เปิดประเทศเพื่อท่องเที่ยว “ควรทำ” แต่ก็ต้อง “รอบคอบ”

มีข่าวไม่ใหญ่นักอยู่ในหน้าเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อ 2-3 วันก่อน ระบุว่า เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี จะขอเสนอโครงการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวของพัทยาหลังโควิด-19 คลี่คลาย เพื่อให้ ศบค. พิจารณาในเร็วๆ นี้

ภายใต้ชื่อโครงการว่า Pattaya Move On ในลักษณะของโครงการทดลอง เช่นเดียวกับโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะให้เริ่มขึ้นได้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้

แต่ของพัทยาจะต่างจาก “ภูเก็ต” เพราะจะเป็นการท่องเที่ยวในแบบ “พื้นที่ปิด” หรือ Sealed route ซึ่งจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วในรูปแบบกักตัวอยู่ในพื้นที่ของโรงแรม 3 วัน จากนั้นให้เดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางที่กำหนดเท่านั้นใน 2 อำเภอ คือ อ.บางละมุง กับ อ.สัตหีบ โดยจะเริ่มในเดือนสิงหาคม

ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดนะครับ เพราะตั้งใจเพียงจะหยิบหัวข่าวมาบอกกล่าวเท่านั้นเองว่าพัทยาก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นมีความตั้งใจที่จะกลับมาฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของเมือง ทันทีที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

โดยส่วนตัวแล้วผมขอให้กำลังใจ และขอสนับสนุนทุกๆ เมืองท่องเที่ยวที่มีความคิดและความตั้งใจที่เร่งฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวของเมืองตนเองในรูปแบบต่างๆ

เพราะธุรกิจท่องเที่ยววันนี้มิใช่เพียงจะสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องที่เท่านั้น…แท้ที่จริงแล้วยังเป็นการสร้างงานให้แก่ผู้คนเกือบทั้งประเทศไทย ดังจะเห็นจากในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต พัทยา หรือสมุย ล้วนมีแรงงานทุกประเภท รวมทั้งในด้านบริการด้วยจากทั่วประเทศ เดินทางไปทำงานจำนวนมาก

การฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

แต่จากถ้อยแถลงของ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ก็มีประเด็นที่น่าสนใจที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องนำไปชั่งน้ำหนักให้รอบคอบ

เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวม 4 สายพันธุ์หลักทั่วโลก ยังคงมีอยู่ แม้จะได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างกว้างขวางพอสมควร โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งก็มีผลดีในการช่วยลดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้อย่างมาก

แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะบางสายพันธุ์อาจดื้อต่อวัคซีน อาจมีการกลายพันธุ์ ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ดังนั้น ประเทศที่เปิดประเทศเร็ว ปล่อยให้คนเข้าประเทศเร็วจึงต้องระวังและต้องพิจารณาในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจ

ท่านคณบดีแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเปิดภูเก็ตตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ว่า…โดยส่วนตัวท่านเป็นห่วงความพร้อมของจังหวัด

รวมทั้งเป็นห่วงสายพันธุ์แปลกใหม่ที่อาจเข้ามากับคนนอกพื้นที่ เพราะวัคซีนอาจไม่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ทั้งหมด แม้ส่วนใหญ่จะครอบคลุมก็ตาม แต่ถ้าเกิดหลุดเข้ามาแล้ว กลไกในพื้นที่คุมไม่ได้จะเป็นปัญหา

จะกลายเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของภูเก็ตด้วยซํ้า

จริงๆ แล้วท่านกล่าวในรายละเอียดไว้มาก ผมก็ฝากให้ทางจังหวัดและผู้ที่รับผิดชอบโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โปรดถอดเทปและนำข้อคิดความเห็นของท่านไปพิจารณาเพื่อความรอบคอบอีกครั้ง

ผมอ่านข่าวแล้วก็เห็นว่าท่านมิได้คัดค้าน เพียงแต่กังวลใจในฐานะที่ท่านเป็นแพทย์และยังติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด พบว่ายังมีประเด็นที่จะต้องระมัดระวังอีกหลายๆ ประเด็น

ก็หวังว่าทุกๆ จังหวัด ทุกๆ เมืองท่องเที่ยวจะพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และใช้ความระมัดระวังสูงสุด เมื่อถึงเวลาเริ่มโครงการ

การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น เพราะฟื้นได้เร็วเท่าไรก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวมเท่านั้น แต่ถ้าเราหละหลวมหรือเร่งรัดเกินเหตุ…ฟื้นแล้วพลาดก็จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจภูเก็ต และเศรษฐกิจของประเทศด้วย ดังที่คุณหมอท่านฝากข้อสังเกตไว้

ฝากรัฐมนตรีเศรษฐกิจทั้งหลายช่วยดูแลและแนะนำให้รอบคอบด้วยก็แล้วกัน ช่วงนี้ท่านหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริงคือ “บิ๊กตู่” เองนั้น ท่านออกจะมึนๆ ตัดสินใจอะไรไม่ค่อยถูกต้องอยู่ซะเรื่อย

เรื่องเปิดประเทศหรือเปิดเมืองเพื่อการท่องเที่ยวเนี่ย…พลาดไม่ได้เชียวนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, ท่องเที่ยว. วัคซีน, เปิดประเทศ, ไทย, ฉีด, โควิด 19, ภูเก็ต, พัทยา, ซูมซอกแซก