิ้ง) กล่องไม่ฉูดฉาดแต่คลาสสิกมาก น่าจะมีการขายในเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ด้วย แต่ที่ทีมงานจัดมาให้มีแค่เบอร์โทรศัพท์ 0-2236-4641 ใช้วิธีสั่งทางโทรศัพท์ก็แล้วกัน
กอกใจ (ก๊กจี่ เจ๋าเหล่า) ร้านขนมไหว้พระจันทร์รุ่นเดอะ อายุกว่า 80 ปีจากภัตตาคารดังย่านเยาวราชสู่ถนนเจริญรัถ ในปัจจุบันเครื่องหมาย การค้าของร้านนี้ก็คือ เป็นเจ้าแรกที่คิดค้น “ไส้ทุเรียน” ขึ้น เพราะฉะนั้นใครจะสั่งร้านนี้ควรต้องสั่งไส้ ทุเรียนด้วย 1 ลูก เป็นอย่างน้อย เข้าเฟซบุ๊ก Gokjai Restaurant ได้เลย หรือจะใช้โทรศัพท์หมุนไปที่ 0-2437-7926 ก็ได้ครับ
สตาร์บัคส์ ร้านกาแฟเชื้อสายสหรัฐฯ ยี่ห้อนี้เข้าร่วมเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ในบ้านเราเกือบๆ 10 ปีแล้วเช่นกัน…ปีนี้ก็ยังร่วม โดย ขายเป็นชิ้น ชิ้นละ 160 บาท แต่ที่เก๋ไก๋คือแบบพรีเมียมมีขนม 4 ชิ้น มีกล่องข้าวแถมและมีกระเป๋าผ้าประทับตราสตาร์บัคส์ไว้ใส่ชุดนี้ทั้งชุด ราคา 1,650 บาท นอกจากวางจำหน่ายในสตาร์บัคส์แล้ว ยังสั่งซื้อได้ที่ www.starbucks.co.th อีกด้วย
จากซื้อทางออนไลน์ ขอแนะนำให้ไปเดินซื้อเองบ้าง…ช่วงนี้ห้างเปิดแล้วไปเดินได้ครับ ขอเพียงป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดก็แล้วกัน…ทุกๆ “ซุปเปอร์” ของห้างน่าจะมีจำหน่ายเหมือนกันหมด มากบ้างน้อยบ้าง… แต่เจ้านี้จะตั้งบูธจำหน่ายที่ใกล้ๆ ศูนย์อาหาร สยามพารากอน ในชื่อ “Siam Paragon Mooncake Festival 2021”นอกจากของร้านดังๆ ของไทยแล้ว ยังมีจากโรงแรมดังด้วย
ได้แก่ แกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ, โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย กรุงเทพฯ, โรงแรมแชงกรีลา, โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค, โรงแรมบันยันทรี กรุงเทพฯ, โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ, โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล, โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส กรุงเทพฯ,โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ และโรงแรมอินเตอร์ คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ มากันครบ 10 โรงแรมพอดิบพอดี
สรุป…ขอให้โชคดี ขายทั้งออนไลน์ และที่หน้าร้าน ตลอดจนตามซุปเปอร์ต่างๆ
ทำรายได้รวมกันทั้งหมด ได้ถึง 1,000 ล้านบาทตามเป้าหมายนะครับ เผื่อจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้มากขึ้น.
“ซูม”