กระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือ กระทรวงยุติธรรรม และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เร่งถอดรหัสอัตลักษณ์ชุมชน เพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมร่วมส่งเสริมวิชาชีพผู้ต้องขัง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ดึงอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ ขยายผลต่อเนื่องจากจังหวัดชัยนาท มายังจังหวัดสุโขทัย
โดยมี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งจับจุดเด่นเป็นจุดขาย โดยการพัฒนามาสคอตเพื่อเป็นตัวแทนของภาพจำในพื้นที่และการจับจุดใหม่ โดยใช้จุดเดิม ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมผ่านองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 20 ชิ้นงานต่อยอดการผลิตในเรือนจำ เป็น “สินค้าแห่งการให้โอกาส” พร้อมจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 10 ล้านบาท สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1,300 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศจะลดลงเป็นที่น่าพอใจ ทว่าผลกระทบยังไม่เบาบางเท่าที่ควร การส่งเสริมประชาชนให้สามารถมีรายได้จึงเป็นแนวทางสำคัญที่รัฐบาลเร่งขับเคลื่อน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้หารือกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เป็นแม่งานหลักในการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มต้นแล้วในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ผ่านกระบวนการสนับสนุนการพัฒนาสินค้าของฝากให้เป็นสินค้าที่สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้เลือกซื้อหาเมื่อเดินทางมาถึง
โดยจังหวัดสุโขทัย ถือเป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำคัญที่ถือได้ว่า มีความพร้อมในแง่ของสถานที่ท่องเที่ยว หากได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จะสามารถสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก โดยกระทรวงยุติธรรม พร้อมสนับสนุนแรงงานจากผู้ต้องขังที่มีฝีมือที่ได้รับการฝึกอาชีพจนมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งในเรือนจำจังหวัดสุโขทัย และเรือนจำอำเภอสวรรคโลก มีแรงงานผู้ต้องขังจำนวนกว่า 350 คน สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าได้กว่า 940,000 บาท ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ในการจ่ายเงินผลพลอยได้ จากการฝึกวิชาชีพให้กับผู้ต้องขัง ร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมด ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญสำหรับผู้ที่เคย
ก้าวพลาดในชีวิตให้สามารถวางแผนอนาคตภายหลังพ้นโทษได้ ตามโครงการส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อคืนคนดีสู่สังคม ภายใต้การดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ที่ได้รับความร่วมมือจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้คุมและเจ้าหน้าที่เรือนจำ เพื่อให้สามารถถ่ายทอดทักษะวิชาชีพให้กับผู้ต้องขังในแต่ละเรือนจำ
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับนโยบายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เนื่องจากประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในประเทศ แต่ยังไม่มีสินค้าของฝากเพื่อเป็นตัวแทนของสถานที่ท่องเที่ยว สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวในการเลือกซื้อเพื่อเป็นของที่ระลึก กสอ. จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาของฝากของที่ระลึกและจัดกิจกรรมถอดรหัส อัตลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการออกแบบเชิงพาณิชย์ ประกอบกับจังหวัดสุโขทัย ถือเป็นเมืองมรดกโลก มีต้นทุนทางวัฒนธรรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ความเชี่ยวชาญด้านการทอผ้า และเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก โดยในระยะนำร่องของการถอดรหัสอัตลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย กสอ. ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย
- การจับจุดเด่นเป็นจุดขาย ผ่านกระบวนการถ่ายทอดอัตลักษณ์ในรูปแบบที่ง่ายต่อการจดจำเพื่อให้เป็นตัวแทน หรือ มาสคอต ในการสื่อสารความเป็นตัวตน อาทิ ศิลาจารึก รถคอกหมูดอกบัวหลวง และ นางระบำสุโขทัย ซึ่งได้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความทันสมัย สะท้อนภาพเมืองเก่าที่พร้อม ก้าวผ่านทุกการเปลี่ยนแปลง และการนำเอาความเชื่อของคนในท้องถิ่น เกี่ยวกับ “นกคุ้ม” ที่เชื่อว่าเป็นวัตถุมงคลในการป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ มาพัฒนา ให้เป็น “ยันต์นกคุ้ม” ที่ยังคงความขลังของความศรัทธาแต่แฝงไปด้วยความทันสมัยที่สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่อยาก
- การจับจุดใหม่โดยใช้จุดเดิม ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม โดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนในการผลิต เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การยกระดับผลิตภัณฑ์จากผ้าหาดเสี้ยว โดยนำลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้า นั่นคือ ลายนกคุ้มคู่ มาตกแต่งลงบนเนคไทด์ และบนผื้นผ้า พร้อมนำมาตัดเย็บตามแฟชั่นสมัยใหม่ เพื่อให้ผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ทุกวัน
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการถอดรหัสอัตลักษณ์ จะถูกถ่ายทอดทักษะในกระบวนการผลิตไปยังผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกฝนทักษะอาชีพโดย กสอ. ได้มีโอกาสสร้างรายได้ในรั้วเรือนจำที่จะสามารถต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพสุจริต เมื่อพ้นโทษสู่โลกภายนอก ถือเป็น “ผลิตภัณฑ์แห่งการให้โอกาส” ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในไทยได้อีกทางหนึ่ง นายณัฐพล กล่าว
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า กทบ. และ กสอ. ถือเป็นพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการยกระดับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสนับสนุนทายาทผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มีความพร้อม รวมทั้งการส่งเสริมกูรูอุตสาหกรรมประจำถิ่น เพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการประยุกต์ใช้ทักษะด้านอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าโมเดลการดึงอัตลักษณ์ชุมชนในครั้งนี้จะทำให้ สมาชิก กทบ. ได้รับการส่งเสริม และมองเห็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าของตนเองให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดสุโขทัย กล่าวในช่วงท้ายว่า กิจกรรม “ถอดรหัส อัตลักษณ์ วิถีถิ่น สุโขทัย” กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพในพื้นที่ ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ผ่านกระบวนการถอดรหัสเอกลักษณ์สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อใช้ในการออกแบบของที่ระลึกเชิงพาณิชย์ การให้คำปรึกษาแนะนำพัฒนาศักยภาพด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่สามารถสอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กลางเพื่อสร้างการจดจำแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของชุมชน และการส่งเสริมทางการตลาด โดยมีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยเข้าร่วมจำนวน 20 กลุ่ม และพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้พร้อมรับการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว จำนวน 20 ผลิตภัณฑ์
โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาท และจะสามารถต่อยอดโมเดลการดึงอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อถ่ายทอดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผ่านผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก เพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการรักษาการจ้างงานกว่า 200 คน ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอคีรีมาศ อำเภอศรีสัชนาลัย และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเมื่อสถานการณ์ COVID-19 ผ่อนคลายขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาในพื้นที่ ประมาณ 600,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การพักแรม การรับประทานอาหาร การซื้อของที่ระลึกของนักท่องเที่ยว โดยจะมีมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 1,800 ล้านบาท