เฟซบุ๊กของท่านอาจารย์หมอ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล แห่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 2 วันก่อน ทำให้แฟนคลับของท่านผู้ว่าฯ สมุทรสาคร วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ยิ้มอย่างมีความสุขไปตามๆ กัน
เมื่ออาจารย์หมอที่ดูแลอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ของท่านผู้ว่าฯ มาตั้งแต่ต้นได้โพสต์ข้อความล่าสุดสรุปว่า เมื่อวันวาเลนไทน์ ที่ผ่านมา พ่อเมืองสมุทรสาครอาการดีขึ้นมากเหมือนปาฏิหาริย์
ยิ้มได้ วาดภาพดอกกุหลาบให้กับศรีภริยาของท่านได้
ทำให้คณะแพทย์เกิดความหวังและมั่นใจว่าศึกครั้งนี้หมอชนะแน่…จึงขอตั้งชื่อปฏิบัติการขั้นต่อไปว่า…“คืนปูสู่สาคร”
พอดีผมลงไปค้นหนังสือพ็อกเกตบุ๊กที่ท่านผู้ว่าฯ เขียนและส่งมาให้ผมเมื่อปีใหม่ปีกลาย (2563) ซึ่งผมส่งให้ห้องสมุดไทยรัฐไปแล้ว…ขอยืมกลับมาอ่านอีกครั้ง
ท่านตั้งหนังสือเล่มนี้ว่า “ทุกที่…คือที่ทำงาน” ใช้นามปากกา “สักระวี ศรีแสงธรรม” แต่ลงภาพวาดใบหน้าเปื้อนยิ้มของท่านไว้เต็มแผ่นปกเห็นปุ๊บก็รู้ว่านี่คือภาพของท่านผู้ว่าฯ วีระศักดิ์
ในหนังสือเขียนเล่าเป็นตอนๆ เหมือนเขียนคอลัมน์เบาๆ ให้อ่านกันสนุกๆ ว่าด้วยการทำงานของท่านที่จังหวัดศรีสะเกษ แต่จัดพิมพ์ขึ้นที่สมุทรสาครหลังเดินทางมาได้ประมาณ 3 เดือน
จึงยังไม่มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับสมุทรสาคร มีแค่ในคำนำที่ท่านเขียนพาดพิงถึงเอาไว้หน่อยหนึ่งว่า
“จากศรีสะเกษสู่สมุทรสาคร จึงเป็นการเดินทางไกลอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่ปัญหาหน้าใหม่รูปแบบใหม่ ส่วนจะดีกว่าหรือไม่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะข้าราชการที่ดีต้องยอมรับการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชาที่ยึดโยงกับประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก”
จากบทแรกที่เปรียบเสมือนบทนำ ผมอ่านบทอื่นๆ ต่ออย่างมีความสุขอย่างสนุกและได้ความรู้ไปจนจบเล่ม
ผมไม่มีเนื้อที่พอสำหรับเรื่องอื่นๆ ขอมุ่งไปที่เรื่องสุดท้ายที่ท่านเขียนถึงศรีภรรยาของท่านที่ป่วยโควิด-19 และหายเรียบร้อยก็แล้วกัน
ท่านตั้งชื่อบทนี้ว่า “โลกจะเล็กหรือกว้างแต่คนหลังบ้านสำคัญที่สุด” และเกริ่นไว้ตอนต้นของบทนี้ว่าหนังสือทุกๆ เล่มที่ท่านเขียนจะมีเรื่องของคนในครอบครัวของท่านอยู่ตลอด หมายถึงภรรยา (คุณอ่อน) และลูกๆ ทั้ง 4 คน (น้ำหวาน น้ำผึ้ง น้ำทิพย์ และน้ำมนต์)
“ตลอดชีวิตของการร่วมทุกข์ร่วมสุขพวกเธอเหล่านี้อยู่เคียงข้างผมเรื่อยมา ในวันที่ป่วย ในวันที่ทุกข์ใจ ในวันที่มีความสุขก็ยังมีเรา”
ท่านเขียนถึง “คุณอ่อน” ศรีภรรยาของท่านตอนหนึ่งว่า
“ในห้วงชีวิตของการทำงานผู้หญิงที่ชื่อ อ่อน นอกจากทำหน้าที่ “แม่ของลูก” แล้วเธอยังเป็นผู้ที่ทำหน้าที่คอยแบ่งเบาภารกิจราชการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบรรเทาทุกข์พี่น้องราษฎรในฐานะนายกเหล่ากาชาดจังหวัด และประธานแม่บ้านมหาดไทย
ในการทำงานเธอและคณะใส่หัวใจลงไปในงานที่ทำเสมอ บางอย่างอาจได้ดังหวังที่ต้องการ บางอย่างอาจได้แค่ 80 หรือ 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกอย่างเธอและคณะใส่หัวใจลงไปในงานให้ผู้คนเต็มร้อย
นึกขำเสมอเวลาเธอห้ามปรามไม่ให้ผมทำงานมาก ดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพตนเองต้องมาก่อน…แต่เวลางานของเธอเธอกลับทุ่มเทมากกว่าผมหลายเท่าตัว”
และ 2 ย่อหน้าสุดท้ายของบทนี้ท่านสรุปว่า
“ครั้งหนึ่งผมเข้า กทม. ไปงานด้วยกันได้มีโอกาสขึ้นบนดาดฟ้าโรงแรมมองลงมาเมืองหลวงที่ว่าใหญ่แสนใหญ่ แต่สายตาที่มองเห็นกลับเล็กกระจ้อยร่อยนัก”
“นับประสาอะไรกับคนเรา สูงสุดย่อมต่ำสุดได้เช่นกัน คนข้างเคียง จึงสำคัญ เพราะตำแหน่งจะเล็กหรือใหญ่ เธอยังอยู่ที่เดิม เหมือนเดิม”
เชื่อละครับว่าท่านผู้ว่าฯ รักศรีภรรยาของท่านจริง ถึงขนาดวาดรูป ดอกกุหลาบเมื่อวันวาเลนไทน์ดังที่คุณหมอโพสต์ไว้ และก็เชื่อละครับว่า ทำไม “คุณอ่อน” จึงติดโควิด-19 ด้วย เป็นเพราะเคียงบ่าเคียงไหล่สามีลุยงานเพื่อชาวบ้านเช่นนี้เอง
ขอให้ยุทธการ “คืนปูสู่สาคร” ของศิริราช ประสบความสำเร็จด้วยดีด้วยเถิด ท่านผู้ว่าฯ ปูและนายกเหล่ากาชาดฯ จะได้กลับไปทำงานให้ ชาวสมุทรสาครอีกปีเศษๆ ก่อนเกษียณอายุ 30 ก.ย.2565
หนังสือเล่มหน้าจะตั้งชื่อเรื่องว่าอะไรดีครับท่านผู้ว่าฯ?
“ซูม”