วันที่ 13 เมษายน พุทธศักราช 2564 “วันสงกรานต์” หรือวันขึ้นปีใหม่แบบไทยๆของเราเวียนมาถึงแล้วนะครับในวันนี้ และตามประเพณีในช่วงหลังๆนี้เราจะเฉลิมฉลองกัน 3 วันเต็มๆ 13–14–15 เมษายน
ตามประเพณีเช่นกัน เมื่อเข้าสู่วันปีใหม่ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่สากล (1 มกราคม) หรือปีใหม่ไทย (13 เมษายน) เรามักจะใช้คำว่า “สวัสดี” หรือคำว่า “สุขสันต์” ไว้ข้างหน้าคำอวยพรของปีใหม่ทั้งสอง
เช่น “สวัสดีปีใหม่” (ตามด้วย พ.ศ.) หรือ “สุขสันต์วันปีใหม่” (ตามด้วย พ.ศ.) สำหรับวันขึ้นปีใหม่สากล และ “สวัสดีวันสงกรานต์” (ตามด้วยปี พ.ศ.) หรือ “สุขสันต์วันสงกรานต์” (ตามด้วย พ.ศ. เช่นกัน) สำหรับปีใหม่ไทยๆ
แต่สำหรับปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ปีนี้ยังคงเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนทั่วโลก รวมทั้งคนไทยด้วย ตกอยู่ในห้วง “ความทุกข์” อย่างหนัก จากการระบาดของโควิด-19…จะใช้คำว่า “สวัสดี” หรือ “สุขสันต์” นำหน้าก็คงจะไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงเท่าไรนัก
ถ้อยคำที่เหมาะสมที่สุดที่สมควรแก่การนำมาใช้ต้อนรับปีใหม่ไทยๆ ของเราปีนี้ก็คือ คำว่า “สู้โว้ย” เพื่อที่จะปลุกปลอบใจพวกเราชาวไทย ให้อดทน และเข้มแข็งพร้อมที่จะต่อสู้กับไวรัสมหาภัยต่อไปมากกว่า
ไม่เพียงแต่จะใช้ตะโกนเพื่อฝ่าวิกฤติโควิด-19 เท่านั้นวิกฤติที่หนักหนาสาหัสอย่างยิ่งที่จะตามมา และจำเป็นจะต้องใช้เสียงตะโกน “สู้โว้ย” ที่ดังกว่าอีกหลายเท่า…ก็คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นั่นเอง
สาหัสแน่นอนครับเศรษฐกิจไทยในช่วงปีหน้าปีโน้นที่จะมาถึง
ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ ผู้ที่ตะโกนคำว่า “สู้โว้ย” ก็คือ “น้องอร” หรือ อุดมพร พลศักดิ์ นักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติไทยที่คว้า เหรียญทอง ยกน้ำหนักรุ่นไม่เกิน 53 กิโลกรัม มาฝากคนไทยได้สำเร็จในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2004 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ นั่นเอง
ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่เวทียกน้ำหนัก น้องอรจะยืนทำสมาธิสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง…จากนั้นก็จะตะโกนคำว่า “สู้โว้ย” ออกมาดังๆ และเดินเข้าไปยกลูกเหล็กอย่างห้าวหาญ
ส่งผลให้วลี “สู้โว้ย” เป็นวลีติดปากคนไทย และนำมาใช้ในการปลุกปลอบใจในการต่อสู้กับความทุกข์ยากต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น เมื่อวันสงกรานต์ปีนี้มาถึงและเรายังต้องเผชิญความทุกข์ยากจากโควิด-19 กันอย่างหนักหน่วง ผมจึงเห็นว่าวลีนี้เป็นวลีที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะหยิบมาใช้กันอีกครั้งหนึ่ง
สงกรานต์ปีที่แล้ว แม้จะมีคำสั่งจากภาครัฐให้งดจัดงานรื่นเริงต่างๆ โดยเฉพาะการเล่นสาดน้ำประแป้ง เล่นโฟม หรือการแสดงดนตรีกลางน้ำพุ ทำให้บรรยากาศสงกรานต์กร่อยลงไปถนัดใจก็ตาม
แต่ก็เป็นความกร่อยที่คนไทยไม่รู้สึกตื่นตระหนกอะไรมากนัก เพราะยอดติดเชื้อรายวันในช่วงดังกล่าวอยู่ที่เลข 2 หลัก หรือหากเป็น 3 หลักก็จะ 3 หลักต้นๆ
ต่างกับสงกรานต์ปีนี้ที่มีข่าวว่าระบาดด้วยสายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์มาเรียบร้อย ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรุนแรง ยอดติดเชื้อ อยู่ในช่วง 3 หลักปลายๆ…ดังเช่นวันที่เขียนต้นฉบับ (อาทิตย์ที่ 11 เมษายน) ปรากฏว่า ผู้ติดเชื้อใหม่กระฉูดพุ่งขึ้นไปถึง 967 ราย จะถึง 1,000 อยู่รอมร่อ
เป็นสถิติสูงสุดใน “วันเดียว” นับแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาดเข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้ปีนี้มิใช่เพียงแค่ “กร่อย” เท่านั้น ยัง “น่ากลัว” อีกด้วย
แต่ก็นั่นแหละครับ…ไม่ว่าจะกร่อยอย่างไร หรือน่ากลัวแค่ไหน… ประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของเรา ซึ่งจะต้องช่วยกันสืบสานให้ยืนยาวไปตราบนานเท่านานในอนาคต
แม้จะจัดใหญ่ไม่ได้ หรือจัดเอิกเกริกนอกบ้านไม่ได้ แต่การสรงน้ำพระในบ้าน การไหว้พระในบ้าน การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในบ้าน หรือการกราบไหว้รำลึกถึงบรรพบุรุษของเราในบ้านยังเป็นสิ่งที่ทำได้
ก็ขอให้เราสรงน้ำพระในบ้านกันต่อไปอีกปีหนึ่ง รดน้ำดำหัวเฉพาะผู้ใหญ่ในบ้านไปอีกปีหนึ่ง และเลี้ยงสังสรรค์ง่ายๆเฉพาะบุคคลในครอบครัวที่มั่นใจว่าไม่มีใครติดเชื้อไปพลางๆ ก่อน เพื่อสืบทอดประเพณีสงกรานต์เอาไว้มิให้ขาดตอน
สู้โว้ย! วันสงกรานต์นะครับ หวังว่าปีหน้าเราจะกลับมาสุขสันต์วันสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมๆ กันทั่วประเทศไทย หลังจากร่วมแรง ร่วมใจกันหยุดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างราบคาบแล้วในที่สุด.
“ซูม”