ขึ้นชื่อว่าทหารยึดอำนาจ ยังไงๆ ก็เสีย “ความรู้สึก”

การยึดอำนาจหรือการก่อรัฐประหารของคณะทหารเมียนมา ภายใต้การนำของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย จากรัฐบาลเมียนมา เมื่อ 2-3 วันที่แล้ว ดูจะแตกต่างไปจากการยึดอำนาจของคณะทหารทั่วๆ ไปในโลกนี้ รวมทั้งที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในบ้านเรา

เพราะที่อื่นๆ ทั่วโลกเมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจแล้ว สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ขับไล่รัฐบาลเก่าออกไป ตั้งตัวเองหรือตัวแทนมาเป็นรัฐบาลใหม่…ขอเวลาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะยาวจะสั้นๆ ก็สุดแต่ว่าคณะทหารของแต่ละประเทศที่ว่านั้นจะตัดสินใจอย่างไร

แต่ของเมียนมาคราวนี้ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านแถลงว่า เป็นการเข้ามายึดอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี่แหละ ที่ระบุไว้ในมาตรา 417 ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า

หากมีเหตุผลเพียงพอเกี่ยวกับความแตกแยกในสภาหรือกรณีที่อาจทำให้สูญเสียอธิปไตย เนื่องจากการกระทำหรือความพยายามยึดอำนาจประชาธิปไตยของสภาด้วยการจลาจล ความรุนแรง หรือการกระทำมิชอบ ประธานาธิบดีสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้

ฝ่ายทหารคงจะตีความว่าการทุจริตเลือกตั้งอย่างมโหฬาร (ที่ฝ่ายทหารกล่าวหา) นั้นก็คือความพยายามที่จะยึดอำนาจอธิปไตยของสภาโดยมิชอบนั่นเอง จึงอาศัยมาตรา 417 เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว และยืนยันว่าจะดำเนินการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญต่อไปภายใน 1 ปี

ครับ! ก็เลยเป็นการยึดอำนาจที่ไม่เหมือนใครๆ และไม่มีใครๆ เหมือนด้วยประการฉะนี้

แต่ขึ้นชื่อว่าการยึดอำนาจแล้ว จะโดยรัฐธรรมนูญหรือโดยอะไรก็ตาม ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกเขาไม่ยอมรับกันอยู่แล้ว

จึงมีการประกาศ หรือมีการแถลงการณ์ประณามการกระทำของคณะทหารเมียนมาจากประเทศตะวันตกเกือบทุกประเทศ มีการยํ้าให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวคุณอองซาน ซูจี และผู้ถูกควบคุมอื่นๆ โดยเร็ว

คาดว่าหากคณะทหารเมียนมายังคงเดินหน้าต่อ ก็อาจจะโดนคว่ำบาตรหรือโดนมาตรการลงโทษจากประเทศต่างๆในเร็วๆ นี้

ยกเว้น อาเซียน ซึ่งเมียนมาเป็นสมาชิกอยู่ด้วยที่ออกมาแถลงแบบกลางๆ ว่าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และห่วงใยในสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น แต่อาเซียนก็ยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตย นิติธรรม ธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชน และความเชื่อที่ว่าความมั่นคงทางการเมืองของสมาชิกประเทศ จะนำไปสู่ความสำเร็จของประชาคม

จึงขอสนับสนุนให้เกิดการเจรจา การปรองดอง และการคืนสู่สภาวะปกติตามเจตจำนง และผลประโยชน์ของอาเซียนโดยเร็ว

เรียกว่า “ออกกลาง” ครับ ไม่หัวไม่ก้อย ใช้คำพูดที่ไพเราะเพราะพริ้ง

สำหรับรัฐบาลไทย พลเอกประยุทธ์ประกาศแล้วว่าเห็นด้วยกับนโยบายอาเซียน และไทยเราก็จะปฏิบัติตามที่อาเซียนแถลงไว้

ผมเห็นด้วยครับ เพราะเราเป็นประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับเขา มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เช่น การค้าชายแดน การไปลงทุนในเมียนมาโดยภาคเอกชนไทย มีการพึ่งพาด้านปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะด้านแรงงานที่เราจะต้องพึ่งพาเขาอย่างมาก

ก็คงจะต้องดำเนินการต่างๆ ด้วยความรอบคอบ และมองประโยชน์สูงสุดของประเทศเราเป็นหลัก

โดยส่วนตัวผมเองยอมรับว่าเสียดายไม่น้อยทีเดียว ที่การพัฒนาประชาธิปไตยของเมียนมาต้องมาสะดุดหยุดลงในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ควรจะไปได้อย่างดี เพราะเดินหน้ามาได้ดีพอสมควร

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ขณะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญของเขา ผมอยู่ที่เมียนมาพอดีได้เห็น ได้สัมผัสบรรยากาศการหาเสียงทั้งที่ย่างกุ้งและที่มัณฑะเลย์ ยังรู้สึกตื่นเต้นดีใจแทนชาวเมียนมา

เมื่อประชาธิปไตยของเขาต้องมาสะดุดเช่นนี้ แม้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและมีคำยืนยันจากฝ่ายทหารว่าจะกลับจัดเลือกตั้งภายใน 1 ปี แต่ก็ยอมรับว่า “เสียความรู้สึก” เป็นอย่างยิ่ง

แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าใน พ.ศ.นี้ เรากับเมียนมามีการพึ่งพาในทางเศรษฐกิจสูงมาก และประชาชนชาวเมียนมาก็เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราอย่างมาก ผมก็คงไม่ตำหนิติติงอะไรเขามากนัก

ขอยืมคำพูดเพราะๆ ของอาเซียนมาฝากอีกแรงก็แล้วกัน ขอให้รีบปรองดองกัน และอย่าทำอะไรรุนแรงเกินเหตุ รวมทั้งถ้าจะจัดเลือกตั้งใหม่ได้เร็วกว่า 1 ปี ก็จะขอบคุณมากครับท่าน ผบ.สส. (เมียนมา)!

“ซูม”

ข่าว, ยึดอำนาจ, รัฐประหาร, เมียนมา, รัฐธรรมนูญ, อาเซียน, ประชาธิปไตย, เศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก