เมื่อวานนี้ผมเขียนปลอบใจพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องเผชิญกับปัญหา “ฝุ่นพิษ” PM2.5 ที่คละคลุ้งอยู่ในขณะนี้ จนเป็นเหตุให้ตัวเมืองเชียงใหม่ “ติดอันดับโลก” ที่ไม่พึงปรารถนา…หรืออันดับคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลกนั่นเอง
บางวันบางเวลาเชียงใหม่ถึงกับขึ้นไปเป็นอันดับ 1 หรือแชมป์โลกเลยทีเดียว แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ประมาณที่ 4-5-6 ขยับไปขยับมาขึ้นอยู่กับว่าที่บ้านอื่นเมืองอื่นเขาจะรุนแรงแค่ไหน
แต่การที่อยู่ในอันดับ “ท็อป 10” นั้น ยังไงๆ ก็ไม่ใช่ภาพที่ดีแน่นอน เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองที่ได้ชื่อว่ามีป่าไม้ มีน้ำตก มีดอกไม้ มีกล้วยไม้ มีสาวสวยหญิงงาม ฯลฯ จู่ๆ มากลายเป็นเมืองหมอกควัน PM2.5 คละคลุ้งใครเขาจะอยากไปเที่ยว
ผมก็เขียนเสนอแนะไปตามความรู้ที่ผมมี และความคิดที่ผมเคยเห็นบ้านอื่นเมืองอื่นเขาใช้แก้ปัญหา…ขอให้รัฐบาลหรือทางราชการเอาจริงเอาจังช่วยแก้หรือบรรเทาปัญหาให้ลดเหลือน้อยที่สุด
ปรากฏว่าต้นฉบับของผมเมื่อวานนี้พิมพ์ออกมาจ๊ะเอ๋กับ สกู๊ปหน้า 1 แต่มาจบในหน้า 5 หน้าเดียวกับคอลัมน์ผมอย่างจัง
เมื่อน้องๆ ทีมงานสกู๊ปไทยรัฐไปสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 เกี่ยวกับ “วิธีแก้ไขที่ยั่งยืน” ท่านหนึ่งและเกี่ยวกับคำเตือนว่า “อย่ากลัวฝุ่นพิษมากเกินไป” โดยคุณหมออีกท่านหนึ่ง
ผมขออนุญาตนำมาเขียนต่อวันนี้เฉพาะรายที่ 2 นะครับ เพราะแม้การให้สัมภาษณ์ของคุณหมอจะทำให้ผมสบายใจขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกหลายๆ ประการ ที่ผมอยากจะฝากไว้
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจของ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ น่ะครับ ท่านกรุณานำตัวเลขข้อมูลจากการวิจัยทางการแพทย์มาปลอบใจพวกเราไม่ให้ตื่นตระหนกจนเกินไป
ท่านเห็นด้วยว่าจะต้องช่วยกันควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะจากโรงงานหรือจากชาวบ้านทั่วไป…หยุดเผาเศษซากพืช วัชพืช หยุดใช้เตาถ่านใช้ฟืนและช่วยดูแลสภาพรถยนต์อย่าให้ปล่อยควัน ฯลฯ
แต่ท่านก็บอกด้วยว่า ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตกันไปตามปกติธรรมดาเถิด อย่าตื่นตระหนกหรือกังวลจนเกินเหตุเด็ดขาด
เพราะฝุ่น PM2.5 มีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี…ดูย้อนหลังไป 70 ปี เราก็มีแล้ว สูดกันมาแล้ว แต่อายุขัยคนไทยก็ยังเพิ่ม
ท่านนำผลวิจัยเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าฝุ่น PM2.5 กับการสูบบุหรี่มาอธิบายด้วย สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่าผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่นพิษ PM2.5 ยังน้อยกว่าสูบบุหรี่เยอะ
ท่านกล่าวตอนหนึ่งว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 จะมีผลทำให้อายุเฉลี่ยสั้นลงประมาณ 0.8-1.6 ปี เทียบกับการสูบบุหรี่ที่จะทำให้คนสูบอายุสั้นลงกว่าคนไม่สูบถึง 10 ปีแล้ว จะเห็นว่าอันตรายจากการสูบบุหรี่มีมากกว่าหลายเท่า
ท่านบอกด้วยว่า การหายใจเอา PM2.5 เข้าไปนั้นต้องใช้เวลากว่า 20 ปี จึงจะเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคมะเร็งปอด
นี่คือเหตุผลที่ท่านสรุปข้อเสนอแนะของท่านไว้ว่า คนไทยไม่ควรตื่นตระหนกกับ PM2.5 เกินไป
ตอนแรกผมก็ว่าจะไม่ตระหนกละครับ แต่มาคิดอีกทีไม่ว่าพิษจะน้อยแค่ไหนผมก็รู้สึกเห็นใจคนส่วนใหญ่ของเมือง หรือชุมชนที่เกิดฝุ่นพิษในการจะต้องมารับกรรม จากสิ่งที่เขาไม่ได้มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น
เรื่องบุหรี่เป็นเรื่องร้ายแรงก็จริง แต่คนสูบบุหรี่เขาตัดสินใจเลือกของเขาเอง ไม่มีใครไปบังคับ…เขาเลือกสูบทั้งที่รู้ว่าพิษสงของมันถึงขั้นทำให้อายุเขาสั้นลงอย่างมาก
แต่นี่ประชาชนส่วนใหญ่มิได้เลือกที่จะสูด PM2.5 เลย ดังนั้น แม้พิษจะน้อยแค่ไหน ผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมแก่คนส่วนใหญ่ในสังคม
ผมก็คงจะเรียนคุณหมอว่า ผมอาจจะตื่นตระหนกน้อยลง แต่คงจะไม่หยุดยั้งที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตัดพ้อต่อว่าไปจนถึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหา PM2.5 อย่างจริงจังต่อไป
ปีหน้าปัญหานี้กลับมาอีก ผมก็จะตัดพ้อต่อว่าอีก…ตัดพ้อไปจนกว่าอายุที่จะสั้นลง 0.8–1.6 ปี ของผมจะมาถึงแหละครับคุณหมอ.
“ซูม”